ตำนานรักล้านนา :
เจ้าหลวงคำแดง – นางอินเหลา
(ก) ที่มา
เป็นความสงสัยของผู้เขียนมานานมาก เมื่อพูดถึงคำว่า “ล้านนา” และอาณาจักรล้านนาที่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งๆ ที่พอทำการศึกษาและค้นคว้าประวัติศาสตร์ก็พบแต่ชื่อเมือง เช่น เมืองเชียงแสน เมืองโยนก เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์ เมืองเชียงใหม่ เมืองชัยปราการ เวียงกุมกาม เมืองหริภุญชัย เมืองเขลางค์นคร เมืองภูกามยาว เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย เป็นต้น ไม่เห็นมีเมืองล้านนาปรากฏให้เห็นเลย แต่เมื่อพูดถึงดินแดนทางเหนือของไทยก็จะเข้าใจ และพูดถึงกันว่าเมืองล้านนาหรืออาณาจักรล้านนาก็เหมือนกับการกล่าวอ้างถึงประเทศลาวก็จะพูดกันว่า “ล้านช้าง” หรืออาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นอันเข้าใจไปโดยปริยาย ผู้เขียนจึงได้ค้นคว้าต่อไปว่าคำว่าล้านนามาจากไหน และมีความสำคัญอย่างไรกับคนไทย โดยเฉพาะคนทางภาคเหนือของประเทศไทยเรา และเมื่อศึกษาและค้นคว้าไปก็พบกับตำนานรักของบุคคลสำคัญในตำนาน และประวัติศาสตร์ทางภาคเหนือ เรื่อง เจ้าพ่อคำแดงกับนางอินเหลา หรือเจ้าสุวรรณคำแดงกับนางอินเหลา รวมถึงการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับตำนานเจ้าหลวงคำแดง และศาลเจ้าพ่อหลวงคำแดง จึงได้เข้าใจ
(ข) เนื้อเรื่อง
ในอดีตกาลนานมาแล้ว ณ ดินแดนทางภาคเหนือของไทย ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ได้จุติมาเกิดเป็นหมู ๔ ตัว และมีชื่อตามทิศทั้ง ๔ ที่ตนดูแลและปกครองอยู่ คือ บุพพจุนทะ ทักขิณจุนทะ ปัจฉิมจุนทะ และอุตตระจุนทะ ซึ่งหมูทั้งสี่ตนนี้มักจะทะเลาะวิวาทกันอยู่เป็นประจำ หลังจากตายไปแล้ว หมูแห่งทิศเหนือ คือ อุตตระจุนทะ ได้ไปเกิดเป็น “พญาโจรณี” ครองเมืองชื่อว่า "เวียงเจ็ดลิน" อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยในสมัยโบราณ พระองค์มีพระโอรสเป็นหนุ่มรูปงามและมีบุญญาธิการมาก ตอนที่พระโอรสประสูติได้นำพานทองแดงมารองรับ พระบิดาจึงพระราชทานพระนามว่า “เจ้าชายสุวรรณคำแดง”
ต่อมามีเทพบุตรตนหนึ่งชื่อว่า “โวหาร” ได้จำแลงแปลงกายมาเป็นเนื้อทรายทองบางตำนานก็ว่าเป็นกวางทอง ไปปรากฏในพระราชอุทยานของพระราชา พญาโจรณีและพระโอรสพร้อมกับเหล่าทหารได้พากันล้อมจับ พญาโจรณีได้ลั่นวาจาว่า ถ้าหากเนื้อทรายหลุดรอดออกไปทางผู้ใด ผู้นั้นจะต้องได้รับโทษ ปรากฏว่าเนื้อทรายทองได้หนีออกไปทางด้านที่เจ้าชายสุวรรณคำแดงที่เฝ้ารักษาอยู่ พระองค์จึงต้องได้รับโทษโดยออกติดตามจับเนื้อทรายนั้นกลับมาให้ได้ พระองค์พร้อมด้วยเหล่าทหารจึงจำต้องออกติดตามหาเนื้อทรายตัวนั้น พระองค์เดินทางมานานและติดตามไปไกลก็ยังไม่พบเนื้อทรายทองแต่อย่างใด
