ประวัติพระนางจามเทวี :
ปฐมกษัตริย์จักรพรรดินีของราชอาณาจักรหริภุญชัย
**************************
กำเนิดหญิง วี
พระนางจามเทวี ตอนกำเนิดเป็นเด็กหญิง วี ที่ท่านพระฤๅษีวาสุเทพได้บันทึกไว้ในสุพรรณบัฏ เราสุเทพฤๅษีแห่งอุจฉุตบรรพต (เขาไร่อ้อยหรือดอยสุเทพ) ณ ระมิงค์นคร(เชียงใหม่) ขอจารึกกำเนิดของกุมารีนามว่า วี มาให้มวลนิกรทั้งหลายได้รู้แจ้งดังนี้ กุมารน้อยนี้ พญาปักษีพามาจากบุรพนคร เราจึงช่วงชิงเอาไว้ ณ สุวรรณบรรพต (ดอยคำ) ใกล้อาศรมแห่งปู่ย่าผู้บรรพบุรุษ พญาปักษีได้ปล่อยกุมารีตกลงมาท่ามกลางต้นปทุมสระหลวง เราจึงได้สักการะอธิษฐาน กุมารีนี้จึงลอยขึ้นบน วี วันนี้ก็เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง ปีมะโรง พุทธศก ๑๑๗๖ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๕ วันพฤหัสบดี ปีมะโรง ตรงกับเดือน ๗ เหนือ ออก ๑๕ ค่ำ ปีสีฯ
ดวงชะตาเจ้าแม่แปลกประหลาด
ตามเกณฑ์ดวงชะตาเจ้าแม่จามเทวีแปลกประหลาด จึงได้ให้นักพยากรณ์ลองผูกดวงดู ตามทัศนของพระฤๅษีกล่าวว่า เกณฑ์เลขชะตาเจ็ดตัว วันกำเนิดก็ ๕ เดือนก็ ๕ ปีก็ ๕ ยังขึ้น ๑๕ ค่ำอีก ด้วย กุมารนี้ประมาณชันษาได้ ๓ เดือนแล้ว ด้วยเหตุฉะนี้เราจึงกระทำพิธีมงคลนามตามกำเนิดเพื่อความเป็นสิริมงคล เราได้ทราบด้วยญาณว่า กุมารีนี้เป็นบุตรีของชาวบ้านหนองดู่ ในบุรพนคร (ต่อมาเปลี่ยนเป็นหริภุญชัย) เราจึงมอบให้ กากะวานรและบริวารเลี้ยงกุมารีน้อยนี้ ณ สุวรรณบรรพต และได้สอนศิลปวิทยาให้จวนจบชนมายุได้ ๑๓ ปี เป็นเวลาที่กุมารีนี้จักได้มาช่วยอุปถัมภ์กำราบ อริราชศัตรู ณ แคว้นเขมรัฐ อันกุมารีนี้ยังจักเป็นคู่เสน่หาของเจ้าชายเขมรัฐ ซึ่งเดินหลงทางพนาเวศไปยังเราเมื่อ ๔ ปีโน้น จึงได้ทำพิธีประกอบนาวายนต์ให้กุมารี พร้อมทั้งกากะวานร และบริวารรวม ๓๕ ตัว เดินทางโดยลำน้ำระมิงค์(แม่น้ำปิง)ถึงกรุงละโว้ธานีตามตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวี เกิดที่ บ้านหนองดู่ หริภุญชัย ไปเติบโตที่ละโว้ (ลพบุรี) ได้มาครองเมืองลำพูนตามคำเชิญของพระฤๅษี จึงได้เป็นกษัตริย์องค์แรกของเมืองลำพูน พระนางจามเทวี เป็นบุตรีของท่านเศรษฐี นามว่า อินตา มารดา..ไม่ปรากฏนาม เป็นชาวเม็ง (มอญ) ราษฎรบ้านหนองดู่ (อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) พระนางจามเทวีเกิดเวลาจวนจะค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะโรง ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พุทธศักราช ๑๑๗๖ ในระหว่างอายุได้ประมาณ ๓ เดือน กำลังนอนเบาะ ได้มีนกใหญ่ตัวหนึ่งบินเข้ามาโฉบเอา พระนางจามเทวี ขณะที่พ่อแม่ไปธุระขึ้นบนท้องฟ้า พระนางจามเทวี ได้ร่วงหล่นลงมายังกลางสระบัวหลวง ร่างของพระนางก็ค้างอยู่บนกอบัวเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง พระฤๅษีเกิดไปพบเข้าจึงนึกในใจว่า ทารกนี้มีเหตุการณ์อย่างประหลาด ชะรอยจักไม่ใช่ทารกธรรมดาสามัญ เห็นทีจะมีบุญญาธิการสูงส่ง จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ผิว่าทารกหญิงคนนี้ ประกอบด้วยบุญญาธิการ จะได้เป็นใหญ่ในเบื้องหน้าแล้วไซร้ ขอให้ วี ของเรานี้รองรับร่างของทารกไว้ได้โดยมิต้องร่วงหล่นเถิด และเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนักเมื่อเราเอา วี (วี แปลว่า พัด) ยื่นไปช้อนร่างทารกน้อยวัย ๓ เดือน ก็สามารถอยู่บน วี อย่างอัศจรรย์ จึงเลยให้นามทารกนี้ว่า หญิงวี
สู่ละโว้ธานี
ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี พระฤๅษีได้จัดส่งพระนางไปตามลำน้ำปิงพร้อมกับมีวานรจำนวน ๓๕ ตัว ติดตามไปด้วย เมื่อพระนางไปถึงท่าฉนวนหน้าวัด (เชิงท่าตลาดลพบุรี อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี) นาวายนต์ก็ลอยวนไม่เคลื่อนที่ไปทางใดจนกระทั่งรุ่งแจ้ง ประชาชนพลเมืองเมื่อได้เห็นต่างโจษขานกันอึงคะนึง บ้างก็เข้าไปพยายามดึงนาวาเข้าฝั่ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงได้รีบแจ้งแก่เสนาบดี และก็ได้รับทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระเจ้ากรุงละโว้ดังกล่าว กษัตริย์ทั้งสองแห่งกรุงละโว้ ก็ทรงตื้นตันด้วยความเวทนาในธิดายิ่งนัก เสด็จมารับเอาไปเป็นบุตรี อยู่ได้ ๓ วัน ก็จัดให้มีงานฉลอง และเจิมพระขวัญพระราชธิดา ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระราชธิดาเอก แห่งนครละโว้ และให้ปุโรหิตจารึกพระนามลงในแผ่นสุพรรณบัฏว่า เจ้าหญิงจามเทวี ศรีสุริยะวงศ์ บรมราชขัติยะนารีรัตนกัญญาละวะบุรี ราเมศวร เป็นรัชทายาทแห่งนครละโว้ในวารดิถีอาทิตยวาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๑๙๐ เมื่อสิ้นพระกระแสพระราชดำรัสก็ได้ยินเสียงถวายพระพรพระธิดากันเซ็งแซ่ พระนางจามเทวี มีพระราชดำรัสตอบว่า ข้าฯ ขอกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันพิทักษ์รักษากรุงละโว้ว่า ข้าฯ จะเป็นมิตรที่ดีต่อท่านทั้งหลาย จะขอปกปักษ์พิทักษ์รักษาอาณาจักรละโว้ด้วยชีวิต จะปฏิบัติทุกอย่างที่จะหาความสุขให้ทั่วพระราชอาณาจักรแห่งนี้ เมื่อกระแสพระราชดำรัสจบลง เสียงปี่พากย์มโหรีก็บรรเลงขึ้น ชาวประชาก็ถวายพระพร ขอให้เจ้าหญิงจงทรงพระเจริญๆ ๆ แล้วข้าวตอกดอกไม้ของหอมก็ถูกโปรยทั่วบริเวณ พระพิรุณก็โปรยปรายความชุ่มเย็นจากฟากฟ้าเป็นละอองทั่วกรุงละโว้ เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง
ทรงหมั้นกับเจ้าชายรามราช
เมื่อพระนางจามเทวี อายุได้ ๒๐ ปี ในวันพฤหัสบดี ข้างขึ้น เดือน ๖ พุทธศักราช ๑๑๙๖ ชาวกรุงละโว้ (ลพบุรี) ก็มีพระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีหมั้นระหว่างเจ้าชายรามราช(เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจักวัติของกรุงละโว้ธานีกับพระอัครมเหสี ได้เป็นมหาอุปราชวังหน้าดูแลเมืองหน้าด่านของละโว้ คือ เมืองรามบุรีนั้นเอง)กับเจ้าหญิงจามเทวี ในวันรับหมั้นก็มีมหรสพสมโภชเอิกเกริก บรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายก็ส่งเครื่องบรรณาการกันอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง
เกี่ยวกับความมีพระสิริโฉมงดงามของพระนางจามเทวีนั้น มีคำพรรณนาถึงความงามของพระนางจามเทวีไว้ดังนี้ว่า ดวงพระพักตร์เป็นรูปไข่ พระเนตรดำซึ้งเป็นแวววาวและต้องผู้ใดแล้วยังผู้นั้นให้งงงวยไปด้วยพิษเสน่หา พระขนงโก่งเรียวยาวประดุจคันธนูขณะน้าวสาย พระนาสิกโด่งคมสันรับกับพระพักตร์ ริมพระโอษฐ์แดงระเรื่อดุจชาดป้าย พระทนต์เรียบขาวสะอาดเป็นเงางามดุจไข่มุก ขณะยุรยาตรพระวรกายอันอ่อนไหวให้ชวนพิศ เวลาก้าวพระบาทนั้นประดุจพระนางหงส์เมื่อเยื้องย่างกราย พระวรกายหอมดังกลิ่นดอกบัวหลวง หาสตรีใดเทียบมิได้
เจ้าชายแห่งพม่าเสียใจความรักไม่สมหวัง
อันความงามของเจ้าหญิงเลื่องลือไปทุกแคว้น จนกระทั่งเจ้าชายผู้เป็นพระราชโอรสพระเจ้ากรุงโกสัมภี (พม่า) เกิดลุ่มหลงไม่เป็นอันกินอันนอน จนพระราชบิดาต้องแต่งเครื่องบรรณาการให้อำมาตย์เชิญพระราชสาส์นมาสู่ขอพระราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้ ในปีพ.ศ. ๑๑๙๖ ขณะนั้นเจ้าหญิงทรงรับหมั้นแล้ว จึงได้ปฏิเสธการรับหมั้น ทางฝ่ายกรุงโกสัมภีเมื่อผิดหวังก็กล่าวหาว่าละโว้บ่ายเบี่ยงก็เคืองแค้นอยู่ในใจ ในราวเดือนอ้าย ปลายปีพุทธศักราช ๑๑๙๖ เจ้าชายแห่งเมืองโกสัมภีแห่งพม่าในสมัยโน้น ก็ยกทัพใหญ่ เพียบพร้อมด้วยพระประยูรญาติทั้งหลาย และทางเมืองกาลิงครัฐซึ่งเป็นเมืองใหญ่ในยุคนั้นก็รวมกำลังเป็นทัพกษัตริย์เข้าบุกละโว้ทันที
ที่นครรามบุรี เมืองหน้าด่านของอาณาจักรละโว้ บัดนี้รายล้อมไปด้วยทัพใหญ่ล้วนเป็นทัพกษัตริย์ทั้งนั้น คือ แม่ทัพล้วนแต่เป็นราชโอรส ราชนัดดา หรือเจ้าผู้ครองทั้งนั้น ทุกกองจะมีกองหน้า กองหลวง กองหลัง เต็มอัตราศึก แสนยานุภาพของโกสัมภีและกาลิงครัฐก็พุ่งเข้าบดขยี้นครรามบุรีอย่างบ้าคลั่ง น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ นครรามบุรีรีบแจ้งข่าวศึกใหญ่มายังกรุงละโว้ กษัตริย์ละโว้ทรงทราบก็ตกพระทัยนั่งอึ้งมิอาจตรัสสิ่งใดได้ ทั่วท้องพระโรงเงียบกริบ!
