ตำนาน : สงคราม๙ ทัพ
สุดยอดวีรกรรมของกษัตริย์ และบรรพบุรุษของไทยแห่งราชอาณาจักรสยาม
******************************
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(ทองด้วง) พระองค์ผู้เป็น รัชกาลที่๑ ผู้ซึ่งก่อตั้งและสถาปนา กรุงรัตนโกสินทร์(กรุงแห่งพระแก้วมรกต หรือกรุงแห่งพระแก้วของพระอินทร์หรือท้าวสักกะเทวราช)หรือ กรุงเทพฯของเรานี้ เป็นปฐมกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์จักรี ซึ่งพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนบรรพบุรุษชาวไทยของเราแห่งราชอาณาจักรสยาม ได้ทุ่มเทชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อก่อตั้งบ้านเมืองให้ลูกหลานไทยได้มีแผ่นดินอยู่อาศัย ทำมาหากินและดำรงเผ่าพันธุ์อย่างมีเอกราชและมีศักดิ์ศรี และตั้งใจให้ลูกหลานเป็นคนดีมีความสุข ดังพระปณิธานของพระองค์ท่านที่โด่งดัง ลือลั่นและปรากฏสืบทอดสู่กันมาจนถึงทุกวันนี้ ว่า
...ตั้งใจจะอุปถัมภก
ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขันฑสีมา
จะรักษาประชาชนและมนตรี...
ที่มา : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
จากพระปณิธาน และวีรกรรมของพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรพบุรุษของไทยในสมัยของพระองค์นั้น มีมากมายและยิ่งใหญ่หลายเรื่อง และนี่คือเรื่องหนึ่งที่ลูกหลานไทยจดจำและระลึกถึงตลอดจนเชิดชูและสดุดีด้วยสำนึกกตัญญูและจงรักภักดีมาจนถึงทุกวันนี้
ตำนานสงคราม๙ ทัพ และสมรภูมิทุ่งลาดหญ้า
สงคราม ๙ ทัพ เป็นชัยชนะของการทำสงครามครั้งยิ่งใหญ่ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือ รัชกาลที่๑ แห่ง ราชวงศ์จักรี ที่พระองค์ได้กระทำเพื่อป้องกันการรุกรานจาก พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่า ในปี พ.ศ.๒๓๒๘(ซึ่งกรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ พึ่งจะก่อตั้งยังไม่ครบ๓ ปี และกำลังมีการเฉลิมฉลองสมโภชพระนครอยู่) ผลของการสงครามครั้งนี้ได้ให้บทเรียนเรื่องยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ที่ใช้กำลังน้อยต่อสู้กับข้าศึกที่มีกำลังมากกว่า และยังทรงใช้หลักการสงครามอย่างชาญฉลาด ที่สามารถใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ โดยใช้ท่อนไม้แทนกระสุนปืนใหญ่ ชัยชนะของฝ่ายไทยในการทำสงครามครั้งนี้ เป็นชัยชนะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากไทยพ่ายแพ้จะต้องสูญเสียเอกราช แผ่นดินไทยจะถูกผนวกเป็นอาณาเขตของพม่า อาจถูกกลืนชาติเผ่าพันธุ์ เหมือนที่พม่าทำกับมอญมาแล้วในอดีต และในเวลาต่อมา เมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งไทยก็ย่อมถูกพ่วงเป็นอาณานิคมไปด้วย