จนกระทั่งพระองค์ได้เดินทางมาถึงบริเวณถ้ำเชียงดาวที่ตั้งอยู่บริเวณไหล่เขาดอยหลวงหรือดอยอ่างสลุง (อ่างสรง) พระองค์เห็นกวางทองวิ่งมาทางนี้ แต่แล้วพระองค์ก็ได้พบกับสาวน้อยชาวป่าที่มีรูปร่างหน้าตาและผิวพรรณสวยสดงดงามมาก นางนุ่งเสื้อผ้าน้อยชิ้น พระองค์เกรงว่านางจะอับอายจึงให้หมู่ทหารรออยู่นอกถ้ำ พระองค์จะตามกวางทองเข้าไปในถ้ำตามลำพัง พระองค์ได้สั่งทหารไว้ว่า หากภายใน ๗ วันแล้วไม่เห็นพระองค์กลับออกมา ให้กลับไปแจ้งข่าวแก่พระราชบิดาด้วย เมื่อพระองค์เข้าไปใกล้และพบกับนางในถ้ำ พระองค์ถึงกับตะลึงและหลงรักนางในทันทีที่แรกพบเจอ ตัวของนางเองก็ตกใจและตกตะลึงเพราะไม่เคยเห็นมนุษย์ผู้ชายที่มีรูปร่างหน้าตาหล่อเหลาสมส่วนและมีผิวพรรณงดงามแบบนี้มาก่อน อันเนื่องมาจากว่านางเป็นเทพธิดาชาวเมืองลับแล หากเป็นมนุษย์ที่ไม่มีบุญบารมี และมีศีลธรรมบริสุทธิ์แล้วก็ยากที่จะได้พบกับพวกนางได้ ทำให้นางแปลกใจและประทับใจในพระองค์มากเข้าไปอีก พระองค์ถามนางว่านางชื่ออะไร? บ้านของนางอยู่ไหน? และอยู่กับใคร? นางจึงตอบว่านางชื่อ “อินเหลา” อยู่กับพ่อและแม่ และบ้านของนางอยู่แถวนี้ ด้วยบุพเพสันนิวาสแต่ชาติปางก่อน ทั้งสองเกิดความรักและมีใจปฏิพัทธ์ในกันและกัน พระโอรสไม่ยอมจากไปไหน เพราะรักและหลงใหลในตัวของนางจนหมดพระทัยแล้วนั่นเอง ทั้งสองเจราจาเกี้ยวพาราสี และพร่ำพรอดรักกันอย่างมีความสุขปานจะกลืนกินกันและกัน นางอินเหลาได้เตือนสติเจ้าชายว่าพระบิดาได้มอบหมายให้ตามหาเนื้อทรายทอง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่พบและจับตัวได้เลย เดี๋ยวจะโดนลงพระอาญาเอาได้ พระองค์จึงจำต้องจากลาและออกติดตามหากวางนั้นต่อไป พระองค์ได้ให้สัญญาว่าพระองค์จะยกขันหมากมาสู่ขอนางอย่างแน่นอน
พระองค์เดินทางต่อไปและได้พบกับ “มนุษย์ที่เกิดในรอยเท้าช้างใหญ่” อันหมายถึงชาวลัวะ (คนพื้นเมืองทางเหนือตอนนั้นมีอยู่ ๒ พวกใหญ่ๆ คือ ชาวไท กับ ชาวลัวะ) พระองค์จึงได้นำชาวลัวะติดตามไปด้วย และต่อมาได้เดินทางมาพบกับพระฤาษี จึงได้กราบนมัสการและขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พระฤาษีตนนั้นได้กล่าวกับพระองค์ว่า
“อันสูได้คนยังรอยตีนช้างนั้น ก็พร่ำดังบอนเกิดกับห้วยนั่นแลหื้อสูท่านทั้งหลายเอาเมือเลี้ยงไว้รักษาหื้อดีๆ แท้เทอะ หื้อได้ที่จื่อที่จำเอายังคำเขาไว้สืบกันไปเมื่อหน้าเทอะ”
