กุดสะราชชาดก : สังข์สินไซ หรือ สังข์ศิลป์ชัย
**************************
ในสมัยผู้เรียบเรียงเป็นเด็ก ได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ทางบ้านเกิดที่อีสานได้เล่าให้ฟัง และยังได้ยินจาก “หมอลำ”ซึ่งแสดงเรื่องนี้กันบ่อยๆ ซึ่งสนุกดี และยังเคยมีการเล่าสู่กันฟังในประเพณี “งันเฮือนดี”(ประเพณีไปเล่นสนุกสนานที่บ้านที่มีคนตายในตอนกลางคืนหลังจากการการเผาศพคนตายแล้ว : น่าจะเป็นกุศโลบายในการไปอยู่เป็นเพื่อนบ้านของผู้สูญเสียญาติไปจะได้ไม่รู้สึกเหงา ว้าเหว่ และซึมเศร้า ซึ่งเมื่อวิญญาณของผู้ตายกลับมาเยี่ยมบ้านและลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ จะได้ไม่ต้องกังวลและเป็นห่วง เนื่องจากเห็นว่ามีคนอยู่เป็นเพื่อนเยอะแยะสนุกสนานเฮฮา และไม่เศร้าหมองให้ผู้ตายต้องกังวลและเศร้าใจที่ต้องจากไปนั้นเอง ผู้เรียบเรียงอยากให้กระทำต่อเนื่องและอนุรักษ์ไว้ ตลอดจนสอนลูกหลานให้รู้ประวัติก็ยังดี ถึงแม้อะไรๆจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม) ตั้งแต่ในสมัยโน้นจนโตเป็นหนุ่มก็ไม่ได้คิดอะไร แต่เมื่อได้ศึกษาธรรมะและศึกษาพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ “นิทานชาดก”อันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญบุญบารมีมาอย่างอเนกอนันต์ และมีมหากรุณาและมหาเมตตาได้เทศน์โปรดสั่งสอนพุทธบริษัทในโอกาสต่างๆ ซึ่งมีธรรมะและข้อคิดที่เกิดประโยชน์มากมายนับค่าไม่ได้ สามารถนำไปศึกษาและนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและบอกสอนลูกหลานตลอดจนลูกศิษย์ลูกหาได้เป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งเกิดประโยชน์มากเพราะเป็นเรื่องจริงมีสัจธรรม ไม่ใช่สนุกและเพลิดเพลินอย่างเดียวแต่อย่างใด ซึ่งน่าเสียดายมากที่คนในโลกยุคปัจจุบันชอบเรื่องมายา(เรื่องไม่จริง)และเรื่องแต่งหรือเรื่องเขียนกันขึ้นมาสนุกสนานเท่านั้น แต่ซื้อหามาอ่านกันอย่างแพงมาก ดีกว่าการดูหนัง ดูละครต่างชาติซึ่งมีแต่ความสนุกสนานไร้สาระและไม่มีคติธรรมที่ดีใดๆ และมีสัจจะความจริงที่สอนใจแต่อย่างใดเลย
ผู้เขียนจึงอยากใช้ช่องทางนี้ให้ผู้ใคร่ศึกษาได้อ่านและคิดต่อไปเอาเอง และควรสอนลูกหลานหรือลูกศิษย์ลูกหากันต่อไปว่าดีหรือไม่ ซึ่งผู้เรียบเรียงมั่นใจว่าคนที่ศึกษาและเผยแพร่ธรรมะและสัจธรรม ย่อมมีอานิสงส์ที่มากกว่าคนที่แต่งเรื่องไม่จริงและอ่านเรื่องไม่จริงที่สนุกสนานและขายกันแพงๆในโลกเรายุคปัจจุบันนี้ นิทานชาดกเป็นสิ่งที่ทั้งยอดดีและเกิดประโยชน์มากกว่าสำหรับผู้ศึกษาและเผยแพร่ ทั้งชาตินี้และชาติต่อๆไป โดยที่ไม่ต้องซื้อหาแพงๆแต่อย่างใด ซึ่งเราคงเคยได้ยินและได้รับการสอนมาแล้วว่า “การฟังเทศน์มหาชาติ”(พระเวสสันดรชาดก)ครบทั้ง๑๓ กัณฑ์ เมื่อตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ ซึ่งนั้นแค่ฟังชาดกอันเดียวแค่นั้น แต่ถ้าเราทั้งอ่าน ทั้งศึกษา ทั้งสอน ทั้งเผยแพร่ทั้งบอกต่อ และหลายๆชาดกหลายๆพระชาติของพระพุทธองค์แล้วด้วย อานิสงส์จะไม่มากกว่าการฟังเวสสันดรชาดกอันเดียวหรอกหรือ?