ศึกชิงนาง : พระนางจามเทวีอาสาออกศึกสงครามกับพม่า
ในการออกสงครามกับพม่าครั้งนี้ ทางฝ่ายพระบิดาพระมารดาและพระนางต่างปรึกษาหารือกันอยู่เป็นเวลานาน กว่าจะตกลงกันได้ ในที่สุดก็ตกลงมอบหน้าที่ภาระหน้าที่อันหนักอึ้งและยิ่งใหญ่นี้ให้พระนางจามเทวีเป็นแม่ทัพออกศึกสงครามกับพม่า เพราะพระฤๅษีสั่งไว้ว่า พระราชธิดานี้จะมาช่วยบำราบอริราชศัตรู และจากเหตุการณ์ที่ล่วงมาก็แสดงว่า พระราชธิดานี้มีบุญญาธิการแก่กล้านักเห็นทีศัตรูจะทำอันตรายมิได้เป็นแน่ จึงตกลงอนุญาตและถามเจ้าหญิงว่าจะเดินทัพเมื่อไร เจ้าหญิงทูลว่าจะไปวันนี้ เจ้ากรุงละโว้ก็ให้อำมาตย์ไปอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเข้ามายังพระอารามหลวงโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อพิธีเจิมเฉลิมชัยเจ้าหญิงเสร็จแล้ว เจ้าหญิงทรงรับสั่งให้ขุนศึกทั้งหลายเตรียมทัพ และให้พี่เลี้ยงทั้งสองจัดทัพหน้าหญิง ๕๐๐ คน ชาย ๑,๐๐๐ คน กับกากะวานรและวานรที่ติดตามมาตั้งแต่ระมิงค์นครทั้ง ๓๕ ตัว เมื่อทำพิธีทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย พระนางตรัสว่าเพื่อปิตุภูมิเราจะขอทำหน้าที่และยอมสละชีวิตก่อนท่านทั้งหลาย และศึกครั้งนี้หนักหนานัก เป็นศึกกษัตริย์อันมิควรจะพบกันบ่อยครั้ง บรรดาแม่ทัพของเขาล้วนแต่เป็นพระโอรสและราชนัดดาของนครต่างๆ ทั้งโกสัมภี และกาลิงครัฐ พระนางประกาศว่าถ้าผู้ใดมิเต็มใจไปราชการด้วยครั้งนี้ เราจะมิเอาโทษทัณฑ์ประการใด จะปลดปล่อยทันที เมื่อรับสั่งจบบรรดาเหล่าทหารก็โห่ร้องถวายพระพรกันเซ็งแซ่ ทุกคนขอปฏิญาณว่าจะขอตายเพื่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ทั้งนั้น
ทันทีนั้นท้องฟ้าก็แจ่มใสเป็นศุภนิมิตอันดี กษัตริย์กรุงละโว้ก็ทรงมอบพระแสงอาญาสิทธิ์แก่เจ้าหญิง ทันใดนั้นธงชัยประจำตัวแม่ทัพก็สะบัดชายให้เห็นพื้นธงสีฟ้าริมขาว ส่วนกลางของธงซึ่งมีรูปมงกุฎราชกุมารีลอยอยู่เหนือดวงอาทิตย์โบกสะบัดอยู่ไปมาติดตามแม่ทัพอย่างกระชั้นชิด เมื่อเดินทัพมาใกล้นครรามบุรี เจ้าหญิงจึงทรงอักษรไปยังเจ้ารามราช(พระคู่มั้นของพระนางเอง) ว่า หญิงมาช่วยเจ้าพี่แล้ว! ขอให้เจ้าพี่ทิ้งเมืองเสียเถิด ให้อพยพชาวเมืองลงมาก่อน แล้วให้เจ้าพี่รับทำหน้าที่นำทัพมาพ้นเทือกเขาขุนกาฬบรรพต เป็นกลลวงให้สละเมือง(ทิ้งเมือง)ในระหว่างที่มีการสู้รบกันอยู่นั้นก็ให้พลเมืองต่างก็พากันหนีออกจากเมืองจะได้ปลอดภัย เมื่อทัพโกสัมภียึดนครได้ก็กลายเป็นนครร้างเสียแล้ว เพราะราษฎรอพยพกันหมดสิ้น แล้วทัพโกสัมภีก็บุกตามตีไล่ล่าจนมาประจัญหน้ากันที่ภูเขากาฬบรรพต ตรงกึ่งกลางระหว่างกรุงละโว้กับรามบุรี ต่างฝ่ายต่างมีอาหารการกินร่อยหรอลงไป เจ้าหญิงก็ทรงพระอักษรขึ้น ๑ ฉบับ ส่งให้โอรสแห่งโกสัมภีว่า อันสงครามครั้งนี้เหตุก็เกิดจากเรื่องส่วนตัวระหว่างเจ้าพี่กับหม่อมฉัน มิควรที่จะให้ชีวิตของทวยราษฎร์ทั้งหลายจักต้องมาล้มตายกัน จะเป็นที่ครหานินทาแก่หมู่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายเปล่าๆ ขอเชิญเจ้าพี่แต่งกายทหารมาทำการสู้รบกันตัวต่อตัวให้เป็นขวัญตาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเถิด จอมทัพแห่งโกสัมภีเมื่อรับพระราชสาส์นจากเจ้าหญิง จึงได้ทรงทราบว่าสตรีที่ตนรักเป็นจอมโยธาจะต้องมาประหัตประหารกัน ก็ทรงวิตกไปหลายประการและก็แว่วว่าเจ้าหญิงทรงเป็นศิษย์พระฤๅษี ผู้มีคาถาอาคมก็คงจะเชี่ยวชาญ มิฉะนั้นไหนเลยจะกล้าหาญมาเป็นแม่ทัพต่อจากนั้นอีกสองวันทั้งสองฝ่ายก็จัดแม่ทัพออกสู้กันตัวต่อตัว ล่วงไปได้ ๖ วันในการต่อสู้กันนั้น ขุนศึกโกสัมภีตาย ๒ คน ละโว้ตาย ๑ คน และในวันที่ ๗ จอมทัพโกสัมภีจะต้องต่อสู้กันตัวต่อตัวกับละโว้ เจ้าหญิงก็นึกถึงบิดา พระฤๅษีวาสุเทพ เสี่ยงสัจจะอธิษฐานในบุญกรรม และแล้ววันรุ่งขึ้นก็ย่างมาถึง