วันต่อมา พระองค์ได้พาทหารติดตามกวางทองมาจนถึงบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำระมิงค์ (แม่น้ำปิง) ได้ทรงพบหนองน้ำใหญ่ ๗ หนอง แต่ละหนองมีบัว ๗ กอ แต่ละกอมีบัว ๗ ก้าน แต่ละก้านมีบัว ๗ ดอก แต่ละดอกมีบัว ๗ กลีบ จึงได้กลับมาเล่าให้พระฤาษีฟังว่า ไม่พบกวางทองพบแต่หนองน้ำ พระฤาษีได้แนะนำพระองค์ว่า ชัยภูมิแห่งนั้นเหมาะแก่การสร้างบ้านแปงเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความอุดมสมบูรณ์เมื่อทำนา ๑ ปี สามารถกินอยู่ได้ถึง ๗ ปี หลังจากนั้นมาเจ้าชายสุวรรณคำแดงจึงได้สร้างเมืองขึ้นมาตามคำแนะนำของพระฤาษี โดยให้ชื่อเวียงว่า “ล้านนา” โดยได้ชื่อนี้มาจากน้ำหนักของเตียงหินที่เป็นแท่นที่บรรทมของพระองค์ ซึ่งมีน้ำหนักหนึ่งล้าน แต่บางตำนานก็บอกว่าเพราะที่นั้นอุดมสมบูรณ์มีพื้นนามากมายเป็นล้าน
เมื่อพระองค์สร้างบ้านแปงเมืองเสร็จแล้ว พระองค์ก็เป็นปฐมกษัตริย์ของเมืองล้านนาแห่งนี้ พระองค์ก็รีบเสด็จไปเชิญและไปสู่ขอนางอินเหลาตามสัญญาที่ให้ไว้กับนางเพื่อมาเป็นพระมเหสีคู่พระทัย แต่นางไม่ยอมมาทั้งๆ ที่นางรักและห่วงใยพระองค์มาก นางจึงได้บอกความจริงกับพระองค์ว่า นางคือชาวเมืองลับแล การที่พระองค์และนางสามารถพบเห็นและอยู่ร่วมรักกันได้ คงเป็นเพราะบุพเพสันนิวาส และพระองค์ทรงเป็นคนดีมีศีลธรรม นางไม่สามารถไปอยู่กับมนุษย์ที่มีหลากหลายรูปแบบ มีศีลมีธรรมขาดตกบกพร่อง และนางก็คงไม่สามารถช่วยงาน และแบ่งเบาภาระในการปกครองเมืองมนุษย์ของพระองค์ได้มากนัก อีกอย่างนางก็มีพ่อและแม่ที่ต้องดูแลและปรนนิบัติ พระองค์รู้สึกผิดหวังและโศกเศร้าเสียใจมาก แต่พระองค์ก็ทรงเข้าพระทัยและยังรักนางเหมือนเดิมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และได้สัญญากับนางว่าจะมาหามาเยี่ยมนางบ่อยๆ และในบั้นปลายของชีวิต พระองค์จะมาอยู่กับนาง ณ สถานที่แห่งนี้ไปจนกว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์
พระเจ้าสุวรรณคำแดงหรือเจ้าหลวงคำแดง ได้ปกครองเมืองล้านนาร่วมกับพระมเหสีคู่พระทัยอีกสองพระนางที่เป็นมนุษย์ คือ “พระนางผมเผือ” และ ”พระนางสาดกว้าง” พระองค์มีพระโอรสรวมทั้งหมด ๗ พระองค์ พระองค์ทรงปกครองทั้งชาวไทและชาวลัวะให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สำหรับไพร่ฟ้าที่เป็นชาวลัวะ พระองค์ได้แต่งตั้งให้ “มามุตตะลาง” เป็นผู้นำคอยอบรมและสั่งสอนให้อยู่ในศีลในธรรม ต่อมาอีกนานหลายปีพระองค์ได้มอบราชสมบัติให้พระโอรส แล้วก็เสด็จออกไปปฏิบัติธรรมอยู่ในถ้ำในป่าเชียงดาว ร่วมกับนางอินเหลาคนรักของพระองค์ตามที่ได้ให้สัตย์สัญญากันไว้เมื่อครั้งก่อน