“พญาคันคาก” รบกับ “พระยาแถน”
: ตำนานการกำเนิดของ “ประเพณีบุญบั้งไฟ”
***************************************
กาลครั้งหนึ่งในอดีตกาล “พระเจ้าหลวงเอกราช” ทรงปกครอง “เมืองอินทรปัต” ด้วยทศพิธราชธรรมอย่างมีความสุข พระองค์มีพระมเหสีที่ทรงสิริโฉมงดงาม คือ “พระนางสีดา” คืนหนึ่งพระนางทรงพระสุบินนิมิตว่า “พระนางได้กลืนกินพระอาทิตย์ดวงใหญ่ที่สุกสกาวสวยงามลงไปในท้อง แล้วก็เกิดความปิติซาบซ่านในพระทัยมาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ และได้เหาะไปยังเมืองสวรรค์ไปพบท้าวสักกะเทวราช และได้ไปยังเขาพระสุเมรของพระอิศวรผู้เป็นเจ้าด้วย แล้วก็เหาะกลับมายังโลกมนุษย์ที่น้องนอนในปราสาทของพระนาง” แล้วพระนางก็ตื่นจากพระบรรทม จึงได้เล่าความฝันให้พระสวามีฟัง แล้วจึงได้เรียกโหรหลวงเข้ามาทำการทำนาย ซึ่งโหรก็ได้ทำนายว่า พระองค์จะได้พระโอรสที่มีบุญญาธิการมาก และจะมีเดชานุภาพเลื่องลือไปไกลทั้งในโลกมนุษย์และแดนสวรรค์ ครั้นต่อมาไม่นานต่อมาพระนางก็ทรงครรภ์ หลังจากครบถ้วนทศมาสแล้ว ก็ได้ประสูติพระโอรสรูปร่างหน้าตาคล้ายคางคก คือมีผิวสีทองเหลืองอร่ามแต่มีตุ่มขึ้นตามตัวเหมือนคางคก จึงตั้งชื่อให้ว่า “ท้าวคันคาก” (ภาษาอีสานนั้น “คันคาก”แปลว่า “คางคก”) แล้วได้หาพระอู่หรือที่นอนเป็นเปลทองคำมาให้นอนและได้เตรียมแม่นมและข้าทาสบริวารทั้งหลายมาให้คอยดูแลเลี้ยงดูพระโอรสเป็นอย่างดี เมื่อพระโอรสเติบโตเป็นหนุ่มก็อยากจะมีภรรยาและทำการอภิเษกสมรส แต่พระบิดาและพระมารดาก็จนพระทัยเพราะจะหาหญิงใดมาอภิเษกสมรสด้วยก็ไม่ได้เลย เนื่องจากพระองค์มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์น่าเกลียดนั้นเอง
พระองค์ทรงน้อยพระทัยและเสียพระทัยยิ่งนัก จึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานขอให้มีบุญวาสนาได้อภิเษกสมรสและมีภรรยาที่ดีและสวยงามด้วยเทอญ สิ้นคำอธิษฐานพระที่นั่ง “กัมพลศิลาอาสน์” ของท้าวสักกะเทวราช (พระอินทร์) ก็แข็งกระด้างและร้อนลุ่มขึ้นทันที พระอินทร์จึงได้ส่องทิพยเนตรลงมายังโลกมนุษย์ จึงทราบความประสงค์ของท้าวคันคากพระมหาโพธิสัตว์บนโลกมนุษย์ จึงได้เนรมิตปราสาทใหญ่ที่งดงามปานปราสาทในเมืองสวรรค์มีต้นเสาแก้วสวยงามเป็นหมื่นๆ ต้น และมีห้องต่างๆ เป็นพันๆ ห้อง ซึ่งประดับตกแต่งอย่างสวยงามด้วยอัญมณีต่างๆ และมีนางแก้วหญิงที่สวยสดงดงามมากดุจดังนางเทพอัปสรบนสรวงสวรรค์มาให้เป็นภรรยา พระนางมีนามว่า “นางแก้วปทุมวดี” เนื่องจากผุดขึ้นมาจากดอกบัวในสระหลวงในพระราชวังนั้นเอง และพระองค์ก็ได้มีรูปกายใหม่ที่งดงามสะโอดสะองผิวพระวรกายสีทองเหลืองอร่ามใครเห็นใครก็ตกตะลึงและหลงรัก ท้าวคันคากและนางแก้วปทุมวดีก็ได้อาศัยอยู่ในปราสาทที่พระอินทร์เนรมิตที่งดงามดัง “ไพชยนต์ปราสาท” เมืองสวรรค์เลยทีเดียว ต่อมาเมื่อพระยาหลวงเอกราชและพระนางสีดาทราบข่าว ก็ได้เสด็จมาเยี่ยมยังปราสาทของพระโอรส พร้อมทั้งได้จัดทำพิธีอภิเษกให้ท้าวคันคากขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์แทนพระองค์สืบไป ซึ่งนับแต่พญาคันคากขึ้นครองเมือง บรรดาพระยาและเจ้าเมืองทั้งหลายตลอดจนบรรดาสัตว์เดรัจฉานน้อยใหญ่ต่างๆ ก็ได้เข้ามาชื่นชมในพระบารมี มาขอสวามิภักดิ์ และขอเป็นบริวารอีกมากมาย พญาคันคากครั้นได้รับการอภิเษกเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองนครอินทรปัตต่อจากพระบิดาแล้ว ก็ทรงทำการปกครองบ้านเมืองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้ากันด้วยทศพิธราชธรรมของพระองค์เอง
เนื่องจากว่าพญาคันคากนั้นมีบุญฤทธิ์มาก พวกสัตว์ใหญ่น้อยต่างสวามิภักดิ์และชื่นชมในบารมีของพญาคันคากแทบทั้งสิ้น หนึ่งในสัตว์ที่ชื่นชมบารมีของพญาคันคาก นั้นคือ “เจ้ากาดำ” และ “พญานกแร้ง” ผู้มีหน้าที่ในการนำอาหารไปถวายพระยาแถน เจ้ากาดำ และพญาแร้งมัวแต่ไปเฝ้าแห่แหนพญาคันคาก จนลืมละทิ้งหน้าที่สำคัญของตน เมื่อพระยาแถนทราบเรื่องก็โมโหโกรธสัตว์ทั้งสองอย่างมาก พระยาแถนทราบว่าพญาคันคากได้ขึ้นครองเมืองและมีบุญบารมีแผ่ขยายกิตติศัพท์ไปไกลทั้งไตรภพ (๓ ภพเลยทีเดียว) จึงคิดอิจฉาและไม่พอใจ จึงคิดอุบายหาทางกลั่นแกล้ง แต่ก็รู้ดีว่าพญาคันคากมีบุญญาธิการและมีอิทธิฤทธิ์มากเกรงจะเป็นภัยแก่ตน จึงได้วางแผนการโดยที่ไม่ให้ฝนตกลงมายังมนุษย์โลก ทำให้สิ่งมีชีวิตเดือดร้อนกันไปทั่วพิภพนานถึง ๗ ปี พญาคันคากไม่ทราบว่าจะหาทางแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร จึงลงไปยังใต้พิภพเพื่อปรึกษากับพญานาค ฝ่าย “พญาหลวงนาโค” บอกกับพญาคันคากว่า พระยาแถนประทับอยู่ยังปราสาท “เมืองยุคันธร” ที่เมืองนี้มีแม่น้ำคงคาอันกว้างใหญ่ไพศาล พระยาแถนมีหน้าที่ดูแลรักษาแม่น้ำยุคันธรแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมี “ภูเขาสัตบริภัณฑ์” ตั้งอยู่รายล้อม “ภูเขาพระสุเมรุ” ถึง ๗ ลูก เมื่อครบกำหนดเวลาบรรดาพญานาคจะลงมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาล แต่เมื่อพระยาแถนไม่ให้พวกพญานาคมาเล่นน้ำจึงไม่มีฝนตกลงมาในโลกมนุษย์
เมื่อกาลเป็นเช่นนั้นชาวเมืองของพญาคันคากและสัตว์ใหญ่น้อยต่างอดอยาก แห้งแล้ง และกันดาร เมืองของพญาคันคากก็เกิดการข้าวยาก หมากแพง ทำนาทำไร่ก็ไม่ได้ผล มีการแก่งแย่งจี้ปล้น เกิดมีโจรขโมยแย่งกันกิน และฝูงสัตว์ใหญ่น้อยเมื่อหาอาหารไม่ได้ ต่างก็พากันมาร้องทุกข์กับพญาคันคากเจ้าผู้ครองนครอินทรปัตกันแทบทั้งนั้น