วันนี้เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ กลองศึกถูกรัวเร้าจังหวะ กองทัพทั้งสองก็มาประจันหน้ากัน ณ สนามรบ ขณะที่ทางโกสัมภีตกตลึงเมื่อได้เห็นความงามของพระนางจามเทวี พระนางจึงตรัสว่า เจ้าพี่มัวยืนเหม่ออยู่ด้วยเหตุอันใด หม่อมฉันขอเชิญเจ้าพี่มาประลองฝีมือกัน อย่าให้ทหารทั้งหลายต้องพลอยยากลำบากด้วยเราเลย เจ้าชายได้สติจึงเอ่ยขึ้นว่า การศึกครั้งนี้ใยพระนางต้องทำพระวรกายมาให้เปรอะเปื้อนโลหิตอันมิบังควรสำหรับสตรีเพศ หรือว่าละโว้นั้นสิ้นแล้วหรือซึ่งผู้ชายชาตรีเจ้าหญิงตรัสว่า อันละโว้จะสิ้นซึ่งชายชาตรีนั้นหามิได้ แต่ว่าหม่อมฉันเป็นราชธิดาแห่งเสด็จพ่อเสด็จแม่ เป็นเอกธิดาภายใต้เศวตฉัตร อันสตรีก็มีใจ บุรุษก็มีใจ ผิว์ว่าหม่อมฉันพลาดพลั้งเจ้าพี่ก็เอาชีวิตหม่อมฉันไปเถิด ถ้าเจ้าพี่พลาดพลั้งก็ขอได้โปรดอภัยให้แก่หม่อมฉันด้วย เมื่อต่างฝ่ายต่างโต้คารมกันไปมานานพอสมควรก็ใกล้เที่ยงวัน เจ้าชายโกสัมภีก็ตรัสขอเชิญเจ้าหญิงพักเหนื่อยกันก่อนเถิด บ่ายอ่อนเราจึงมาต่อสู้กันใหม่ เจ้าหญิงก็ทรงเห็นด้วยครั้นแล้วเวลานั้นก็มาถึง ทั้งสองเจ้าก็เริ่มประดาบกันใหม่ภายใต้ร่มโพธิ์อันร่มรื่น เจ้าหญิงทรงยืนเป็นสง่า ทั้งคู่ต้องมาประหัตประหารกันด้วยหน้าที่ เมื่อปี่ชะวาครางขึ้น ทั้งคู่ก็เริ่มเข้าประหารกันอีก เมื่อดาบทั้งสี่เริ่มกระทบกันจากช้าเป็นเร็ว ต่างฝ่ายผลัดกันรับและรุกเป็นเวลานาน คนดูต่างใจหายใจคว่ำ ครั้นแล้วเจ้าชายก็เสียเชิงถูกพระแสงดาบเจ้าหญิงเฉี่ยวเข้าที่พระกรก็ตกใจชักม้าเบนห่าง กากะวานรเห็นดังนั้นก็พุ่งเข้าคว้าธงไชย จอมทัพโกสัมภีเข้าหักยับด้วยกำลัง ทหารทั้งปวงก็อลหม่านทั้งไพร่และนายแตกตื่นกันชุลมุน กองทัพโกสัมภีก็แตกร่นไม่เป็นขบวน ต่างชิงหนีเอาตัวรอด ทหารละโว้ตามตีไม่ลดละจึงต้องหนีทั้งกลางวันและกลางคืนเจ้าชายแห่งโกสัมภีแค้นพระทัยที่เสียรู้ ทรงเสียพระทัยอย่างหนัก เสียทัพยับเยิน จะอยู่ไปใยให้ขายหน้าและสุดที่ผู้ใดจะช่วยทัน ด้วยทิฐิมานะแห่งขัติยะ ก็ทรงเอาพระแสงดาบเชือดเฉือนพระศอของตนเองจนสิ้นชีพตักษัย ทันใดก็มีเสียงร้องต่อๆ กันว่า เจ้าชายโกสัมภีสิ้นพระชนม์ฯ ขอให้ทหารทุกคนยอมอ่อนน้อมต่อละโว้เถิด มีเสียงบอกต่อๆ กันจนฟังให้อึงคะนึงไปหมด เจ้าหญิงจึงประกาศให้ทัพฝ่ายกรุงละโว้ปลดอาวุธทางโกสัมภี แล้วเจ้าหญิงก็ยุติการสู้รบและให้ทั้งสองฝ่ายตรวจตราความเสียหาย เจ้าหญิงทรงพระบัญชาให้ทหารรีบไปเอาปรอทยังนครสุวรรณบรรพต และให้ต่อพระศอเจ้าชายโกสัมภีแล้วกรอกปรอทบรรจุพระศพเจ้าชายโกสัมภีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ทหารนำศพกลับเมืองโกสัมภี เป็นอันว่าสงครามรักสะเทือนใจทั้งสองนครก็ยุติฯ
เสร็จสงครามเจ้าจามเทวีก็อภิเษกสมรส
เมื่อเหตุการณ์ทั้งหลายสงบเรียบร้อย พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีก็ทรงดำริว่า สมควรจัดให้ราชธิดากับเจ้าชายรามราชทรงอภิเษกสมรส ทางเจ้ากรุงละโว้ทรงให้เขียนประกาศแจ้งไปยังหัวเมืองต่างๆ อย่าให้เมืองใดขาดได้ เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีตรงกับวันข้างขึ้นเดือน ๖ ปีขาล พุทธศักราช ๑๑๙๘ พระนางจามเทวีกับเจ้าชายรามราช ก็ได้อภิเษกสมรสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็มีพระราชพิธีมอบราชสมบัติ อัญเชิญเจ้ารามราช ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครองนครกรุงละโว้เพื่อเป็นมิ่งขวัญชาวละโว้ต่อไป
ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย
เมืองหริภุญชัย สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๑๒๐๔ โดยวาสุเทพฤาษี (สุเทวฤาษี) เป็นผู้สร้างเพราะเห็นว่ามีชัยภูมิดี เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับ และได้รวบรวมชาวบ้านผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในละแวกนั้น ให้อยู่รวมกันและปรึกษากับสุกกทันตฤาษีผู้เป็นสหาย ให้หาผู้ที่เหมาะสมมาครองเมือง ในที่สุด จึงตกลงขอพระนางจามเทวี พระธิดาของพระยาจักวัติแห่งกรุงละโว้ (ลพบุรี) และเป็นพระมเหสีของเจ้าเมืองรามบูรณ์ (หรือรามบุรี อยู่ใกล้เมืองละโว้) มาครองเมืองหริภุญชัย ซึ่งขณะนั้น พระนางจามเทวีทรงมีพระครรภ์ได้ ๓ เดือน ระหว่างการเดินทาง พระนางจามเทวีทรงสร้างพระอาราม ณ บริเวณบ้านระมักและสร้างวัดกู่ระมักขึ้นเป็นแห่งแรกพระนางจามเทวี พร้อมด้วยบริวารได้เดินทางมาหริภุญชัย ใช้เวลานาน ๗ เดือน พระนางทรงนำเอาพระแก้วขาว (เสตังคมณี) ซึ่งสร้างขึ้นที่เมืองละโว้ประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ มาด้วย (ปัจจุบันพระแก้วขาวองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่) วาสุเทพฤาษี และสุกกทันตฤาษี พร้อมด้วยชาวเมืองได้อัญเชิญพระนางจามเทวีนั่งบนกองทองคำ (กองหญ้าแพรก) แล้วทำพิธีราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๖
