วิปัสสนากรรมฐาน
หรือ
สติปัฏฐาน๔
ก่อนอื่น : ทำความเข้าใจกันก่อน ว่า :
ธุระ(การงาน)ในพระพุทธศสานา มี๒ อย่าง คือ
๑. คันถธุระ คือ ธุระฝ่ายคัมภีร์,ธุระคือการเรียนพระคัมภีร์,การศึกษาปริยัติธรรม ซึ่งได้แก่การศึกษาเล่าเรียนให้รู้เรื่องพระศาสนาและหลักศีลธรรมนั้นเอง
๒. วิปัสสนาธุระ คือ ธุระฝ่ายวิปัสสนา,ธุระด้านการเจริญวิปัสสนา,กิจพระศาสนาในด้านการบำเพ็ญกรรมฐาน ได้แก่ ธุระหรืองานอย่างสูงในพระศาสนา ซึ่งงานที่จะช่วยให้ผู้นั้นถือพระพุทธศาสนา ได้รู้จักดับทุกข์หรือเปลื้องทุกข์ออกจากตน มากน้อยตามควรแก่การปฏิบัติทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนพ้นทุกข์ ตั้งแต่ทุกข์เล็กจนถึงทุกข์ใหญ่ เช่น การเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเป็นทางปฏิบัติที่มีอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
๑.ความหมายและประเภทของกรรมฐาน
กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน คือ ที่ตั้งแห่งการงาน,อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ,อุบายทางใจ,วิธีฝึกอบรมจิต
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต)
กมฺเมว วิเสสาธิคมสฺส ฐานนฺติ กมมฺฐานํ(การปฏิบัติบำเพ็ญอันเป็นฐานแห่งการบรรลุคุณอันวิเศษคือ ฌานและมรรคผลในพระพุทธศาสนา เรียกชื่อว่า กรรมฐาน
พระพรหมโมลี กรรมฐาน มี ๒ ประเภท คือ
๑.สมถกรรมฐาน คือ งานฝึกจิตให้สงบ,กรรมฐานคือสมถะ โดยสมถคือ ธรรมอันเป็นเครื่องสงบระงับจิต,ธรรมยังจิตให้สงบระงับจากนิวรณูปกิเลส,การฝึกจิตให้เป็นสมาธิ กรรมฐานชนิดนี้เป็นอุบายให้ใจสงบคือ ใจที่อบรมในทางสมถแล้วจะเกิดนี่งและเกาะอยู่กับอารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต)
โดยอารมณ์ของสมถกรรมฐาน แบ่งได้ ๔๐ กอง คือ
๑.)กสิณ๑๐ ๒.)อสุภ๑๐ ๓.)อนุสติ๑๐ ๔.)พรหมวิหาร๔
๕.)อาหาเรปฏิกูลสัญญา๑ ๖.)จตุธาตุวัฏฐาน๑ ๗.)อรูปธรรม๔
๒.วิปัสสนากรรมฐาน คือ ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความจริงตามสภาวธรรม,ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดในสังขารเสียได้,การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสี่งทั้งหลายตามที่มันเป็น วิปัสสนากรรมฐานเป็นอุบายให้เรืองปัญญาคือเกิดปัญญาเห็นแจ้งหมายความว่าเห็นปัจจุบันเห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์เห็นมรรค ผล และนิพพาน
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต)
ความแตกต่างระหว่างสมถและวิปัสสนากรรมฐาน คือ
@สมถกรรมฐานอาศัยบัญญัติเป็นอารมณ์
@วิปัสสนากรรมฐานอาศัยรูปนาม(ขันธ์๕)เป็นอารมณ์
วิปัสสนา คือ ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความความเป็นจริงของสภาวธรรม,ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้,การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดสภาวะของสี่งทั้งหลายตามที่มันเป็น
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต)
วิปัสสนา คือ การอัญเชิญ สติ ที่ถูกทอดทิ้งขึ้นมานั่งบัลลังก์ของชีวิต เมื่อสติ ขึ้นมานั่งสู่บัลลังก์แล้ว จิตก็จะคลานเข้ามาหมอบถวายบังคมอยู่เบื้องหน้าสติ สติจะควบคุมจิตมิให้แส่ออกไปคบหาอารมณ์ต่างๆภายนอก ในที่สุดจิตก็จะค่อยคุ้นเคยกับการสงบอยู่อารมณ์เดียว เมื่อจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว การรู้ตามความเป็นจริงก็เป็นผลติดตามมา เมื่อนั้นแหละเราก็จะทราบได้ว่าความทุกข์มันมาจากใหน เราจะสกัดกั้นมันได้อย่างไร นั่นแหละผลงานของสติหล่ะ
พระธรรมสิงหบูราจารย์(จรัญ ฐิตธัมโม)
วิปัสสนา = สติปัฏฐาน๔
พระธรรมสิงหบูราจารย์(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) ได้เทศน์สอนภิกษุ/นักปฏิบัติ ว่า
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องของการศึกษาชีวิต เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการ ออกเสียจากชีวิต เป็นเรื่องของการค้นพบคามจริงว่า ชีวิตมันคืออะไรกันแน่ ปกติเราปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามความเคยชินของมัน ปีแล้วปีเล่า มันมีแต่ความมืดบอด
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องการตีตีปัญหาซับซ้อนของชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงของชีวิต ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำมา
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นการเริ่มต้นในการปลดเปลื้องตัวเราให้พ้นจากความเป็นทาสของความเคยชิน
สรุปกรรมฐาน/วิปัสสนา/สติปัฏฐาน๔
ในทางพระพุทธศาสนาแล้วการเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็คือการเจริญสติด้วยอุบายวิธี สติปัฏฐาน๔ นั้นเอง
กรรมฐาน = วิปัสสนา = สติปัฏฐาน๔
พุทธพจน์
เกี่ยวกับ สติปัฏฐาน๔ ความว่า
เอกายโน มคฺโค วิสุทธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฐฐานา
แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางอันนี้อันเป็นไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัสเพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้คือ สติปัฐาน๔
ที.ม.(ไทย),๑๐/๔๐๕/๓๔๐.และที.มู.(ไทย),๑๒/๑๓๘/๑๓๑
เอกายโน มฺคโคทางสายเอกหรือสายเดียว?