“กุดสะราชชาดก” หรือ “สังข์ศิลป์ชัย” นี้เป็นเรื่องที่๒๙ ใน “ปัญญาสชาดก”(ชาดก๕๐ ชาติ ของพระพุทธเจ้าในอดีต ซึ่งอยู่นอกเหนือ “นิทานชาดก๕๔๗ ชาติ” ที่นิยมแพร่หลายในหมู่พุทธศาสนิกชนนั้นเอง อันเป็นต้นตำหรับให้ชาวตะวันตกได้ลอกเลียนแบบไปเป็น “นิทานอีสป”เพื่อสอนคนของเขาในภายหลังดังที่เห็นๆกันอยู่นั้นเอง)
เนื้อเรื่องโดยย่อ
ณ เมืองใหญ่อันเจริญรุ่งเรื่องชื่อ “เป็งจาล” มีพระราชาชื่อ “ท้าวกุดสะราด” มีน้องสาวชื่อ “นางสุมนทา”ที่พระองค์รักและหวงแหนมาก มีมเหสีชื่อ “นางจันทา” กล่าวถึง “ท้าวเวสสุวรรณ”ผู้เป็นใหญ่เป็นจอมยักษ์หรือ “ท้าวโลกบาล” ได้อาญาสิทธิ์ให้ยักษ์ชื่อ “ท้าวกุมภัณฑ์”เป็นผู้ปกครองพวกผี ยักษ์ และมารทั้งหลายในโลก มีฤทธิ์เดชครบถ้วนทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งเป็นโสด ให้ปกครองเมือง “อโนราช” เมื่อคิดอยากมีภรรยา ท้าวเวสสุวรรณจึงบอกว่าเนื้อคู่ชื่อนางสุมนทา แต่ขอให้ตัดใจเสียเพราะเป็นคนละเผ่าพันธุ์(ตัวเองเป็นยักษ์ส่วนนางสุมนทาเป็นมนุษย์) แต่ท้าวกุมภัณฑ์ไม่ยอม จึงได้ขี่ยานจักรแก้วไปหา แล้วซ่อนตัวอยู่ในอุทยาน ฝ่ายท้าวกุดสะราดนั้นฝันว่ามีคนมาฟันแขนขวาขาดพร้อมทั้งผ่าอกจึงสะดุ้งตื่นขึ้นมา โหรทำนายว่าจะมีคนต่างแดนมาแย่งญาติไป เมื่อพ้นเคราะห์แล้วจึงจะประสบโชคดี
วันหนึ่งนางสุมนทาพร้อมบริวารออกประพาสสวนในอุทยาน ท้าวกุมภัณฑ์ได้จังหวะจึงอุ้มเอานางเหาะขึ้นหนีพากลับไปเมืองอโนราชและเกลี้ยกล่อมตลอดจนเอาใจต่างๆนาๆจนนางยอมเป็นมเหสีด้วยความสมัครใจ และมีธิดาด้วยกันคือ “นางสีดาจัน” เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นสาวแล้วนั้น “พญานาควรุณ”แห่งนาคพิภพได้มาขอไปเป็นมเหสี
กล่าวถึงท้าวกุดสะราด เมื่อเวลาผ่านไปสามเดือนก็ยังคิดถึงน้องสาวอยู่มิวาย จึงออกบวชและติดตามหานาง จนเวลาผ่านไป ๗ ปี เมื่อเดินทางมาถึง “เมืองจำปา” มีเจ้าเมืองชื่อ “กามะทา” ซึ่งที่นี่ได้ทราบข่าวน้องสาวว่าถูกยักษ์กุมภันฑ์ลักพาตัวไป เช้าวันหนึ่งท้าวกุดสะราดได้ไปบิณฑบาตหน้าบ้านเศรษฐีชื่อ “นันทะ” มีลูกสาว ๗ คน ก็ให้รู้สึกชอบพอจึงกลับเมืองเป็งจาลแล้วลาสิกขาบทออกมา แล้วก็มาสู่ขอนางทั้งเจ็ดไปเป็นมเหสีของตนซึ่งเศรษฐีก็ยินยอม ต่อมามเหสีทั้ง ๘ คนของท้าวกุดสะราดได้ทำการอธิษฐานขอบุตรให้เกิดมีกับตน ซึ่งในคราวนั้นโอรสของ “ท้าวสักกะเทวราช”หรือ “พระอินทร์”ได้อาสาลงมาสู่ครรภ์ “นางจันทา”(มเหสีคนเก่าก่อน)หนึ่งองค์ และอีกสององค์พร้อมกันลงมาสู่ครรภ์ “นางลุน”ซึ่งเป็นน้องคนสาวคนสุดท้ายของนางทั้งเจ็ด โดยโหรได้ทำนายว่าผู้มีบุญจะมาเกิดในครรภ์ของนางจันทากับนางลุนส่วนอีกหกนางนั้นบุตรจะเป็นคนไม่ดีมาเกิดด้วย ทำให้นางทั้งหกไม่สบายใจ ต่อมาก็มีหญิงร้อยเล่ห์ชื่อ “นางกาลี”เข้ามาหาและตีสนิทจน “นางปทุมมา”ผู้พี่สาวคนโตของนางทั้งเจ็ดนั้นไว้วางใจ หญิงกาลีนั้นทำยาเสน่ห์ให้ท้าวกุดสะราดและนางทั้งหกหลงใหลพร้อมทั้งได้ให้สินบนแก่โหรแล้วให้กลับคำทำนายใหม่ พอครบกำหนดนางทั้งแปดก็คลอดลูกออกมาดังนี้ โดยลูกของนางลุนนั้นคนแรกคลอดเกิดมาเป็น “หอยสังข์” ส่วนคนที่สองเป็น “มนุษย์” โดยถือ “ดาบ”และ “ศรศิลป์”ออกมาด้วยพร้อมกัน ส่วนนางจันทาได้ลูกออกมาเป็นสัตว์แปลกประหลาด คือ ครึ่งล่างเป็นราชสีห์ส่วนหัวเป็นช้างรวมเรียกว่า “คชสีห์”
ท้าวกุดสะราดเห็นว่า มีความผิดไปจากคำทำนายของโหร จึงได้เนรเทศลูกและเมียออกนอกเมืองเพราะโหรกลับคำทำนายว่าเป็นกาลกิณีคือเป็นกาลีบ้านกาลีเมืองนั้นเอง โดยนางจันทา และนางลุนพร้อมลูกน้อยสามคนรวมกันเป็นห้าคน จึงได้เดินทางออกจากเมืองเป็งจาลไป โดยเดินทางไปตามป่าได้ราวหนึ่งเดือนไปพบกับปราสาทอยู่กลางป่าซึ่งพระอินทร์มาสร้างไว้ให้พักอาศัยนั้นเอง ทั้งหมดจึงอาศัยในปราสาทนี้ โดยพระอินทร์เขียนชื่อไว้ว่า ลูกของนางจันทาชื่อ “สีหราช”หรือ “สีโห” ส่วนลูกของนางลุนนั้นคนแรกชื่อ “สังข์” คนที่สองชื่อ “สินไซ” (ศิลป์ชัย)
ทั้งสามองค์เจริญเติบโตขึ้นด้วยความรักสามัคคีกัน วันหนึ่งสินไซได้ขอ “ธนูศิลป์”หรือ”ศร” กับ “ดาบ”หรือ “ตาว” จากแม่ของตน เมื่อนางจันทามอบให้แล้วสินไซก็แสดงการใช้ดาบและศรได้อย่างคล่องแคล่ว สินไซ ยิงธนูไปตกถึงหน้า “พญาครุฑ”ใน “นครฉิมพลี” พญาครุฑจึงนำไพร่พลทั้งหลายมาถวายเครื่องบรรณาการพร้อมให้การอารักขา จากนั้นสินไซยิงธนูไปตกที่หน้าของ “พญานาค” พญานาคก็นำไพร่พลมาถวายเครื่องบรรณนาการและเฝ้าอารักขา โดยครุฑอารักขากลางวัน ส่วนนาคอารักขากลางคืน ทั้งสามเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มที่มีฤทธิ์มาก
ฝ่ายท้าวกุดสะราด สั่งให้ลูกชายที่เกิดจากนางทั้งหก ออกเดินทางไปเรียนวิชาต่างๆเพื่อที่จะเป็นวิชาติดตัวใช้สำหรับติดตามนางสุมนทาซึ่งเป็นอากลับคืนมา โอรสทั้งหกก็ออกเดินทางไปในป่าจนกระทั่งไปพบกับสีโห สังข์ และสินไซ เมื่อสอบถามก็รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน จึงหลอกว่าท้าวกุดสะราดคิดถึงอยู่ตลอดมาจึงให้ออกมาตามหาและถามข่าวว่ายังอยู่ดีสบายหรือไม่ บัดนี้จะกลับไปกราบทูลให้บิดาทราบ และเพื่อเป็นการยืนยันว่าอยู่ดีมีวิชามากจึงขอให้แสดงวิชา โดยการเรียกให้สัตว์น้อยใหญ่ในป่าติดตามไปในวังในอีกหนึ่งวันข้างหน้า จากนั้นทั้งหกองค์จึงกลับไปทูลพระบิดาว่าเรียนวิชาจบแล้ว ถ้าไม่เชื่อจะใช้มนต์เรียกสัตว์ให้ดูในวันรุ่งขึ้น วันต่อมาก็มีสัตว์มีพิษในป่าเข้าไปในเมืองเต็มไปหมดแต่ไม่ทำอันตรายแก่ใครๆ ท้าวกุดสะราดก็ดีใจว่าลูกมีความสามารถแล้วจึงสั่งให้ออกติดตามนางสุมนทาแล้วพากลับมาบ้านเมือง ทั้งหกองค์ก็เดินทางไปพบพี่ๆในป่าแล้วบอกว่าท้าวกุดสะราดเชื่อแล้ว และให้ออกเดินทางไปตามหาอาสุมนทาด้วยกัน ถ้าทำสำเร็จจะยกบ้านเมืองให้ปกครองครึ่งหนึ่ง
