ตำนานรักอมตะ : ขูลู-นางอั้ว
ก. มูลเหตุจูงใจ
ในวัยเด็กผู้เขียนก็เคยได้ยินได้ฟังผู้ใหญ่เล่านิทานเรื่อง “ขูลู-นางอั้ว”นี้ให้ฟังบ่อยๆ และก็ยังมีหมอลำอีสานทั้ง “ลำเพลิน”และ “ลำเรื่องต่อกลอน”ได้แสดงและเล่นให้ดูให้ฟังบ่อยๆเหมือนกัน ซึ่งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็อยากจะอ่านนิทานที่มีตำนานและเป็นเรื่องจริงชีวิตของคนจริงๆที่มิใช่นิยายปรัมปราแต่อย่างใด เพื่อศึกษาให้เข้าใจและลึกซึ้งใน “กฎแห่งกรรม”และ “การเวียนว่ายตายเกิด”ของเวไนยสัตว์โดยเฉพาะมนุษย์เรานี้ ว่าเป็นจริงและสอดคล้องกันหรือเปล่า เพื่อความเชื่อมั่นและเข้าใจลึกซึ้งในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ และเพื่อทำการเผยแพร่เป็น “ธรรมทาน”ในการสร้างสมคุณงามความดีและบารมีให้มีมากยิ่งๆขึ้นไปนั้นเอง
แต่เรื่องนี้มีหลายตำนานและหลายที่มา ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ ยังมีสิ่งที่ตรงกันอยู่ก็คือ “ท้าวขูลู” “นางอั้ว” “ขุนลาง” และ “สวนส้ม” ไม่ว่าจะมีที่มาจากที่ต่างกันอย่างไรก็ตาม
ข. เนื้อเรื่องโดยย่อ
“ท้าวขูลู”เป็นโอรสของ “ท้าวพรมสี”และ “พระนางพิมพากาสี”ซึ่งเป็นกษัตริย์และราชินีแห่ง “นครกาสี” ส่วน “นางอั้วเคี่ยม”หรือ “นางอั้ว”นั้นเป็นธิดาของ “ท้าวปุตตาลาด”และ “พระนางจันทา”ซึ่งเป็นกษัตริย์และราชินีแห่ง “กายนคร” โดยที่กษัตริย์และราชินีของทั้งสองเมืองนี้เป็นเพื่อนที่สนิทและร่วมน้ำสาบานกัน และยังได้ตกลงกันไว้ว่าถ้ามีโอรสเหมือนกันจะให้เป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าต่างเพศกันจะให้แต่งงานกัน ซึ่งทั้งสองเมืองก็ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ ในคราวหนึ่งพระนางจันทาซึ่งกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆและกำลังแพ้ท้องได้ไปเยี่ยมพระนางพิมพากาสีที่นครกาสี ซึ่งพระนางพิมพากาสีก็ทรงครรภ์อ่อนๆเช่นเดียวกัน และทั้งคู่ได้พากันไปประพาสอุทยาน ครั้นเสด็จผ่านสวนส้มเกลี้ยง(ส้มโอ)พระนางจันทารู้สึกหิวอยากเสวยผลส้มมากจึงขอจากพระนางพิมพากาสีแต่นางไม่ให้เพราะส้มนั้นยังไม่สุก ทำให้พระนางจันทาโกรธมากและผูกใจเจ็บอย่างยิ่ง
หลังจากนั้นไม่นานพระนางพิมพากาสีก็คลอดลูกออกมาเป็นชายให้ชื่อว่า “ขูลู” ส่วนพระนางจันทาก็คลอดลูกออกมาเป็นหญิงให้ชื่อว่า “นางอั้ว” ซึ่งทั้งคู่นั้นเกิดปีเดียวกัน ต่างก็ได้รับการอบรมและเลี้ยงดูอย่างดี เมื่อท้าวขูลูอายุ ๑๕ ปีก็ได้มาเยิ่ยมชมและมอบเครื่องบรรณาการแก่เมืองกายนคร และได้มีโอกาสพบเจอและรู้จักกับนางอั้ว โดยเมื่อแรกพบทั้งคู่ก็รู้สึกรักใคร่และชอบพอกันตั้งแต่แรกพบเลยทีเดียวอันเนื่องด้วยบุพเพสันนิวาสนั้นเอง เมื่อท้าวขูลูกลับมาที่เมืองของตนก็รู้สึกคิดถึงนางอั้วใจจะขาดอยากจะได้นางอั้วมาเป็นมเหสี จึงได้รบเร้าบิดามารดาให้ไปสู่ขอนางอั้วให้กับตน บิดาและมารดาก็ได้แต่งให้แม่สื่อไปสู่ขอทาบทามนางอั้วให้กับท้าวขูลู แต่พระนางจันทาไม่ยอมยกให้ เมื่อแม่สื่อกลับมาบอกท้าวขูลู ทำให้ท้าวขูลูโศกเศร้าเสียใจมาก