แล้วก็ไม่มีใครได้พบได้เห็นพระองค์และพระนางอินเหลาอีกเลยนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ต่อมาเวียงล้านนาหรือเมืองล้านนา มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายพระองค์ แต่ในที่สุดก็ล่มลงจมในแผ่นดินกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ในสมัยของพระยาคาว ที่ไปจับปลาฝาหรือตะพาบน้ำเผือกมากินเป็นอาหาร ส่วนไพร่ฟ้าข้าราษฎรได้พากันอพยพไปอยู่ตามป่าเขา ซึ่งอาเพทพิบัติในครั้งนั้น ตำนานพื้นเมืองบันทึกไว้ว่า
“พระยาคาวเอาปลาฝาเผือกมากิน เถิงเมื่อกลางคืนเวียงล้านนานั้น ก็ลวดยุบหล่มลงเป็นมหาหนองอันใหญ่ เป็นน้ำเหลื้อมอยู่แท้เติงๆ”
สรุป
(๑) พอพูดถึงเมืองเหนือหรือดินแดนทางภาคเหนือ ด้วยคำว่า “ล้านนา” ก็คือ เมืองล้านนาหรือเวียงล้านนาที่มีอยู่จริงในสมัยก่อน ที่ได้สร้างขึ้นโดยพญาสุวรรณคำแดงหรือเจ้าหลวงคำแดงในสมัยโบราณ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันนี้
(๒) ตำนานเทพเจ้าหรือตำนานผีหลวงที่ศักดืสิทธิ์ และมีอิทธิฤทธิ์มากที่สุด เป็นใหญ่และเป็นประธานของเทพของผีในทางภาคเหนือของไทย ก็คือ “เจ้าพ่อสุวรรณคำแดง” หรือ “เจ้าหลวงคำแดง” ที่เป็นวิญญาณของ “พญาสุวรรณคำแดง” หรือ “เจ้าหลวงคำแดง” ผู้สร้างและเป็นปฐมกษัตริย์แห่งเวียงล้านนาหรือเมืองล้านนาในสมัยโบราณ
(๓) ที่ตั้งของ “ศาลเจ้าพ่อสุวรรณคำแดง” หรือ “ศาลเจ้าหลวงคำแดง” ตั้งอยู่เชิงเขาดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นที่สิงสถิตของดวงพระวิญาณของพระองค์ สถานที่แห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก เป็นที่ชุมนุมและเป็นที่ประชุมของเทพและผีทางภาคเหนือทุกตนของไทย เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พบรัก และเป็นที่อยู่ของพระองค์กับคนรักของพระองค์นั่นเอง
(๔) ในตำนานโบราณยังกล่าวไว้อีกว่าพระองค์และคนรักของพระองค์ตลอดจนบริวารของพระองค์ยังคงรักษาทิพยสมบัติและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เอาไว้ให้พระยาธรรมิกราช ที่จะจุติและมาปฏิสนธิบนแผ่นดินแถบนี้ในอนาคต ในราวพ.ศ. ๓๐๐๐ เพื่อปราบหมู่อธรรม และสร้างสมบุญบารมีของพระโพธิสัตว์ ในการที่จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อการจะได้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาล
(๕) ศาลเจ้าพ่อหลวงคำแดงตั้งอยู่เชิงเขาของดอยหลวงเชียงดาว ในวัดถ้ำเชียงดาว หมู่ที่ ๕ ที่ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนเชียงใหม่-ท่าตอน ๗๗ กิโลเมตร (ถึงอำเภอเชียงดาว ๗๒ กิโลเมตร แล้วเดินทางออกไปอีก ๕ กิโลเมตร)
สุ จิ ปุ ลิ
๕ มิถุนายน ๒๕๖๒