เพราะว่า
๑. พระพุทธเจ้าองค์เดียวที่ค้นพบ
๒. มีในพระพุทธศาสนานี้แห่งเดียวเท่านั้น
๓. เป็นการไปคนเดียว คือ ต้องไปด้วยตนเองจะให้ใครไปแทนไม่ได้
๔. เป็นทางสายเอก ไม่ใช่ทางสองแพร่ง
๕. เป็นการไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งเดียวคือ พระนิพพาน
หลวงพ่อจรัญ เพิ่มเติมว่า
ทางสายเอก
..สติปัฏฐาน๔ เป็นการสอนคนให้มีสติปัญญาเพื่อจะได้รู้เท่าทันชีวิตและความเป็นไปในโลกเพื่อจะได้เดินทางไปในเส้นทางชีวิตได้อย่างราบรื่นและไปสู่จุดหมายปลายทางเมื่อสิ้นจากโลกนี้ไปแล้ว นั่นก็คือสุคติภูมิเป็นที่ตั้ง สติปัฏฐาน๔ จึงถือเป็นทางสายเอก อาตมาจะขอเปรียบเทียบไว้อย่างนี้ ทางสายจัตวาคือทางพอเดินได้แต่มีหลุมมีบ่อ ทางสายตรีพอไปพอมาได้ ทางสายโทก็พอมาได้ แต่ทางเอกนั้นราบรื่น สะดวกตั้งแต่ต้นทาง ไม่มีอะไรที่จะมาเป็นอุปสรรค พระพุทธเจ้าจึงเรียกทางสายเอกนี้ว่า สติปัฏฐาน๔..
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
วิเคราะห์ศัพท์ สติปัฏฐาน
สติ+ปฏฐาน หรือ สติ + ป + (ฏ) + ฐาน
@ สติ มีรากศัพท์มาจากคำว่าสํสรติ ซึ่งแปลว่าการจำ แต่เมื่อกล่าวโดยนัยของสติเจตสิก สติจะหมายถึง การระลึกได้ในอารมณ์การจดจ่ออยู่ปัจจุบันขณะ การระลึกรู้ความตื่นตัวทั่วพร้อมและความไม่ใส่ใจไม่ประมาทมากกว่าการจดจำเรื่องในอดีต
@ ปัฏฐาน หรือ ปฏฐาน ซึ่งแปลว่า การสร้างขึ้น การนำมาใช้ การทำให้ปรากฏขึ้นและตั้งอยู่อย่างแนบแน่นและมั่นคง
ดังนั้น
สติปัฏฐาน จึงหมายถึง การทำให้สติเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างแน่นแฟ้นมั่นคงและแนบสนิทกับอารมณ์ที่กำลังกำหนดรู้อยู่ การกำหนดเช่นนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุปปติติฏฐิตอัติ หรือสติตั้งมั่นด้วยดี
ขยายความ : สติปัฏฐาน๔?
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน : การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย,การมีสติรู้เท่าทันกายและเรื่องทางกาย
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน : การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา,การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน : การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต,การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิต
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน : การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม,การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม
เรียกสั้นๆว่า กาย เวทนา จิต ธรรม
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต)
เป้าหมายสูงสุด
ของพระพุทธศาสนา คือ
พระนิพพาน
|
ปัญญาที่เกิดจากการวิปัสสนากรรมฐาน คือ ภาวนามยปัญญาเท่านั้น ที่ฆ่ากิเลสให้สะอาดหมดจดและบริสุทธิ์จนสามารถบรรลุ พระนิพพานได้
สรุปจากผู้ปฏิบัติ(นายพนพ เกษามา) : สติปัฏฐาน๔ คือ
มีสติกำหนดรู้เท่าทันจิต(วิญญาณ)
อย่างเป็นปัจจุบันในทุกอิริยาบถและทุกขณะเวลา
*********************************************************************
หมายเหตุ : กระผมก็แค่ผู้ศึกษาและเป็นเพียงผู้ฝึกปฏิบัติเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นมี ภาวนามยปัญญา นะครับ!