ประสูติพระโอรสฝาแฝด
หลังจากพระนางจามเทวีครองเมืองได้ ๗ วัน ก็ประสูติพระโอรสฝาแฝด ๒ พระองค์ ในวันเพ็ญเดือน ๓(วันมาฆบูชา) พระโอรสองค์พี่มีพระนามว่า "มหันตยศ" องค์น้องพระนามว่า"อนันตยศ" หรือ "อินทวระ" พระนางจามเทวีได้นำขนบธรรมเนียมประเพณีอารยธรรมต่างๆ ของละโว้เข้ามาเผยแพร่ และได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ให้ชาวเมืองดำรงตนยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ด้วยอำนาจบุญบารมีของพระนาง จึงได้ช้างเผือกดั่งสีเงินยวง (ใสบริสุทธิ์) งาทั้งสองข้างมีสีเขียวเรียกว่า "ผู้ก่ำงาเขียว" (ช้างพลายผู้มีผิวกายเปล่งปลั่งและมีงาสีเขียว ซึ่งภาษาเหนือเรียกว่าปู๊ก่ำงาเขียว ) จากเชิงเขาอ่างสลุง (อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่) มาเป็นช้างพระที่นั่งคู่บารมี
ในรัชกาลของพระองค์นั้น นครหริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ประชาราษฎรต่างอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข พระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุงอย่างดียิ่ง ตามตำนานได้กล่าวว่า พสกนิกรต่างมีใจศรัทธาสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนถึง 2,000 แห่ง และกาลต่อมาวัดทั้ง 2,000 แห่งก็มีภิกษุจำพรรษาทุกแห่ง อนึ่ง ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ในด้านการป้องกันเมือง พระนางจามเทวีได้จัดให้มีด่านชายแดนอาณาจักรไว้ที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยว (ปัจจุบันบริเวณหมู่บ้านกอกและทุ่งสามเสี้ยว เขตอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่) และโปรดฯ ให้มีการซ้อมรบเพื่อการเตรียมความพร้อมของกองทัพ โดยทรงออกอุบายให้ด่านที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยวแกล้งตั้งตัวเป็นกบฏและทรงมีรับสั่งให้จัดทัพไปปราบ ปรากฏว่าฝ่ายพระนครชนะศึก ทว่าในการซ้อมรบดังกล่าวก็มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเพราะต่างฝ่ายต่างไม่รู้กัน พระนางจึงทรงปูนบำเหน็จความชอบให้แกผู้รอดชีวิต และทรงอุปถัมภ์ครอบครัวของทหารที่ตายในการสู้รบครั้งนี้ให้เป็นสุขต่อไป อนึ่ง ในตำนานยังกล่าวว่า พระนางจามเทวีได้ทรงทำพิธีบวงสรวงเทวดาขอช้างศึกประจำพระนคร ด้วยทรงมีพระดำริว่า เวลานี้พระโอรสทั้ง ๒ ก็ยังเยาว์พระชันษาอยู่ ถ้ามีข้าศึกมาเบียดเบียนจะเป็นการลำบาก ช้างศึกดังกล่าวนั้นคือ "ช้างภู่ก่ำงาเขียว" ซึ่งกล่าวกันว่ามีอานุภาพยิ่ง เพราะหากใครไปยืนเบื้องหน้าช้างในยามใกล้เที่ยงก็จะเกิดมีอันเป็นไปต่างๆ ถ้าไม่บวงสรวงด้วยข้าวตอกดอกไม้เสียแล้วก็อาจถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว ช้างดังกล่าวนี้นับเป็นกำลังสำคัญของพระองค์ในการรบกับชาวลัวะในกาลต่อมาด้วย
พระโอรสฝาแฝดปราบขุนวิลังคะ
ด้วยพระนางจามเทวีทรงเป็นจอมกษัตริย์ผู้ทรงปกครองนครหริภุญชัยที่รุ่งเรือง ทั้งพระนางเองก็ทรงมีพระรูปเลอโฉม พระปรีชาญาณหลักแหลม เป็นที่สรรเสริญแก่บรรดาประเทศใหญ่น้อยทั่วไป บรรดาเจ้าครองนครหลายองค์จึงใคร่จะได้พระนางไปเป็นพระมเหสี โดยเฉพาะ ขุนวิลังคะ ผู้นำชาวลัวะ ซึ่งส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการถึง 500 สาแหรก มาถวายสาส์นทูลเชิญพระนางเสด็จไปเป็นพระมเหสีแห่งระมิงค์นคร(เชียงใหม่) ซึ่งบางตำนานว่าตกในราวๆ ต้นปี พ.