ฝ่าย“ขุนลาง”กษัตริย์แห่ง “เมืองขอมภูเขาก่ำ” (เขมรป่าดงหรือชาวป่าสักยันต์ขาลายสีดำ) เป็นชนเผ่าที่ยังไม่เจริญ เมื่อได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือว่านางอั้วเคี่ยมมีความงดงามมากก็อยากได้ไปเป็นมเหสีเช่นกัน จึงได้ส่งเครื่องบรรณาการต่างๆมาให้พระนางจันทาอยู่บ่อยๆและด้วยฤทธิ์มนต์คาถาของขุนลางที่ติดมากับเครื่องบรรณาการเหล่านั้น ก็ทำให้นางจันทาเกิดความพึงพอใจขุนลางอยากได้เป็นลูกเขย แต่นางอั้วเคี่ยมเมื่อรู้ข่าวก็เสียใจและไม่ยอมรับ โดยอ้างว่าขุนลางเป็นคนนอกศาสนา ไม่นับถือพระธรรม แต่นางจันทาได้ส่งแม่สื่อไปยอมรับคำสู่ขอนั้นและรับปากขุนลางว่าจะปลอบประโลมนางอั้วเคี่ยมในภายหลังให้เอง ฝ่ายท้าวขูลูนั้นเมื่อรู้ข่าวขุนลางส่งบรรณาการและมีความประสงค์อยากได้นางอั้วไปเป็นมเหสี ก็กระวนกระวายใจจึงได้ขอร้องให้บิดามารดาส่งแม่สื่อไปสู่ขอนางอั้วให้อีกครั้ง และทวงสัญญาที่เคยให้กันไว้ของทั้งสองเมือง แต่ก็ถูกปฏิเสธจากพระนางจันทาและบอกว่าเลิกสัญญานี้ตั้งแต่นางขอผลส้มไม่ได้เมื่อคราวเที่ยวอุทยานนครกาสีครั้งโน้นแล้ว
และเมื่อเรื่องชักจะบานปลายอาจเกิดศึกสงครามชิงนางขึ้นมาได้ ทางเมืองกายนครก็หาทางออกโดยการที่จะทำการ “เสี่ยงสายแนน”หรือ “รกห่อหุ้มทารก” ซึ่งเชื่อกันว่าทุกคนจะมีสายรกพัวพันกันอยู่บนเมืองแถน(สวรรค์)ก่อนมาเกิดบนโลกมนุษย์และต้องเป็นคู่กันตามสายแนนนั้น ถ้าแต่งงานผิดสายแนนจะต้องหย่าร้างกัน และให้คนทรงทำพิธีเซ่นไหว้ “พระยาแถน”(พระอินทร์)และนำของไปถวายพระยาแถนเพื่อขอดูสายแนนของท้าวขูลูและนางอั้ว ซึ่งก็พบว่าสายของทั้งสองพันกันอยู่ แต่ตอนปลายยอดด้วนและปลายแยกออกจากกัน ซึ่งแสดงว่าเป็นเนื้อคู่กันจริงแต่อยู่กันไม่ยืดต้องพลัดพรากในที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าสายแนนของท้าวขูลูนั้นมีแท่นทองอยู่ด้วยแสดงว่าเป็น “พระโพธิสัตว์”ลงมาเกิด เมื่อ“แม่สูน”หรือ“นางทรง”หรือ“นางเทียม”ได้แจ้งความดังนั้นก็ได้แจ้งให้พระนางจันทาทราบ เมื่อพระนางจันทาทราบดังนั้นก็เร่งรัดให้มีการอภิเษกสมรสระหว่างขุนลางกับนางอั้วให้เร็วขึ้น ฝ่ายนางอั้วซึ่งรักอยู่กับท้าวขูลูไม่ว่าผลการเสี่ยงทายสายแนนจะออกมาอย่างไรก็ตาม ท้าวขูลูโศกเศร้าเสียใจและทุกข์ทรมานมากจนกินไม่ได้นอนไม่หลับเมื่อทราบข่าวพิธีวิวาห์นั้นซึ่งนางอั้วก็เช่นกัน นางอั้วจึงให้คนส่งข่าวไปหาท้าวขูลูให้มาหานางก่อนพิธิอภิเษกสมรสโดยให้รอพบกันที่อุทยานที่ทั้งคู่ได้พบกันและบอกรักกันในคราวก่อนโน้น เมื่อท้าวขูลูทราบเช่นนั้นก็รีบเดินทางมาหานางในทันที ทั้งคู่ได้แอบพบกันก่อนที่จะเริ่มงานอภิเษกสมรสหนึ่งวัน ทั้งคู่ต่างคร่ำครวญร่ำไรรำพันปริ่มว่าจะขาดใจและทั้งคู่ก็ได้เสียเป็นของกันและกัน เมื่อพระนางจันทาทราบว่านางอั้วแอบมาพบกับท้าวขูลูที่อุทยานก็ตามมาพรากตัวนางไปและดุด่าว่ากล่าวนางอั้วต่างๆนาๆ
นางอั้วเสียใจและทุกข์ทรมานในรักที่ไม่สมหวังมากยิ่งนักซึ่งในวันรุ่งขึ้นก็จะเข้าพิธีอภิเษกกับขุนลางแล้ว นางจึงตัดสินพระทัยผูกคอตายในห้องบรรทมของนางในคืนนั้นเอง พอรุ่งเช้าจะทำพิธีแล้วแต่นางอั้วยังไม่เสด็จออกมาก็เลยต้องให้คนไปตาม อนิจจา!