สีโห สังข์ และสินไซมีความกตัญญูคิดตอบแทนบิดาจึงรับปากจะไปด้วย แต่นางจันทากับนางลุนไม่เชื่อพยายามห้ามปรามแต่ก็ขัดไม่ได้ ในที่สุดก็สั่งสอนว่าให้ระวังตัวให้ดี เพราะในป่ามีอันตรายมาก ศรศิลป์ และพระขรรค์ต้องกระชับในมือตลอดเวลา เมื่อได้พบอาสุมนทาก็อย่าไว้ใจมากนักเพราะอาจติดนิสัยยักษ์มาบ้าง สินไซจงดูแลพี่น้องให้ดีอย่าทอดทิ้งกัน และสุดท้ายอย่าไว้ใจท้าวทั้งหกนี้ จากนั้นจึงอำลาแม่แล้วออกเดินทาง จนกระทั่งได้พบกับด่านต่างๆ ดังต่อไปนี้
ด่านแรกคือ “ด่านงูซวง” คือ “งูใหญ่” มีความยาวเท่ากับเชือกล่ามวัวร้อยตัว มีตาสีแดง พ่นพิษออกมาเป็นไฟ ท้าวทั้งหกกลัวจึงขอเดินทางกลับ แต่สินไซใช้ดาบฟันงูขาดเป็นท่อน แล้วออกเดินทางต่อไป จนกระทั่งถึงแม่น้ำสายที่หนึ่งใหญ่ กว้างหนึ่งโยชน์ ท้าวทั้งหกชวนกลับและบอกว่าพ่อคงไม่เอาโทษอะไร แต่สังข์ออกเดินทางไปก่อน สินไซออกตามไปโดยให้สีโหอยู่เฝ้าน้องทั้งหก สังข์แปลงกายเป็นเรือให้สินไซขี่ข้ามแม่น้ำไปได้จนถึงภูเขาและพบกับด่านที่สอง คือ “ด่านยักษ์กันดาร”หรือ “ด่านวรุณยักษ์” เป็นด่านที่อัตคัดลำบากไม่สะดวกสบายขาดแคลน เป็นยักษ์ดุร้ายจึงฟันคอยักษ์ขาดตายไป สินไซก็ตามรอยหอยสังข์ที่ล่วงหน้าไปก่อนจนพบแม่น้ำสายที่สอง กว้างสองโยชน์ สังข์แปลงกายเป็นเรือให้สินไซขี่ข้ามไปได้อีก ระหว่างทางสินไซระลึกถึงพระคุณแม่อยู่ตลอด จนกระทั่งพบด่านที่สามคือ “ด่านช้างหลายแสนตัว” มี “พระยาฉัททันต์”เป็นหัวหน้า มันโกรธตาแดงขู่ว่าจะฆ่าสินไซ สินไซจึงใช้ศรยิงล้มลงระเนระนาด มันจึงยอมบอกว่าเคยเห็นยักษ์อุ้มนางสุมนทาเหาะผ่านไปทางนี้ ขออโหสิกรรม และยอมให้ขี่คอพาไปส่งจนสุดแขตแดนของตนเอง สินไซสอนให้ช้างอย่าทำร้ายเบียดเบียนคนอื่น จากนั้นก็เดินทางต่อไปจนพบแม่น้ำสายที่สาม กว้างสามโยชน์ สินไซก็ขี่สังข์จนพ้นข้ามไปได้และพบกับด่านที่สี่คือ “ด่านยักษ์สี่ตน”ได้แก่ “กันดานยักษ์” “จิตตยักษ์” “ไชยยักษ์” และ “วิไชยยักษ์” ได้สู้รบกันสินไซปราบยักษ์ทั้งหมดเสร็จแล้วก็เดินทางต่อไปตามรอยหอยสังข์ จนพบกับแม่น้ำสายที่สี่ที่กว้างสี่โยชน์ สังข์พาสินไซข้ามไปได้ แล้วรีบเร่งเดินไปถึงภูเขาใหญ่ดำทะมึนมีบ่อแก้ว บ่อเพชรเป็นน้ำเพชรไหลออกมามีสีสันแวววาวระยิบระยับ เห็นวิมานของ “พญาธร” ถ้ำเพชร เห็นต้นนิโครธ เดินทางผ่านภูเขาเป็นหมื่นๆลูก จนเข้าเขต “ยักษ์ขินี”เป็นด่านที่ห้า คือ “ด่านยักษ์ขินี” เป็นหญิงอายุมากกว่าสินไซ พอเห็นสินไซก็เกิดกามราคะกำหนัดจึงเนรมิตศาลาที่พักอาหารการกินพร้อมบริบูรณ์รอรับแปลงกายเป็นหญิงสวยดั่งนางฟ้า เชิญชวนให้สินไซพักผ่อนบอกว่าเป็นธิดาเจ้าเมืองหลงมาอยู่ในป่าขอเป็นคู่ แม้เพียงได้หลับนอนด้วยก็ดี สินไซเดินหนีไปมันจึงวิ่งตามและพูดว่าถ้ามีเมียแล้วขอเป็นเมียน้อยก็ได้ ตอนแรกสินไซก็นึกเอ็นดูว่าน่ารักแต่พอพิจารณาดูเห็นแววตากระด้างก็รู้ว่าไม่ใช่คนจึงรีบเดินหนี มันเดินตามเจรจาต่อรองต่างๆไปจนสุดเขตแดน เขตแม่น้ำ เมื่อเห็นว่าไม่ทันมันจึงตะโกนด่าว่าอย่างหยาบคาย หากสินไซขาดสติคงแย่แน่นอน แต่ก็ควบคุมสติได้ และเดินทางต่อไปจนพบแม่น้ำสายที่ห้า กว้างห้าโยชน์มีฟองเป็นสีขาว จึงรีบขึ้นขี่หอยสังข์ไประหว่างนั้นคิดถึงแม่และป้าที่จากมาอย่างมาก จนผ่านเข้าเขตด่านที่หกคือ “ด่านนารีผล”หรือ “มักลีผล” เป็นรมณียสถานที่หมู่พระสงฆ์หรือสมณะ ดาบส ฤๅษี วิทยาธร มาเที่ยวเล่น เป็นต้นไม้มีดอกสีส้มเป็นหญิงสาวสวยงาม ศีรษะติดกับขั้วร่างเปลือยหย่อนลงมาถึงพื้น สินไซเที่ยวชมไม่นานก็มี “วิทยาธร”มาแย่งไป เกิดการแย่งกันหลายกลุ่ม สินไซก็สามารถรบชนะวิทยาธรแล้ว ก็เดินทางต่อไปจนพบกับแม่น้ำสายที่หกกว้างหกโยชน์ จึงลงเรือสังข์ข้ามต่อไป จนขึ้นสู่ดินแดนยักษ์เป็นด่านที่เจ็ดชื่อ “ด่านยักษ์อัสสมุขี” อยู่ภูเขาชื่อเวละบาดหรือเวรระบาด นางยักษ์ผีเสื้อ “ชื่ออัสสมุขี”มีหน้าเหมือนสุนัข รีบมาอุ้มเอาสินไซวิ่งไป สินไซถามว่าจะพาอุ้มไปไหน นางก็ตอบว่าจะเอาไปทำผัว สินไซอ้อนวอนให้ปล่อยแต่ก็ไม่ยอมปล่อย สินไซจึงใช้พระขรรค์ตัดคอยักษ์ขาดตายไป บนภูเขานี้มีต้นกาลพฤกษ์มีดอกเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ดั่งเครื่องทรงของเทพ สินไซจึงเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่งามอย่างเทพบุตร ที่นี่มีบ่อแก้วบ่อเพชรเต็มไปด้วยเพชรนิลจินดา น้ำใสสะอาด สินไซพักหนึ่งราตรีแล้วเดินทางต่อไป จนพบด่านที่แปดคือ “ด่านเทพกินรี” ที่ผาจวงถ้ำแอ่น หมู่กินรีร่างเป็นคนมีปีกมีหางเหาะเหินได้เหมือนนก เป็นหมู่ธิดาของเทพ ที่นี่สินไซได้พบ “นางเจียงคำ” (เจียงแปลว่า แรก ต้น หนึ่ง) จึงได้นางเป็นเมียและสัญญาว่าหากธุระต่างๆเรียบร้อยดีแล้วจะมารับนางไปเป็นมเหสีอยู่ปกครองบ้านเมืองสืบไป
สินไซลานางเดินทางต่อไป นางเจียงคำให้กินรีบริวารอยู่รับใช้สินไซอีกห้าร้อยนาง สินไซจึงสนุกสนานอยู่อีกเจ็ดวัน ทำให้สังข์ต้องรอนานถึงแปดวัน เมื่อพบกันแล้วจึงปรึกษากันว่าให้สังข์ล่วงหน้าไปหาเบาะแสในเมืองอโนราชของยักษ์ก่อน ส่วนสินไซนอนรออยู่นอกเมือง สินไซนอนหลับไปฝันเห็นเรื่องราวต่างๆ สังข์กลับมาบอกว่าทราบว่านางสุมนทาอยู่วังไหน ทั้งสองจึงเดินทางไปด้วยกันเข้าสู่เมืองอโนราชจนถึงด่านที่เก้าคือ “ด่านยักษ์กุมภัณฑ์” เป็นด่านสุดท้ายของการผจญภัย ในเมืองนี้มีสงครามใหญ่สองครั้ง