ศ. 1226 เมื่อพระนางทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ทูตลัวะก็กราบบังคมทูลอย่างวางอำนาจว่าข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า ขุนแห่งข้าพเจ้ามีนามว่าวิลังคราชอยู่ทิศดอยละวะโพ้น เป็นใหญ่กว่าลัวะทั้งหลาย ใช้ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายนำเครื่องบรรณาการมาถวายพระนางบัดนี้ โดยเหตุที่ขุนวิลังคราชมีความรักใคร่ในพระเทวีเป็นเจ้า จักเชิญพระแม่เจ้าไปเป็นอัครมเหสีพระนางจามเทวีตรัสถามว่า ดูกรท่านอำมาตย์ เรายังไม่เคยได้เห็นขุนผู้นั้นแม้สักหนเดียวเลย ขุนผู้นั้นหน้าตาเป็นอย่างใดเล่าทูตลัวะทูลตอบว่า ขุนแห่งข้าพเจ้านั้นรูปร่างหน้าตาก็เหมือนดังตัวข้าพเจ้านี้แหละพระนางจึงทรงมีรับสั่งว่า ผิว่าขุนแห่งท่านมีหน้าตาเหมือนดังท่านแล้ว อย่าว่าแต่มาเป็นผัวเราเลย แม้แต่มือเราก็ไม่จักให้ถูกต้อง ท่านจงรีบไปเสียให้พ้นจากเรือนเราเดี๋ยวนี้แล้วทรงขับไล่ทูตลัวะออกไปเสียจากพระนคร ขุนวิลังคะได้ทราบเช่นนั้นก็บังเกิดความโกรธอย่างรุนแรง แต่ก็ส่งสาส์นเกลี้ยกล่อมอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่า พระนางยังไม่ตัดสินพระทัยเสด็จไปยังระมิงค์นครเพราะพระนางเพิ่งมีพระประสูติกาลพระโอรส พระวรกายยังไม่บริสุทธิ์พอจะทรงรับการอภิเษกเป็นพระมเหสีแห่งชาวลัวะได้ ขอให้รอไปก่อน ขณะเดียวกันภายในเมืองหริภุญชัยพระนางจามเทวีก็โปรดฯ ให้สั่งสมเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเตรียมกำลังทหารให้พร้อมรบที่สุด ทางฝ่ายขุนวิลังคะได้รับคำตอบเช่นนั้นก็เบาใจและรั้งรออยู่อย่างนั้น บางตำนานว่าหลงกลรอต่อไปเป็นเวลานานถึง 7 ปีในที่สุดขุนวิลังคะก็นำทัพเข้าล้อมเมืองด้วยทหารจำนวนถึง 80,000 คน พระนางจามเทวีทรงมีพระราชโองการให้พระโอรสทั้งสองซึ่งเจริญพระชมมายุได้ 7 พรรษาแล้วขึ้นประทับเหนือช้างผู้ก่ำงาเขียวนำทัพออกศึก โดย พระมหันตยศไประทับคอช้าง พระอนันตยศประทับกลางช้างภู่ก่ำงาเขียว กองทัพของหริภุญชัยมีจำนวนเพียง 3,000 คน แต่เมื่อกองทัพของทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากัน พลรบชาวลัวะก็ให้บังเกิดอาการหน้ามืดตามัวหมดกำลัง เพราะเผชิญหน้ากับช้างภู่ก่ำงาเขียวในเวลาเที่ยงวันพอดี จนในที่สุดไม่มีผู้ใดทนได้ก็พากันแตกทัพอลหม่านโดยไม่ทันได้สู้รบทิ้งอาวุธและสิ่งของไว้เป็นอันมาก พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้ชาวพระนครพากันออกไปรวบรวมสิ่งของเหล่านั้นไปเป็นของตนเองเสีย ทำเลที่ทหารลัวะทิ้งของไว้นั้นจึงมีชื่อว่า ลัวะวาง ในกาลต่อมาหลังจากนั้น พระนางจามเทวีจึงเสด็จไปยังระมิงค์นครในฐานะผู้ชนะศึก เพื่อทรงช่วยเหลือบำรุงขวัญประชาชนให้กลับเป็นปกติสุขอีกครั้ง จากนั้นจึงพระราชทานเอกราชให้แก่ชาวระมิงค์นครมิให้ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของหริภุญชัยเป็นการแสดงพระกรุณา โดยจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฎเมื่อวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ. 1230
ในตำนานจามเทวีวงศ์มีขยายความเรื่องเกี่ยวกับลัวะต่อไปอีกคือ ภายหลังการสงครามขุนวิลังคะในหลายปีถัดมา พระมหันตยศและพระอนันตยศ ก็ทรงได้พระธิดาขุนวิลังคะเป็นชายาด้วย ดังนั้นพระนางจามเทวีจังทรงมีพระสุณิสา(สะไภ้)ลำดับแรกเป็นเจ้าหญิงชาวลัวะ
เรื่องเผชิญพวกลัวะนี้ ตำนานพื้นเมืองอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวไว้พิสดารออกไป คือ หลวงมิลังคะ (ไม่ใช่ขุนวิลังคะ) ผู้นำเผ่าลัวะเกิดหลงใหลพระสิริโฉมแห่งพระนางจามเทวีจนไม่เป็นอันกินอันนอน จึงได้แต่งทูตมาสู่ขอ แต่พระนางจามเทวีไม่ทรงสนพระทัยและไม่ให้คำตอบใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเหตุให้หลวงมิลังคะยกไพร่พลมาประชิดเมือง พระนางจึงทรงพระดำริว่า ถ้าจะรบกับหลวงมิลังคะบ้านเมืองคงย่อยยับแน่ จึงออกอุบายแก่หลวงมิลังคะว่า หากหลวงมิลังคะพุ่งเสน้า (ธนู) จากดอยสุเทพมาตกกลางเมืองลำพูนพระนางก็จะทรงตกลงเป็นพระมเหสี หลวงมิลังคะจึงดีใจถือธนูขึ้นดอยสุเทพ บริกรรมคาถาอาคมแล้วพุ่งเสน้าจากดอยสุเทพเพียงครั้งแรกก็มาตกที่นอกเมืองทางทิศตะวันตก ห่างกำแพงเมืองไปเพียงไม่กี่วาเท่านั้น สถานที่เสน้าตกนี้เรียกกันว่า หนองเสน้า เวลาต่อมาพระนางจามเทวีทรงเห็นเช่นนั้นก็หวั่นพระทัยนัก ทรงเกรงว่าหากให้มีการพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ 2 และ 3 คงจะมาตกกลางเมืองแน่ จึงทรงออกอุบายอีกครั้งหนึ่ง ให้ข้าราชบริพารนำซิ่นใน(ผ้าถุง)มาตัดเย็บเป็นหมวกส่งไปให้หลวงมิลังคะสวม