สงคราม ๙ ทัพ จึงเป็นการทำสงครามเพื่อรักษาเอกราชของชาติไทยโดยแท้ และสมรภูมิแห่งประวัติศาสตร์ที่โลกจะต้องจารึกใน ศึกสงคราม ๙ ทัพ และคนไทยทุกยุคทุกสมัยควรจะต้องรู้จักและจดจำ เพื่อสำนึกรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรพบุรุษของเราในอดีต อีกทั้งเพื่อสำนึกในความรักชาติรักแผ่นดินตลอดไป คือสมรภูมิแห่งทุ่งลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี
ทุ่งลาดหญ้า เป็นที่ราบอยู่ระหว่างแม่น้ำแควใหญ่กับลำน้ำตะเพินไหลมาบรรจบกัน ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ณ ที่นั้น คือสมรภูมิแห่งการสงครามปกป้องรักษาเอกราชของชาติ
สงคราม ๙ ทัพ ณ สมรภูมิลาดหญ้านี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง ไทยรบพม่า สรุปความได้ว่า
เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๔ ตะแคงปดุงหรือ พระเจ้าปดุง ราชบุตรคนที่ ๔ ของ พระเจ้าอลองพญาแห่งพม่า ชิงราชสมบัติและสำเร็จโทษ มังหม่องซึ่งชิงราชสมบัติจาก พระเจ้าจิงกูจา และครองราชย์สมบัติอยู่ได้เพียง ๑๑ วัน พระเจ้าปดุงได้ราชสมบัติแล้วต้องปราบปรามจราจลภายในบ้านเมืองอยู่หลายปี จนต่อมารบตี ประเทศมณีปุระทางเหนือ และ ประเทศยะไข่ ทางตะวันตกได้ จึงคิดจะยกมาตีเมืองไทย ให้เป็นเกียรติยศเป็นมหาราช
ถึงปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๒๘(กรุงรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพฯพึ่งจะก่อตั้งและสถาปนาได้เพียง๓ ปี) ดังนั้นพระเจ้าปดุงจึงเกณฑ์กองทัพทั้งเมืองหลวงและหัวเมืองขึ้นต่างๆ รวมจำนวนพลถึง ๑๔๔,๐๐๐ จัดกระบวนทัพเป็น ๙ ทัพ ตั้งทัพบกทัพเรือเข้ามาตีไทย พม่ายกเข้ามาหลายทิศทาง หวังให้ทลายลงอย่างราบคาบก่อนที่จะเจริญรุ่งเรืองและเติบใหญ่เป็นภัยต่อพม่าได้ ซึ่งถือว่าเป็นการระดมทัพใหญ่ มีกำลังพลมากที่สุดและบุกพร้อมกันหลายทิศทางเท่าที่ราชอาณาจักรสยามหรือไทยเราได้ผจญมาในอดีต
ทัพที่ ๑ เข้ามาทางปักษ์ใต้ มาตั้งที่เมืองมะริด ตีเมืองชุมพร สงขลา ตะกั่วป่า ลงไปจนถึงถลาง
ทัพที่ ๒ เข้ามาทางด้านบ้องตี้ ตีหัวเมืองไทยตั้งแต่ ราชบุรี เพชรบุรี ลงไปบรรจบกันที่ที่ชุมพร
ทัพที่ ๓ ยกเข้ามาทางเชียงแสน ตีเมืองลำปาง และหัวเมือง ริมแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำยม ตั้งแต่สวรรคโลก สุโขทัย ให้มาบรรจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพฯ
ทัพที่ ๔ ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อตีกรุงเทพฯ
ทัพที่ ๕ ๖ ๗ เป็นทัพหน้าเข้ามาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ ทัพที่ ๘ เป็นทัพหลวง พระเจ้าปดุงเป็นจอมทัพ ยกลงมาทางเมืองเมาะตะมะ