ก่อนวันที่สินไซจะเข้ามา คืนก่อนนั้นยักษ์หลับฝันละเมอจนนางสุมนทาปลุกให้ตื่น และต้องออกไปหาอาหาร สั่งให้สุมนทาอยู่แต่ในปรางค์เท่านั้น สินไซแอบเข้าไปสู่ปราสาท ทำทีเป็นพูดเกี้ยวพาราสี สุมนทารู้ว่าเป็นเสียงเด็กจึงไต่ถามจนทราบ แต่ไม่เปิดประตูให้ สินไซจึงพังประตูเข้าไป แต่นางสุมนทาไม่ยอมกลับไป บอกให้สินไซกลับไปแล้วบอกพ่อว่าตามหาอาไม่เจอ สินไซเสียใจที่ว่าพ่อรักเป็นห่วงน้องมาก แต่สุมนทามารักสามียักษ์มากกว่า สุมนทาบอกว่าไม่อยากพลัดพราก ต้องกตัญญูต่อสามี สุมนทาทราบว่าหลานมีวิชาเก่งกล้าจึงยอมแต่ขอให้สามีกลับมาก่อน สินไซไม่ยอม สุมนทาให้สินไซกลับไปก่อน ตนจะให้สามีพาไปส่งเอง สินไซจึงแผลงศรขึ้นฟ้าข่มอำนาจยักษ์ทั้งหลายไว้ จนยักษ์กุมภัณฑ์หมดแรงต้องซมซานกลับมา สังข์บอกให้สินไซแอบหลบในกองไม้ก่อน ยักษ์มาถึงก็หมดแรงขึ้นปราสาทไม่ได้แต่ได้กลิ่นมนุษย์ สุมนทาจึงบอกว่ากลิ่นของตนแล้วก็พากลับขึ้นไปกล่อมนอนซึ่งอีกเจ็ดวันยักษ์จึงจะตื่น สินไซชวนอากลับ สุมนทาทำอิดเอื้อนต่อรองไปเรื่อยๆ จนสินไซต้องบังคับ นางก็ต่อรองพอลงจากปรางค์ก็บอกว่าลืมผ้าสไบ กลับขึ้นไปปลุกยักษ์ให้ตื่น สินไซไปพาออกมา ครั้งที่สองมาถึงครัวบอกว่าลืมปิ่นปักผม ครั้งที่สามถึงประตูเมืองบอกว่าลืมซ้องแซมผม สินไซไปตามกลับมาจนพากันออกพ้นจากเมืองยักษ์ แล้วพาไปซ่อนในถ้ำไว้ก่อน จากนั้นสินไซก็กลับไปเมืองอโนราชเพื่อปราบยักษ์ เมื่อได้ยินได้ยินเสียงกรนก็รู้ว่ายักษ์อยู่ที่ใหนจึงเข้าไปตัดคอยักษ์ขาดกระเด็นไป จากนั้นก็ฟันร่างแยกออกเป็นสองท่อน แต่ร่างยักษ์กลับกลายเป็นเจ็ดร่าง พอฟันอีกกลับกลายเป็นสี่สิบเก้าร่าง เป็นเท่าทวีคูณเช่นนี้จนเป็นแสนเป็นล้านร่าง แต่ยิ่งรบยิ่งตาย ท้าวกุมภัณฑ์จึงขอพักรบชั่วคราว สินไซจึงยิงศรไปแจ้งให้สีโหทราบ สีโหจึงรีบเดินทางมาช่วยร่วมรบ ส่วนยักษ์กุมภัณฑ์นำทัพออกตามไปรบกับสินไซโดยมีกองทัพจำนวนมาก ยักษ์แปลงเป็นไก่มาอุ้มเอานางสุมนทาไปได้ สินไซยิงศรถูกไก่ตายหมดเหลือแต่ไก่กุมภัณฑ์อุ้มไปพร้อมกับให้ยักษ์หมื่นตนมาขวางทางไว้ สีโหจึงร้องหรือเปล่งสีหนาทจนแก้วหูยักษ์แตกตายทั้งหมด จึงได้นางสุมนทาคืนมา ก่อนกลับไปนางสุมนทาขอร้องให้ตามไปรับนางสีดาจันซึ่งเป็นธิดาของตนที่อยู่กับวรุณนาคเมืองบาดาลก่อน
พระอินทร์จึงสร้างปราสาทชั่วคราวให้ทุกคนพักผ่อนก่อน แล้วให้สีโหกลับไปเฝ้าท้าวทั้งหกก่อน ส่วนสังข์กับสินไซเดินทางไปเมืองพญานาคเพื่อรับนางสีดาจันกลับมา เมื่อมาถึงเมืองนี้มีการท้าพนันเล่นสกากัน ซึ่งสินไซชนะแต่พญานาคไม่ทำตามสัญญา จึงเกิดการรบกันสินไซยิงศรไปให้ครุฑมาช่วย นาคจึงยอมแพ้ สินไซจึงสั่งสอนแนวทางปกครองบ้านเมือง (๑๔ ประการ) แล้วพานางสีดาจันกลับขึ้นมาพบแม่สุมนทา