ฝ่ายท้าวขูลูเมื่อทราบข่าวว่านางอั้วผูกคอตายแล้ว ก็โศกเศร้าเสียใจทุกข์ทรมานและอาลัยรักนางมาก จึงถอดพระขรรค์ออกจากฝักแล้วก็แทงพระศอ(คอ)ตัวเองตายตามนางไปที่เมืองกายนครนั้นเอง
ฝ่ายขุนลางเมื่อทราบข่าวร้ายนั้นก็ตกใจมาก และเมื่อลงจากหลังช้างทรงในขบวนขันหมาก ทันทีที่พระบาทแตะพื้นดินแผ่นดินก็ได้แยกออกสูบเอาขุนลางลงสู่นรกในบัดดล
ค. บทสรุป
๑. “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์”
๒. “กฎแห่งกรรม”คือในสมัยอดีตชาตินั้น เนื่องจากท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยมได้ก่อเวรไว้จึงต้องมาใช้เวรกรรมในชาตินี้คือไม่สมหวังในความรักนั้นเอง เพราะเมื่อชาติก่อนท้าวขูลูเป็น “เจ้าเมืองเบ็งชอน”(บัญชร) นางอั้วเคี่ยมเกิดเป็นมเหสีชื่อว่า “นางดอกซ้อน” ในคราวหนึ่งนั้นมีผัวเมียคู่หนึ่งไม่ยำเกรงนางดอกซ้อน นางโกรธมากจึงฟ้องเจ้าเมืองให้ลงโทษคนคู่นี้ เจ้าเมืองได้สั่งไม่ให้เป็นผัวเมียกัน หากพี่น้องคนใดชักนำให้มาอยู่กินเป็นผัวเมียกันอีกจะถูกประหาร ทำให้ทั้งคู่เสียใจมาก ฝ่ายเมียได้ผูกคอตาย ส่วนผัวนั้นใช้มีดแทงคอตนเองตายตาม ซึ่งเวรกรรมนี้จึงตามสนองท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยมในชาตินี้นั้นเอง
ท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยมได้ไปเกิดบนสวรรค์ทั้งสองคนและได้พบกันเป็นสามีภรรยากันบนสวรรค์ ส่วนเมืองกาสีและกายนครบนโลกมนุษย์นั้นก็ได้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพให้กับทั้งสองโดยเผาศพคนทั้งสองพร้อมกัน และได้สร้างพระธาตุบรรจุอัฐิทั้งสองไว้ ณ ที่เดียวกัน แล้วทั้งสองเมืองก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันดังเดิม ซึ่งวิญญาณของท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยมได้แสดงอภินิหาริย์ให้ผู้คนชาวเมืองได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ
๓. คนโบราณบอกลูกหลานว่า “ดักแด้ขูลู”ที่ใบตอง(ใบกล้วย)ก็คือท้าวขูลู ส่วนนางอั้วได้เกิดเป็นต้นดอกไม้งามและมีกลิ่นหอมคือ “ต้นดอกนางอั้ว” ซึ่งชาวพื้นบ้านอีสานและชาวลาวเรียกว่า “ดอกสะเลเต” ในภาคกลางของไทยเรียก “ดอกมหาหงษ์” ส่วนทางภาคเหนือเรียก “ดอกสะบันงา”นั้นเอง ดังที่ปรากฏให้เห็นกันมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อสอนลูกหลานให้ทราบตำนานอมตะนี้ อันเป็นเทพนิมิตหรือพรหมบัญญัติไปจนชั่วกาลปวสาน
...ขออุทิศบุญจากการพิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทานนี้แด่ดวงวิญญาณของทุกท่านในตำนานนี้ และหากขาดตกบกพร่องก็โปรดอโหสิกรรมให้ข้าพเจ้าด้วยเทอญ...
ศิษย์ตถาคต
๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