เจ้าแม่กวนอิม : เทพเจ้าแห่งความเมตตา
ประวัติความเป็นมา
(คัดลอกบางส่วนมาจาก www.watphananchoeng.com)
พระอวโลกิเตศวรกวนอิมโพธิสัตว์นั้น หรือที่พวกเรารู้จักกันดีในนามว่าเจ้าแม่กวนอิมท่านเกิดเมื่อปลาย ราชวงศ์โจว ในแผ่นดิน จงหยวน วันที่ ๑๙ เดือนยี่(จีน) ซึ่งมีเมืองหนึ่งทางทิศตะวันตกมีชื่อว่า ซินหลิน ขณะนั้นผู้ครองเมืองมีชื่อว่า เมี่ยวจ้วน ซึ่งไม่เลื่อมใสในพุทธศาสนา พระองค์ปกครองบ้านเมืองอย่างปราศจากทศพิธราชธรรม มีมเหสีชื่อว่า เป่าเต๋อ ทั้งสองไม่มีพระโอรส มีเพียงพระธิดา ๓ องค์ องค์โตชื่อ เมี่ยวอิม องค์รองชื่อ เมี่ยวหยวน องค์สุดท้องชื่อ เมี่ยวซ่าน คือพระแม่กวนอิมนี้นั่นเอง ตอนเยาว์วัยองค์หญิงเมี่ยวซ่านทรงเป็นพุทธมามกะ ไม่กินเนื้อสัตว์ และมีจิตใจที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีความรู้แจ้งในหลักพุทธธรรมอย่างลึกซึ้ง ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะบำเพ็ญเพียรเพื่อความหลุดพ้น จึงตั้งปณิธานเข้าสู่เพศบรรพชิต (ออกบวชวันที่ ๙ เดือน ๙) โดยมี หลงเหลี่ยนนางกำนัลบวชติดตามไปด้วย ตอนนั้นพระบิดาเมี่ยวจ้วนไม่เห็นด้วย จะบังคับให้เลือกราชบุตรเขย เพื่อจะได้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อไป แต่องค์หญิงเมี่ยวซ่านไม่สนพระทัยเรื่องลาภ ยศ และสรรเสริญใดๆ แม้จะถูกพระบิดากลั่นแกล้งอย่างไร พระองค์ก็ไม่เคยนึกโกรธเคืองแต่อย่างใด พระบิดาได้หาวิธีทรมานเพื่อให้เปลี่ยนความตั้งใจ โดยขับไล่ให้ทำงานหนักในสวนดอกไม้ แต่ก็มีเหล่ารุกขเทวดามาช่วยทำแทนให้ทั้งหมด พระบิดาเมื่อเห็นว่าไม่ได้ผล จึงรับสั่งให้แม่ชีนำองค์หญิงเมี่ยวซ่านไปอยู่ที่ วัดนกยูงขาว และให้เอางานของแม่ชีทั้งหมดมอบให้องค์หญิงทำคนเดียว แต่องค์หญิงก็มีพระทัยเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก มีเหล่าเทพารักษ์มาช่วยทำแทนให้อีก กษัตริย์เมี่ยวจ้วนเข้าพระทัยว่า พวกแม่ชีไม่กล้าเคี่ยวเข็ญให้พระองค์ทำงานหนัก ก็ทรงกริ้ว จึงสั่งให้ทหารเผาวัดนกยูงขาวจนวอดเป็นจุณไปพร้อมกับพวกแม่ชีทั้งวัด มีเพียงองค์หญิงเมี่ยวซ่านเท่านั้นที่ปลอดภัยรอดมาได้ กษัตริย์เมี่ยวจ้วนทรงทราบดังนั้น จึงรับสั่งให้นำตัวราชธิดาไปประหารชีวิต ตอนนั้นมีเทพารักษ์คอยคุ้มครองเจ้าหญิงอยู่ โดยเนรมิตทองคำทิพย์เป็นเกราะหุ้มพระวรกาย คมดาบของทหารจึงไม่อาจระคายพระวรกาย จนดาบหักสะบั้นถึง ๓ ครั้ง ๓ ครา พระบิดาทรงกริ้วยิ่งนัก โดยเข้าพระทัยว่าทหารไม่กล้าประหารชีวิต จึงรับสั่งให้ประหารนายทหารเหล่านั้นแทน แล้วรับสั่งให้จับองค์หญิงไปแขวนคอ ทว่าผ้าแพรที่แขวนคอก็ขาดสะบั้นลงอีก ทันใดนั้นปรากฏว่ามีเสือเทวดาตัวหนึ่ง ได้นำเอาองค์หญิงขึ้นพาดหลังแล้วพาหนีไปที่ เขาเซียงซัน