แล้วมอบหมายให้ “ท้าววันนุรา” (แปลว่าหัวใจของเผ่าพันธุ์)ให้ครองเมืองอโนราชแทนยักษ์ พร้อมกับสั่งสอนแนวทางปกครองให้แก่ท้าววันนุรา (๑๕ ประการ) แล้วพากันเดินทางกลับไปถึงที่พักของสีโหกับท้าวทั้งหก สังข์กับสีโหเดินทางไปพบแม่ก่อนที่ปราสาทกลางป่า ส่วนสินไซ สุมนทา สีดาจันเดินทางจะกลับเมืองเป็งจาลพร้อมท้าวทั้งหก พอมาถึงน้ำตก ท้าวทั้งหกรวมตัวกันลอบทำร้ายโดยผลักสินไซตกเหวแล้วมาโกหกนางสุมนทาและนางสีดาจัน แต่นางสุมนทาไม่เชื่อจึงเอาสิ่งของสามอย่างคือปิ่นปักผม ซ้องประดับผม และผ้าสไบซ่อนไว้ที่หน้าผาพร้อมกับอธิษฐานว่าถ้าสินไซไม่ตายขอให้ได้ของสิ่งเหล่านี้กลับคืนมา จากนั้นเดินทางกลับไปถึงเมืองเป็งจาล ส่วนสินไซนั้นพระอินทร์ได้มาอุ้มขึ้นจากน้ำ รดด้วยน้ำเต้าแก้วแล้วพาไปส่งที่ปราสาทในป่า จึงได้อยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้งทั้งสังข์ สีโห สินไซ และแม่จันทาพร้อมกับนางลุน ส่วนท้าวกุดสะราดดีใจมาก ต้อนรับคณะอย่างยิ่งใหญ่ ท้าวทั้งหกเล่าเรื่องราวการผจญภัยให้บิดาฟังพร้อมกับบอกว่าอย่าเชื่อนางสุมนทาเพราะอาจจะยังติดไอยักษ์อยู่ ส่วนนางสุมนทาก็เล่าเรื่องราวให้ฟังพร้อมกับบอกคำอธิษฐานของนาง ท้าวกุดสะราดไม่ทราบจะเชื่อใครดี
พระอินทร์ดลใจให้พวกเรือสำเภาเก็บของสามสิ่งไปให้ท้าวกุดสะราด เรื่องทั้งหมดจึงชัดเจนขึ้นมา ท้าวกุดสะราดสั่งให้จับท้าวทั้งหก แม่ทั้งหก หมอโหร และหมอเสน่ห์ไปคุมขังไว้ จากนั้นจึงเสด็จไปเชิญนางจันทา นางลุนพร้อมโอรสกลับเข้าวัง มีการตัดพ้อต่อว่ากันต่างๆนาต่างคนต่างก็เสียใจทุกข์ระทมใจจนสลบไปกันทั้งป่า สินไซเมื่อฟื้นขึ้นมาจึงได้เชิญพระอินทร์นำน้ำเต้าแก้วมารดให้ฟื้นทุกคน
และในที่สุดสินไซก็ยอมรับที่จะครองเมืองเป็งจาลเพื่อสร้างกุศลบำเพ็ญบุญบารมีเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคตกาล โดยสินไซได้สั่งสอนให้สัตว์ทั้งหลายเลิกเบียดเบียนกันและกัน แล้วทั้งหมดเดินทางกลับเข้าเมืองและมีการอภิเษกให้สินไซขึ้นครองราชย์และมีการเฉลิมฉลอง ได้พระนามใหม่ ดังนี้
“สินไซ” ชื่อ “สังข์สินไซมหาจักร”
“สังข์” ชื่อ “สังขาระจักร”
ส่วน “สีโห” ชื่อ “สีหะจักร”
เมื่อสินไซได้ครองเมืองแล้ว ก็ได้ไปขอนางเจียงคำมาเป็นมเหสีต่อมาได้นามว่า “พระนางศรีสุพรรณ” ฝ่าย “เมืองอุดรกุรุทวีป”ก็ได้ส่งราชธิดานามว่า “พระนางอุสา” และ “เมืองอมรโคยาน” ได้ส่งราชธิดานามว่า “พระนางบุษบา”มาให้เป็นคู่ครองของสินไซอีกด้วย พระเจ้าสังข์สินไซมหาจักรได้ปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข พืชภัณฑ์อาหารอุดมสมบูรณ์ สัตว์ที่เคยเป็นศัตรูกันก็เลิกเป็นศัตรู ครุฑไม่ข่มเหงนาค พังพอนไม่สู้กับงู งูไม่กินกบเขียด แมวไม่กินหนู สุนัขไม่ไล่กัดแมว ทุกสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ต่างคนก็ต่างอยู่กันอย่างสงบสุขและสันติ ประชาชนและสัตว์ต่างอยู่อย่างสงบมีศีลธรรมไม่เบียดเบียนกันและกัน