ข้างหลวงมิลังคะนั้นพอได้รับของฝากจากพระนางก็ดีใจเป็นที่สุด รีบสวมหมวกนั้นแล้วลองพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ 2 และ 3 ปรากฏว่าเสน้ากลับลอยไปตกห่างจากตัวเมืองยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า จึงได้พบว่าเสียรู้และถูกทำลายคาถาอาคมเสียแล้ว เลยหมดกำลังใจที่จะพุ่งเสน้าต่อไป พระนางจามเทวีจึงมิได้เป็นราชินีของชาวลัวะด้วยเหตุดังกล่าว แต่ต่อมาชาวลัวะกับชาวลำพูนก็ยังได้มีสัมพันธ์ต่อกันบ้างในรุ่นหลังจากนั้น เมื่อช้างเผือกคู่บารมี ภู่ก่ำงาเขียวได้ล้มลง (ตายลง) พระนางจึงนำซากช้างฝังไว้พร้อมซากม้าพระที่นั่งของพระโอรสทั้งสอง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "กู่ช้าง กู่ม้า" ที่ วัดจามเทวีปัจจุบันเรียก วัดกู่กุดภายหลังสงครามขุนวิลังคะชาวลัวะได้ผ่านไปแล้ว พระนางจามเทวียังได้สร้างวัดประจำเมืองขึ้น 4 วัดเพื่อเป็นพุทธปราการ ได้แก่
1. วัดอรัญญิกกรัมมการาม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระนคร
2. วัดอาพัทธาราม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระนคร
3. วัดมหาวนาราม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระนคร
4. วัดมหารัดาราม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระนคร
สร้างเมืองเขลางค์นคร(ลำปาง)
ในตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์กล่าวว่า หลังสิ้นสงครามชาวลัวะแล้ว พระนางจามเทวีก็ได้ทรงอภิเษกพระมหันตยศซึ่งมีพระชนม์มายุ 7 พรรษาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองหริภุญชัยแทนพระนาง และอภิเษกพระอนันตยศขึ้นเป็นพระอุปราช รวมเวลาที่พระนางทรงเสวยราชย์ในกรุงหริภุญชัยได้ 7 ปี เมื่อพระมหันตยศได้เสวยราชย์แล้ว ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งพระมารดาทุกประการ นครหริภุญชัยจึงยิ่งเจริญรุ่งเรืองและร่มเย็นเป็นสุข ทว่าฝ่ายพระอุปราชอนันตยศหามีความพอพระทัยไม่ ด้วยทรงมีพระดำริว่าพระเชษฐาธิราชประสูติมาพร้อมกัน เมื่อพระเชษฐาธิราชได้เสวยราชสมบัติแล้วพระองค์ก็น่าจะได้ครองเมืองบ้าง จึงกราบทูลพระนางจามเทวีตามพระดำรินั้น เมื่อพระนางจามเทวีได้ทราบดังนั้น จึงให้บัณฑิตผู้หนึ่งพาพระอนันนตยศไปปรึกษากับสุเทวฤๅษีเรื่องการสร้างเมืองใหม่ก่อน
เมื่อสุเทวฤๅษีทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงถวายคำแนะนำแก่พระอนันตยศให้ไปไหว้ฤๅษีพุทธชฏิลที่ดอยโชติบรรพต ไปหาพรานเขลางค์ที่ดอยลุทธบรรพต และไปกราบท่านสุพรหมฤๅษี ที่ดอยเขางามริมแม่น้ำวังกะนที เพื่อขอให้ช่วยสร้างพระนครแห่งใหม่ พระอนันตยศทรงดำเนินการตามนั้นทุกอย่าง จึงได้ท่านสุพรหมฤๅษีและพรานเขลางค์ไปช่วยกันสร้างเมือง ท่านสุพรหมฤๅษีได้ตรวจดูทำเลอันเหมาะสมแล้วจึงใช้อำนาจเนรมิตเมืองใหญ่ขึ้นแห่งหนึ่ง แล้วเอาชื่อพรานเขลางค์มาตั้ง(เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอนันตยศที่มีต่อพรานเขลางค์อย่างหาที่สุดมิได้ และพระอาจารย์สุพรหมฤาษีกระทรงอนุโมทนายิ่งนักในพระราชหฤทัยของพระองค์) เรียกว่าเมืองเขลางค์นคร (ปัจจุบันคือเมืองลำปาง) จากนั้นสุพรหมฤๅษีก็ถวายการราชาภิเษกพระเจ้าอนันตยศขึ้นเสวยราชสมบัติ ของพระนครแห่งใหม่นี้ หลังจากนั้นพระนางจามเทวีจึงเสด็จมายังเมืองเขลางค์นครตามคำทูลเชิญของพระโอรส พระองค์ได้กระทำพิธีราชาภิเษกอีกครั้งอย่างมโหฬารพร้อมทั้งทรงถวายพระนามพระโอรสใหม่ว่า พระเจ้าอินทรเกิงการ และพระนางได้ประทับอยู่ที่เมืองนี้ต่ออีก 6 เดือน ตามคำทูลขอของพระอนันตยศ แต่ในจามเทวีวงศ์ว่าต้องทรงอยู่ถึง 6 ปี จึงได้เสด็จกลับเมืองหริภุญชัยตามเดิม โดยระหว่างนั้นพระเจ้าอนันตยศยังได้สร้างเมือง "อาลัมพางค์นคร"ขึ้นอีกเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆกับเขลางค์นครนั้นเอง ซึ่งมีไว้ให้พระมารดาทรงประทับและปฏิบัติธรรมได้สะดวกเมื่อมาประทับที่เขลางค์นคร
พระนางจามเทวีเสด็จสวรรคต