ต่อมา เทพไท่ไป๋ได้แปลงร่างเป็นชายชรามาโปรดองค์หญิง ชี้แนะเคล็ดวิธีในการบำเพ็ญเพียรเพื่อดับทุกข์ จนสามารถบรรลุมรรคผลสำเร็จธรรม โดยวันที่บรรลุธรรมนั้นจะสังเกตได้จากการที่แจกันที่ว่างเปล่าจะมีน้ำเต็มขึ้นมา ในต่อมาอีกไม่นานบาปกรรมที่กษัตริย์เมี่ยวจ้วนได้ก่อไว้ก็ส่งผล เกิดล้มป่วยด้วยโรคร้ายแรง ไม่มียาใดๆรักษาให้หายได้ ไต้ซือเมี่ยวซ่านทรงทราบด้วยญาณวิถีว่า พระบิดากำลังประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก ด้วยความกตัญญูกตเวที ทรงได้สละ ดวงตาและ แขนสองข้างของพระองค์ เพื่อรักษาพระบิดาจนหายจากโรคร้าย แล้วพระองค์ก็กลับไปบำเพ็ญภาวนาต่อ โดยไต้ซือเมี่ยวซ่านได้พบกับเด็กน้อยที่ชื่อว่า เซิ่นอิง เป็นเด็กที่ซุกซนมักจะมาเที่ยวเล่นที่วัดนี้เป็นประจำ จึงเมตตารับไว้เลี้ยงดู วันหนึ่งเด็กน้อยได้แอบไปเทน้ำใส่แจกัน รุ่งเช้าลูกศิษย์ไปพบเข้าต่างดีใจกันใหญ่แล้วรีบไปแจ้งให้ไต้ซือทราบ ไต้ซือจึงพิจารณาธรรมะได้ลึกซึ้ง พบว่า ทุกสิ่งเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุก็ไม่มีผล จึงนั่งบำเพ็ญภาวนาต่อ ในวันนั้นเองไต้ซือเมี่ยวซ่านได้เรียกเหล่าภิกษุณีมาเพื่อบอกว่า จะละสังขารแล้วในวันนี้ขอให้ทุกคนเตรียมการให้พร้อม ในขณะที่ไต้ซือเมี่ยวซ่านกำลังบำเพ็ญภาวนาอยู่โดยมีพระภิกษุณีทำการสวดมนต์อยู่นั้น เด็กน้อยเซิ่นอิงเห็นดังนั้น นึกซนคิดว่าจะแกล้งทำให้ตกใจ จึงไปหยิบไม้เคาะกล่อง (ไม้ที่เคาะกล่องจังหวะเวลาพระจีนสวด) ย่องเข้าไปด้านหน้าไต้ซือเมี่ยวซ่าน แล้วเซิ่นอิงได้ตวาดเสียงดังก่อนที่จะยกไม้ตีที่กระหม่อมของไต้ซือเมี่ยวซ่าน ทำให้เหล่าภิกษุณีต่างตกใจ หลังจากนั้นทุกคนก็ได้เห็นธรรมกายของไต้ซือลอยขึ้น กลายเป็นพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม (วันที่ ๑๙ เดือน ๖)บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทันที
แล้วพระองค์ได้เหาะไปกราบลากษัตริย์เมี่ยวจ้วนพระบิดา แล้วก็เหาะไป เขาโปตละโลกาแห่งทะเลทักษิณ ซึ่งเป็นที่พำนักของพระองค์ ส่วนแม่ชีหยงเหลี่ยน เมื่อบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จก็ได้ขึ้นไปรับใช้พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมต่อไป โดยมีชื่อว่า เซียน หลง หนี่ (เง็ก นึ่ง) ส่วนเด็กน้อยเซิ่นอิง เมื่อได้เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมบรรลุธรรมจึงเกิดความศรัทธา และสำนึกในทันที โดยภายหลังพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม ได้ไปโปรดให้บรรลุธรรมเป็น ส้าน ไฉ ถง จื้อ (กิมท้ง)
พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมตอนแรกเป็นชาวพุทธ(นิกายมหายาน) ตอนหลังเทพไท่ไป๋ได้มาโปรด ชี้แนะหนทางดับทุกข์ ด้วยเหตุนี้ พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมจึงเป็นเทพทั้งฝ่ายพุทธ และฝ่าย เต๋าในเวลาเดียวกัน ซึ่งบางตำนานบ้างก็ว่ามีธรรมกายเป็นบุรุษ บ้างก็ว่าเป็นสตรี แม้องค์จะเป็นพุทธกาย หากแต่เสด็จลงมาเพื่อสดับฟังเสียงกับผู้มีบุญสัมพันธ์ ทรงโปรดอวตารมาในรูปบุคคลซึ่งเหมาะสม ต่อการช่วยเหลือ ตามแต่โอกาส และสถานการณ์ การปรากฏกายของพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมจึงไม่เหมือนกัน มีรูปลักษณ์หลายลักษณะ เป็นบุรุษบ้าง สตรีบ้าง ตามแต่ผู้พบเห็นในตำนาน ดังมีหลักฐานต่าง ๆ แต่จะได้รับการยกย่องในรูปสตรีมากในพุทธศาสนามหายาน
สำหรับตำนานของเจ้าแม่กวนอิมปางพันมือ เป็นปางหนึ่งของ พระมหาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว ซึ่งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศจีน ฝนตกหนักน้ำในแม่น้ำฮวงโห หรือแม่น้ำวิปโยคท่วมท้น ผู้คนจำนวนมากถูกกระแสน้ำพัดพาไป พุทธศาสนิกชนได้สวดมนต์วิงวอนต่อพระโพธิสัตว์กวนอิมขอให้ทรงช่วย ทำให้พระองค์ต้องเสด็จลงมาช่วยผู้ที่ถูกน้ำท่วม แต่การมีเพียงสองมือย่อมช่วยได้ไม่ทันเหตุการณ์ พระองค์จึงทรงตั้งจิตอธิษฐาน ว่าขอให้มีพันเนตรพันกร จะได้ช่วยคนได้ครั้งละพันคน และทันใดนั้นก็เกิดปาฏิหาริย์ตามที่ทรงอธิษฐานนั้น พุทธศาสนิกชนชาวจีน จึงสร้างองค์สมมุติ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางพันเนตรพันกรขึ้นกราบไหว้บูชานั้นเอง
ลักษณะความเชื่อ
โดยมากแล้วผู้ที่ศรัทธา หรือบูชาพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม จะไม่รับประทานเนื้อวัว ด้วยมีความเชื่อกันว่า เจ้าแม่กวนอิมมีความกตัญญูกตเวทีต่อพระบิดายิ่งนัก เมื่อกษัตริย์เมี่ยวจ้วนสิ้นอายุขัย ต้องไปเกิดเป็น วัวหรือ โคเพื่อชดใช้กรรมที่ทำไว้ ผู้ที่บูชาพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมจึงไม่บริโภคเนื้อวัวนั่นเอง และด้วยพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมได้ถูกยกย่องว่าเป็น เจ้าแม่แห่งความเมตตา และยังวนเวียนอยู่บนโลกมนุษย์ เพื่อคอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก แก่ผู้ที่มีบุญสัมพันธ์ ตามแต่โอกาส และสถานการณ์ จึงมีผู้ศรัทธา กราบไหว้บูชา และสร้างรูปองค์จำลอง หลายต่อหลายปางไว้เพื่อบูชากราบไหว้ เพื่อช่วยให้บันดาลความผาสุก จิตใจผ่องใส คอยปัดเป่าช่วยเหลือยามเกิดทุกข์ภัย และเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเอื้ออาทรที่ทรงโปรดสัตว์ผู้อยู่ในห้วงทุกข์อันหาขอบเขตมิได้ บางคนบูชาพร้อมถือศีลกินเจด้วยก็มี