พญาคันคากจึงเล่าให้บรรดาไพร่ฟ้าและข้าแผ่นดินฟังว่า พระยาแถนนั้นจับพญานาคผูกไว้ไม่ให้พญานาคมาพ่นน้ำได้ จึงเป็นเหตุไม่ให้ไม่มีละอองน้ำจากพญานาคตกลงมาเป็นฝนยังโลกมนุษย์ พญาคันคากจึงปรึกษาหารือกับบรรดาไพร่ฟ้าของพระองค์ว่า จะต้องทำสงครามกับพระยาแถน พญาคันคากจึงวางแผนที่จะขึ้นไปรบกับพระยาแถนบนสวรรค์ โดยให้บรรดาสัตว์ใหญ่น้อยเป็นกำลังทัพไปทำสงครามด้วย โดยการให้พวกปลวกช่วยกันก่อจอมปลวกเป็นภูเขาสูงขึ้นไปสู่เมืองสวรรค์ของพระยาแถน พญาคันคากให้บ่าวไพร่และเสนาช่วยกันสร้างกำแพงขึ้นแล้วต่อบันไดขึ้นไปจนถึงเมืองพระยาแถนบนฟากฟ้าเมืองสวรรค์ พญาคันคากจึงนำสัตว์ต่างๆ เป็นกำลังทัพขึ้นไปด้วย เมื่อถึงเมืองพระยาแถนแล้วพญาคันคากก็ท้ารบกับพระยาแถน ซึ่งในครั้งนั้นพระยาแถนก็ได้เตรียมการและแอบซ่อนอาวุธพร้อมด้วยไพร่พลเทวดาทั้งหลายไว้ทำสงครามด้วยเช่นกัน พญาคันคากผู้มากด้วยฤทธิ์รู้ที่ซ่อนแหล่งอาวุธของพระยาแถน จึงสั่งให้พวกมด มอด และปลวก ไปเจาะไช ชอน ด้ามอาวุธเหล่านั้นให้เสียผุพังให้หมด ตลอดจนให้ทำให้สนิมกินใบหอก มีด ดาบและหลาวเสียด้วย
ครั้นรุ่งเช้าเมื่อพระยาแถนสั่งให้แจกจ่ายอาวุธแก่กองทัพ ก็ปรากฏว่าอาวุธทั้งหลายเหล่านั้นชำรุดทั้งหมด พระยาแถนจึงต้องเปลี่ยนแผนที่จะรบกับพญาคันคากโดยใช้เวทมนต์แทน ซึ่งพญาคันคากผู้เก่งกาจก็รู้ทันก่อนจึงใช้ให้ กบ เขียด อึ่งอ่าง และจักจั่น คอยส่งเสียงรบกวน การเพ่งสมาธิร่ายเวทมนต์ของพระยาแถน ฝ่ายพระยาแถนจึงเสกให้งูไปกินกบเขียด อึ่งอ่าง และจักจั่นให้หมด พญาคันคากเห็นดังนั้นก็เสกให้มีเหยี่ยว และนกรุ้ง (แร้ง) ไปจัดการกินงูของพระยาแถนให้หมด พระยาแถนเสกสุนัขไปกินนกและกินเหยี่ยวของพญาคันคาก พญาคันคากก็เสกเป็นเสือโคร่งไปไล่กินสุนัขของพระยาแถนจนหมด พระยาแถนได้ยิงธนูให้กลายเป็นห่าฝนหอกดาบตกลงมาเสียบผู้คนและสัตว์ล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาคันคากก็เสกเป็นพญาครุฑได้เนรมิตปีกให้แผ่กว้างเพื่อกำบังห่าฝนหอกดาบ และมีการร่ายเวทมนต์คาถาอาคมให้ผู้คนที่ล้มตายกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง การสู้รบกันระหว่างพญาคันคากกับพระยาแถนเป็นไปอย่างดุเดือด ต่างคนต่างก็มีคาถาอาคมเพื่อต่อสู้กับศัตรูอย่างฉกาจฉกรรจ์ ปรากฏว่าไม่มีใครแพ้ใครชนะ ศึกครั้งนี้นับเป็นการสู้รบที่เรียกว่า “มหายุทธ” เลยทีเดียว ต่อมาสัตว์ต่างๆเหล่านี้จึงเป็นศัตรูกันนับตั้งแต่นั้นมา พระยาแถนจึงชวนพญาคันคากมาทำการชนช้าง (ยุทธหัตถี) ให้รู้แพ้รู้ชนะกัน แต่ในที่สุดพระยาแถนก็เพลี่ยงพล้ำต่อพญาคันคากถูกพญาคันคากจับตัวได้ จึงมีการทำสัญญาสงบศึกกัน