ทัพที่ ๙ เข้ามาทางด่านแม่ละเมา แขวงเมืองตาก ตีหัวเมืองเหนือตั้งแต่ตาก กำแพงเพชร ลงมาบรรจบทัพหลวงที่กรุงเทพฯ
กองทัพพม่าครั้งนี้ ยกเข้ามาถึง ๕ ทางพร้อมกัน หวังจะทุ่มเทกำลังไพร่พลมหาศาลเข้าตีไทยพร้อมกันหมดทุกทาง มิให้ไทยมีประตูสู้ แต่ยุทธศาสตร์ของพระเจ้าปดุง มีข้อผิดพลาด เพราะยกทัพจำนวนมาก แยกย้ายกันมาเป็นหลายทิศหลายทาง มิได้คิดว่าเป็นการยากที่จะให้เข้ามาถึงพร้อมกัน ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการหาและลำเลียงเสบียงอาหารมาเลี้ยงไพร่พลจำนวนมากด้วย
ในขณะที่พม่ายกทัพเข้ามานั้น หัวเมืองต่างๆ ทั้งกาญจนบุรี และหัวเมืองเหนือ ได้แจ้งข่าวศึกเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประชุมปรึกษาพระราชวงศ์ เสนาบดี ข้าราชการ เพื่อจะสู้ศึกพม่า กำลังของฝ่ายไทยในขณะนั้นสำรวจพลได้เพียง ๗๐,๐๐๐ เศษ น้อยกว่าข้าศึกถึงเท่าตัว ทรงพิจารณาว่า ถ้าจะแบ่งกำลังไปรับข้าศึกทุกทาง คงจะเสียเปรียบ ควรจะรวมกำลังไปสู้ศึก ณ ทางที่สำคัญก่อน ทางไหนไม่สำคัญปล่อยให้ข้าศึกทำตามชอบใจไปพลางก่อน เมื่อมีชัยชนะในทางสำคัญแล้ว จึงปราบปรามขับไล่ทางอื่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงจัดกองทัพเป็น ๔ ทัพ
ทัพที่ ๑ ให้กรมพระราชวังหลัง(ทองอินทร์) ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ยกพล ๑๕,๐๐๐ ไปตั้งขัดตาทัพทางเหนือที่เมืองนครสวรรค์ ป้องกันอย่าให้ทัพพม่าล่วงลงมาถึงกรุงเทพฯได้
ทัพที่ ๒ จัดพล ๓๐,๐๐๐ เป็นทัพใหญ่กว่าทุกทัพให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท(บุญมา)หรือวังหน้า พระอนุชาธิราชเสด็จเป็นแม่ทัพ ยกไปตั้งรับที่เมืองกาญจนบุรี(เก่า) คอยต่อสู้ทัพหลวงของพระเจ้าปดุง ที่จะยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์
ทัพที่ ๓ ให้เจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราช(บุนนาค)ถือพล ๕,๐๐๐ ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี รักษาทางลำเลียงของกองทัพที่ ๒ และคอยต่อสู้สกัดพม่าที่จะยกมาจากทางใต้หรือทางเมืองทวาย
ทัพที่ ๔ กองทัพหลวงจัดเตรียมไว้ในกรุงเทพฯ จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ เศษ เป็นกองหนุน ถ้าศึกหนักทางไหน จะได้ยกไปช่วยได้ทันท่วงที พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นจอมทัพ
กองทัพที่ ๔ ของพม่ายกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ผ่านเมืองไทรโยคเข้ามาทางเมืองท่ากระดาน ตีด่านกรามช้างแตก แล้วยกเข้ามาตั้งที่ทุ่งลาดหญ้า เผชิญกับกองทัพของกรมพระราชวังบวรฯที่ตั้งค่ายรับอยู่