ฝ่ายท้าววรุณนาคกลับไปเมืองนาคแล้ว คิดถึงสีดาจันมากจนล้มป่วย ชาวเมืองจึงลงความเห็นให้มาขอนางสีดาจันคืนไปเป็นมเหสีดังเดิม สินไซก็อนุญาต สีดาจันจึงกลับไปครองเมืองกับวรุณนาคอย่างมีความสุข
กล่าวถึงท้าวเวสสุวรรณ เวลาผ่านไปเจ็ดปี ไม่เห็นยักษ์กุมภันฑ์ไปส่งบรรณาการ จึงลงมาถามตรวจดู จึงพบว่าวันนุราครองเมืองอโนราชอยู่และเล่าเรื่องราวให้ฟัง ท้าวเวสสุวรรณจึงรดน้ำชุบชีวิตยักษ์กุมภัณฑ์คืนมาแล้วสั่งสอนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ยักษ์ไม่เชื่อเหาะไปแปลงเป็นแมลงวันเขียวอุ้มเอานางสุมนทาและเอาสินไซไปขังไว้ในคอกเหล็กจะต้มกิน สีโหและสังข์ทราบจึงตามไปช่วย สีโหแปลงเป็นยักษ์เข้าไปปะปนกับทหารยักษ์ สังข์แปลงกายเป็นเขียดอีโม้ไปอยู่ในถังน้ำของนางยักษ์ที่ตักไปจะต้มสินไซกินเป็นอาหาร แล้วกระโดดลงไปในกระทะนั้น ขณะที่น้ำกำลังร้อนขึ้นจึงทำให้กระทะคว่ำลง หมู่ยักษ์ต่างกระโดดหนีไป ฝ่ายสีโหได้โอกาสจึงยื่นดาบและศรให้สินไซในกรงขัง สินไซก็ใช้ตัดกรงขังออกมาได้ แล้วต่อสู้กับยักษ์เป็นสงครามใหญ่ครั้งที่สอง สินไซไม่อยากรบจึงขอเจรจายุติศึกเพราะไม่ได้โกรธแค้นใคร ฝ่ายยักษ์กลับยิ่งโกรธจึงยกภูเขาขว้างใส่แทน สินไซจึงแผลงศรไปต้าน ฝ่ายสังข์กระโดดกัดยักษ์ และสีโหคำรามก้องเสียงดังไปถึงชั้นพรหมเลยทีเดียว ยักษ์นั้นยิ่งตายมากยิ่งเกิดใหม่มากขึ้น พระอินทร์จึงต้องลงมาเรียกทั้งสองฝ่ายมาเจรจาโดยใช้ “หลักการแบบเจ้าโคตร” คือ หนึ่งไม่ชี้ว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก สอง ทุกชีวิตก็รักชีวิตตน ดังนั้นไม่ควรเบียดเบียนชีวิตของผู้อื่น ให้ระงับการจองเวรกันและกัน อย่าใช้ความเก่งกล้าสามารถไปก่อเวร และสาม ควรประนีประนอมสมานฉันท์ เพราะทุกฝ่ายล้วนเป็นญาติพี่น้องกัน ให้รักษาความเป็นญาติพี่น้องต่อไป รักษาประเพณีอันดีงามนี้ต่อไป ทั้งสองฝ่ายตกลงตามนี้ จากนั้น ยักษ์กุมภัณฑ์ก็กลับเมืองพร้อมกับนำทรัพย์สินเงินทองมาสู่ขอนางสุมนทาตามประเพณี ท้าวกุดสะราดยินดียกให้แล้วทั้งสองนครก็จะมีความสุขสงบต่อไป
ก่อนแยกย้ายกันกลับเมืองสินไซได้ประทานโอวาทเรื่องทศพิธราชธรรมแก่นักปกครองทั้งหลาย ต่อมาสีโห ขอลาไปอยู่ป่าตามธรรมชาติของตน
ฝ่ายนางอุดรกุรุทวีปได้โอรสชื่อว่า “สังขราชกุมาร” ส่วนนางศรีสุพรรณได้ลูกสาวชื่อ “สุรสากุมารี” ต่อมาทั้งคู่ได้อภิเษกสมรสกัน และได้ครองเมืองต่อจากสินไซผู้เป็นพระราชบิดา นครเป็งจาลจึงร่มเย็นเป็นสุขสืบไป
..................................................................................
เรื่องราวฉบับของท้าวปางคำจบลง โดยบอกว่า
“สินไซ”คือ “พระพุทธองค์”
“ ท้าวทั้งหก” คือ “พระเทวทัต”
“สังข์” คือ “พระสารีบุตร”
“สีโห” คือ “พระโมคคัลลานะ”
“ ยักษ์กุมภัณฑ์” คือ “พญามาร” ที่ขี่ช้างมารบกวนพระพุทธองค์นั่นเอง