โดยที่พระยาแถนจะยอมปล่อยพวกพญานาคให้มาพ่นน้ำเพื่อให้ฝนตกมายังโลกมนุษย์ และหากว่าปีใดพระยาแถนลืมก็ขอให้ชาวโลกมนุษย์ส่งบั้งไฟขึ้นมาเตือนพระยาแถนว่าได้เวลาปล่อยพญานาคให้เล่นน้ำในสระบนสวรรค์เพื่อให้ละอองน้ำตกลงมาเป็นฝนบนโลกมนุษย์ได้แล้ว และเมื่อรู้ว่าฝนตกและปริมาณน้ำนั้นเพียงพอแล้วก็ให้กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ฯลฯ ร้องระงมเป็นสัญญาณให้รับรู้และหยุดทำการให้ฝนตกได้แล้ว
ฉะนั้นเมื่อปีใดฝนตกล่าช้าไม่ตรงตามฤดูกาล ชาวอีสาน และชาวลาวตลอดจนชาวเขมรก็จะทำ “บั้งไฟ” เพื่อจุดขึ้นไปบอกข่าวแก่พระยาแถนเพื่อให้ส่งน้ำฝนลงมาให้แก่ชาวโลกมนุษย์ และให้ตกลงมาตรงตามฤดูกาล ด้วยเหตุนี้จึงเกิดมี “งานประเพณีบุญบั้งไฟ” ขึ้นสืบต่อกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
หมายเหตุ :
๑. ในสมัยโบราณบ้านเมืองแถบภาคอีสานและฝั่งลาวตลอดจนเขมร (แต่ปัจจุบันลดน้อยลงไป เนื่องจากยุ่งอยู่กับการสงครามและการเมือง) จะจัดให้มี “งานประเพณีบุญบั้งไฟ” ซึ่งเป็นพิธีใหญ่ของกษัตริย์และเจ้าเมืองเลยทีเดียว ซึ่งมีหลักฐานใน “ตำนาน : ผาแดง-นางไอ่” นั้นเอง ส่วนทางศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) แถวๆ ชมพูทวีปก็จะมีพิธี “จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ก่อนฤดูเพาะปลูกเหมือนกัน
๒. ปัจจุบันก็ยังมีประเพณีนี้สืบทอดกันต่อมาอยู่ โดยที่ “จังหวัดยโสธร”จะกระทำกันในเดือน ๖ ส่วนที่ “อำเภอสุวรรณภูมิ” (จังหวัดร้อยเอ็ด) แถบทุ่งกุลาร้องให้ซึ่งแห้งแล้งมาก จะกระทำกันในเดือน ๗ เพราะในอดีตนั้น จนถึงเดือน ๗ แล้วฝนก็ยังไม่ตกลงมานั้นเอง
๓. เทวดาและพรหมก็ยังคงอยู่ในสังสารวัฏแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ จึงมีการอิจฉาและริษยากันบ้างแต่ก็เบาบางกว่าพวกมนุษย์มาก ไม่เหมือนพระอรหันต์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้า และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านเหล่านี้เป็นผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิงและอยู่นอกเหนือสังสารวัฏนั้นเอง
๔. พระโพธิสัตว์นั้นจะบำเพ็ญบุญบารมีเพื่อช่วยเหลือเวไนยสัตว์ในสังสารวัฏ ไม่ว่าท่านจะเกิดเป็นอะไรและอยู่ภพภูมิไหนก็ตาม
๕. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์บำเพ็ญบุญบารมีในทุกภพทุกชาติที่เกิดมา พระองค์ได้ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ในสังสารวัฏทุกภพภูมิและเกิดเป็นเวไนยสัตว์ทุกอย่าง จนถึงพระชาติสุดท้ายที่ทรงบรรลุ “อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ”เป็น “พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า” นั้นเอง
..............................................................................................................................