การยกทัพไปตั้งสกัดข้าศึกถึงชายแดน เป็นยุทธวิธีที่เพิ่งมีขึ้นในรัชกาลที่ ๑ นี้ ทุ่งลาดหญ้าอยู่เชิงเขา เมื่อพม่ามาถึง ได้ต่อสู้กับกองทัพไทย ถูกกองทัพไทยจับทหารได้กองหนึ่ง จัดตั้งค่ายที่เชิงเขา เมื่อเป็นดังนี้ ทัพที่ ๖ ทัพที่ ๗ ของพม่าที่ยกตามมาไม่สามารถเดินหน้าต้องตั้งทัพบนภูเขาต่อเนื่องกันไป จนทัพหลวงของพระเจ้า
ปดุงซึ่งเป็นทัพที่ ๘ ยกเลยด่านเจดีย์สามองค์เข้ามาได้เพียงเล็กน้อย พม่าต้องหาบขนเสบียงข้ามเขาไปเลี้ยงทหารจำนวนมาก ซ้ำยังถูกฝ่ายไทยซุ่มโจมตีตัดการลำเลียงเสบียงด้วย จนทหารพม่าอดอยาก เจ็บป่วยล้มตายลงมาก
ขณะที่กองทัพกรมพระราชวังบวรฯสู้รบติดพันอยู่กับพม่าที่ทุ่งลาดหญ้านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงห่วงใยได้เสด็จฯยกทัพหลวงไปถึงทุ่งลาดหญ้า แต่กรมพระราชวังบวรฯได้กราบทูลขอให้เสด็จฯกลับกรุงเทพฯ ด้วยเกรงว่าทัพพม่าจะยกเข้ามาทางอื่นอีก จะได้ยกไปช่วยทันท่วงที
ซึ่งถือว่าเป็น ศุภนิมิตหรือนิมิตอันดีงามอย่างยิ่ง ที่พระองค์เสด็จมาเยี่ยม ดังนั้นกรมพระราชวังบวรฯ ถือเอานิมิตนี้ แปลงเป็นกลยุทธ์อันยอดเยิ่ยมและแยบคาย คือทำทีเป็นว่ามีกองกำลังหนุนเข้ามาช่วยอยู่เสมอทั้งๆที่มีกำลังเท่าเดิม ซึ่งได้ผลยิ่งเพราะทหารพม่าเริ่มเกรงกลัวว่ากองทัพไทยมีกำลังมาก มีการเสริมกำลังและเสบียงตลอดเวลา โดยที่พม่าเองกลับล้มตายลงเรื่อยๆและเสบียงอาหารก็ขาดแคลน แถมผู้นำทัพก็ไม่แจ้งในกลศึกนี้เลย ต่อมากรมพระราชวังบวรฯทรงทำกลอุบาย โดยในเวลากลางคืนแบ่งกองทัพให้ลอบกลับไป แล้วเวลาเช้าให้ถือธงทิวเดินเป็นกระบวนกลับมา พม่าอยู่บนภูเขาที่สูง เห็นกองทัพไทยมีกำลังหนุนเพิ่มเติมมาเสมอ ก็ครั่นคร้ามกองทัพไทย ในที่สุด กองทัพไทยก็เข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่ายในเวลาเดียวกัน มีชัยชนะตีค่ายแตกทุกค่าย ฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือแตกหนีกระจัดกระจาย ถูกกองโจรของ "พระองค์เจ้าขุนเณร"เข้าตีซ้ำเติมแตกพ่ายกลับไป
พระเจ้าปดุงทราบว่ากองทัพหน้าของพม่าแตกกลับไปแล้ว เห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สำเร็จ และกองทัพขัดสนเสบียงอาหาร เจ็บป่วยล้มตายกันมาก จึงสั่งให้เลิกทัพกลับไปเมืองเมาะตะมะ
และนี่คือที่มาและตำนานวีรกรรม สมรภูมิทุ่งลาดหญ้า หรือ วันชนะศึกทุ่งลาดหญ้าของบรรพบุรุษไทยแห่งราชอาณาจักรสยาม หรือราชอาณาจักรไทย(ในปัจจุบัน)
ส่วน กองทัพหม่ากองอิ่นที่เข้ามาทางด่านบ่องตี้ เข้ามาจนถึงเขางูราชบุรี และทัพที่เข้ามาทางเหนือเข้ามาถึงปากพิง นครสวรรค์ แต่ในที่สุดก็ถูกกองทัพไทยตีแตกกลับไป ส่วนทัพที่เข้ามาทางใต้ ผ่านชุมพร ตีได้เมืองนครศรีธรรมราช ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ไปจนถึงเมืองถลาง(จังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน) ขณะนั้นพระยาถลางถึงแก่อนิจกรรม คุณหญิงจันทร์(ภริยาพระยาถลาง) และ นางมุกน้องสาวของคุณหญิงจันทร์ ได้ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกับกรมการเมืองช่วยกันรบพุ่งต้านทานพม่าอย่างสุดกำลัง พม่าล้อมเมืองถลางไว้เดือนเศษ แต่ตีถลางไม่ได้และยังถูกโจมตีล้มตายไปเป็นอันมาก และหมดเสบียงลงจึงต้องล่าทัพกลับไปอย่างชอกซ้ำ