เมื่อพระราชโอรสทั้ง ๒ พระองค์ เจริญวัยขึ้น พระนางจามเทวี จึงสละราชสมบัติให้เจ้ามหันตยศครองเมืองหริภุญชัย(ลำพูน) และสร้างเมืองเขลางค์นคร (ลำปาง) ให้เจ้าอนันตยศไปครอง ส่วนพระนางก็บำเพ็ญศีลเจริญภาวนาปวารณาอยู่ในร่มพระพุทธศาสนาตลอดมา จนมีพระชนมายุได้ ๙๒ พรรษา จึงเสด็จสวรรคต พระเจ้ามหันตยศ ทรงจัดการพระบรมศพพระมารดาด้วยการสร้างพระเมรุในป่าไม้ยางแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับอารามวัดมาลุวาราม (วัดสันป่ายางหลวงที่พระนางจามเทวีทรงสร้างไว้) แล้วถวายพระเพลิง และสร้างสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ บรรจุพระอัฐิหุ้มด้วยแผ่นทองคำ พร้อมทั้งเครื่องประดับของพระราชมารดา ตลอดจนสร้างวัดขึ้นและขนานนามว่า "วัดจามเทวี" ต่อมายอดพระเจดีย์หักพังลงมา ชาวบ้านจึงเรียกว่า "วัดกู่กุด" หรือ วัดกู่กูด ซึ่งเป็นวัดคู่บารมีของพระนางจามเทวี ได้สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ ๑๓ เมืองหริภุญชัยมีพระนางจามเทวีเป็นกษัตริย์องค์แรกปกครองสืบๆ กันมาจนถึง ๔๙ พระองค์ มีพระยายีบาเป็นองค์สุดท้าย รวมอายุเมือง ๖๑๘ ปี พระยายีบาก็ได้เสียเมืองให้แก่พระยาเม็งรายเมื่อจุลศักราช ๖๔๓ (พุทธศักราช ๑๘๒๔) ปีมะโรง เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ
ส่วนเมืองเขลางค์นคร(ลำปาง)นั้นมีพระมหากษัตริย์สืบต่อมาหลายสิบพระองค์ เช่นเดียวกันกับหริภุญชัย และก็ได้เสียเมืองให้กับพยาเม็งราย ในพุทธศักราช ๑๘๓๘ รวมอายุเมืองเขลางค์นคร ๖๑๕ ปี(จากพ.ศ.๑๒๒๓-๑๘๓๘)
สันนิษฐานว่า!
@ เมืองรามบุรีซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของ กรุงละโว้ (ลพบุรี) ปัจจุบันคือ เมืองสระบุรี จริงๆแล้วต้องเรียก สละบุรี เพราะกลอุบายทิ้งเมือง หรือ สละเมือง หรือ สละบุรีจึงจะถูกต้องเหมาะสม เมืองนี้จึงเป็นเมืองทหารโดยเฉพาะทหารม้าตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน
@ กรุงละโว้หรือ ลพบุรีจึงมี ลิงหรือ วานรอยู่กลางกรุงหรือกลางเมืองตั้งแต่บัดนั้นมา และเป็นเมืองทหารทัพหลวงมีทั้งทหารราบ ทหารปืนใหญ่ และกองทัพพิเศษ(ในอดีตคือกองทัพลิง ซึ่งเป็นเหล่าเทวดาเดรัจฉานที่ลงมาเกิดและรับบัญชามาจากวาสุเทพฤาษีแห่งหริภุญชัยให้มาช่วยพระนางจามเทวี) ปัจจุบันหน่วยรบพิเศษก็ยังมีที่เมืองนี้แต่เป็นมนุษย์แล้ว
(...ซึ่งหากบ้านเมืองมีภาวะคับขันทหารจากสระบุรีและลพบุรีก็จะเข้ามามีบทบาทในการปราบปรามอริราชศัตรูของชาติเหมือนในอดีตเหมือนเคย...)
@ สนามรบหรือสนามประลองยุทธ์ระหว่างกองทัพโกสัมภี(พม่า) กับ กองทัพละโว้(ไทย) น่าจะเป็นร่มโพธิ์วัดพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี (สมัยโน้นยังไม่ค้นพบรอยพระพุทธบาทสระบุรี ซึ่งมาค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยานี้เอง)
@ พระวาสุเทพฤาษี(พ่อฤาษีบุญธรรมของหญิงวี และผู้สร้างเมืองหริภุญชัย) คือ พระโพธิสัตว์หรือตนบุญผู้ประเสริฐและยิ่งใหญ่ของทางเหนือ ซึ่งเกี่ยวกับดอยสุเทพและเมืองลำพูนเหมือนเดิม........ครูบา??????????.......นั้นเอง!
@ ส่วนพระสุพรหมฤาษีผู้ช่วยสร้างเมืองเขลางค์นคร (ลำปาง)พระอาจารย์ของพระเจ้าอนันตยศนั้น คือ พระโพธิสัตว์ หรือ ตนบุญผู้ประเสริฐและยิ่งใหญ่ แห่งสุสาน???.....ตุ๊เจ้า????????????...................นั้นเอง!
@ สำหรับพรานเขลางค์ ก็ได้มาเกิดเป็น "มหาราช"ของกรุงสุโขทัยในเวลาต่อมา
@ พระเจ้ารามราช หรือเจ้าชายรามราช หรือ เจ้าชายเขมรัฐ คือคนเดียวกัน(พระราชสวามีของพระแม่เจ้าฯ และพระราชบิดาของโอรสแฝด)ทรงออกผนวช เพื่อให้พระนางได้กลับไปทดแทนพระคุณพ่อฤาษีและแผ่นดินเกิด และไม่ทรงรู้ว่าพระนางทรงครรภ์แล้ว ไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสแฝดเลย(แต่รู้เห็นและคอยช่วยเหลือด้วยอภิญญาญานอยู่เสมอ)
#####################################
[... พระแม่เจ้าจามเทวี จะมาปฏิสนธิเป็นขัตติยะนารีในเศวตรฉัตร เพื่อช่วยชาติไทย พระพุทธศาสนา และราชบัลลังค์ ให้ปลอดภัยจากอริราชศัตรูเมื่อคราวจำเป็น!...]
แล้วลูกชายของแม่ก็จะมาช่วยท่านแม่...เมื่อถึงคราวที่พระองค์ท่านลำบากหรือเดือดร้อนนั้นเอง!...
(รบตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ถึงแม้อายุเพียง ๗ ขวบก็ต้องทำศึกยุทธหัตถี...ช่างน่ายกย่อง และสรรเสริญจริงๆ...อนุโมทนา สาธุ!!!)
*************************************