กองทัพกรมพระราชวังบวรฯ นั้น เมื่อเสร็จศึกที่ลาดหญ้าแล้ว ได้เสด็จยกกองทัพไปช่วยต่อสู้ทัพพม่าที่เข้ามาทางใต้ ไปตั้งทัพที่ไชยา สุราษฎร์ธานี ในที่สุดฝ่ายไทยก็ขับไล่พม่าทั้ง ๙ ทัพไปจากผืนแผ่นดินไทย ด้วยกลยุทธ์อันชาญฉลาด ใช้กำลังน้อยมีชัยชนะกำลังมากได้
ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรไทยและความพ่ายแพ้อย่างยับเยินทั้ง๙ ทัพของพม่าในครั้งนี้ ก็ด้วยอัจฉริยภาพ บุญบารมี และความสามัคคีของพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรพบุรษของไทยเรานั้นเอง
..........................................................................
หมายเหตุ
๑. พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระบรมเดชานุภาพและบุญบารมีมากที่สุดตั้งแต่มีราชอาณาจักรสยามหรือราชอาณาจักรไทย พระองค์ได้ทำการอัญเชิญ พระแก้วมรกต(พระพุทธมหารัตนปฏิมากร) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก มาจากกรุงเวียงจันทร์แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง(ลาว) ในคราวที่พระองค์ไปรบกับลาวในการรับราชการเป็น พระมหากษัตริย์ศึกในรัชสมัย ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาไว้ที่แผ่นดินไทยด้วยพระองค์เองเมื่อพ.ศ.๒๓๒๑
๒. คุณหญิงจันทร์และ คุณหญิงมุก สองสาวพี่น้องที่เป็นสามัญชน ได้สร้างวีรกรรมคุณงามความดีอันยิ่งใหญ่ต่อราชอาณาจักรไทย อันเป็นแผ่นดินเกิดคือเมืองถลางหรือจังหวัดภูเก็ต ในเหตุการณ์ สงคราม๙ ทัพ ในรัชกาลที่๑ จนได้รับการยกย่องและสดุดีแล้วตั้งตั้งให้เป็น ท้าวเทพกษัตรี และ ท้าวศรีสุนทร ซึ่งมีอนุสาวรีย์ให้ระลึกถึงและกราบไหว้บูชาอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตนั้นเอง
(...ซึ่งหายากมากที่หญิงสามัญชนจะได้รับการยกย่อง สดุดี และกราบไหว้สักการะบูชาตลอดจนมีอนุสาวรีย์ไว้ให้ ซึ่งก็มี คุณหญิงจันทร์(ท้าวเทพกษัตริย์ตรี)และ คุณหญิงมุก(ท้าวศรีสุนทร)ในรัชกาลที่๑ และ คุณย่าโม(ท้าวสุรนารี)ในรัชกาลที่๓ เท่านั้นเอง...)
๓. พระอริยเจ้าผู้มีอภิญญาญาณท่านบอกไว้ว่า ...พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่๑ นั้น พระองค์คือ พระสยามเทวาธิราช ที่คอยปกปักรักษาและช่วยเหลือกษัตริย์ไทย ลูกหลานไทย และแผ่นดินไทยอยู่ตลอดมา และตลอดไป...