นิทานชาดก : อ้ายร้อยกาบลาน
(อ่านว่า อ้ายฮ้อยกาบลาน)
ก. ที่มา
ธัมม์หรือคัมภีร์ชาดกล้านนาเรื่องอ้ายร้อยกาบลานมีปรากฏไม่มากแหล่งนัก ต้นฉบับที่ใช้ศึกษามาจากวัดห้วยไคร้หลวง อ.แม่สาย จ. เชียงราย เป็นคัมภีร์จำนวน ๒ ผูก จำนวนรวม ๔๐ หน้าใบลาน จารเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่ง ดร.ฮารัลด์ ฮุนดิอุส และ อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้นำมาถ่ายทำเป็นไมโครฟิล์ม โดยการสนับสนุนของมูลนิธิ เยอรมัน รีเสอร์ช ฟาวเดชั่น (พ.ศ.๒๕๑๕-๑๗) มีใจความโดยย่อดังนี้
ครั้งหนึ่ง พระภิกษุสนทนากันในโรงธัมมสภาคสาลาว่า พระเทวทัตพยายามปองร้ายพระพุทธองค์อยู่เสมอๆแต่ก็ไม่สามารถกระทำได้ ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยทิพยโสตญาณก็เสด็จไปในที่ประชุมสงฆ์นั้นแล้วตรัสว่า ในอดีตพระเทวทัตก็เคยกระทำเช่นนั้นมาก่อน เมื่อภิกษุได้ทูลอาราธนาแล้ว พระพุทธองค์ได้นำเรื่องในอดีตชาติหนึ่งของพระองค์มาตรัสเทศนา ดังนี้
ข. เนื้อเรื่อง(โดยย่อ)
นานมาแล้ว มีทุคคตะ(คนยากจน)สองคนผัวเมียอาศัยอยู่นอกเมืองพาราณสี ทั้งสองมีบุตรชายซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์รูปงามคนหนึ่งมาเกิดด้วย แต่เนื่องจากความยากจน จึงต้องใช้กาบของใบลานมาร้อยเป็นเสื้อผ้า ให้กุมารผู้นั้นได้สวมใส่กันอุจาด จึงได้ชื่อว่า อ้ายร้อยกาบลาน กุมารโพธิสัตว์มีเพื่อนที่คบหากันมาแต่เด็กเป็นลูกชายของเศรษฐีผู้หนึ่งในหมู่บ้าน บุตรเศรษฐีมักจะไป แอ่วสาว คือไปเยือนเพื่อเกี้ยว นางอัจฉรา พระธิดารูปงามของพญาเจ้าเมืองพาราณสี โดยมักจะไปเยือนนางหลังอาหารมื้อเย็น
วันหนึ่งลูกเศรษฐีชวนอ้ายร้อยกาบลานไปเยือนนางอัจฉรา แต่พระโพธิสัตว์ก็ว่าตนไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ บุตรเศรษฐีก็ว่าจะให้ยืมเสื้อผ้า อ้ายร้อยกาบลานคิดว่าหากตนจะไปโดยมือเปล่าก็ไม่สมควร จึงตั้งใจไปหาไม้มาทำ ซึง หรือ พิณ พอเจอไม้ ซางฅำ หรือ ไผ่หลืองสามต้นก็เข้าไปตัดเมื่อตัดลำแรกขาดก็พุ่งหายเข้าไปในดิน พอลำที่สองขาดก็พุ่งหายไปในท้องฟ้า อ้ายร้อยกาบลานจึงหาเถาวัลย์มามัดไม้ซางฅำลำที่สามไว้กับไม้ต้นอื่นแล้วตัด ไม้ลำที่สามแม้ไม่หายไปไหนแต่ก็แตกแล่งตลอดลำ อ้ายร้อยกาบลานถึงกับร้องไห้รำพันว่าตนยากจนถึงกับไม่มีอันจะกิน ไม่มีแม้เสื้อผ้าจะสวมใส่แล้ว แค่มาตัดไม้ก็ยังไม่ได้อีก จึงคิดว่าหากหนีไปตายโดยไม่ให้คนอื่นเห็นซากก็คงจะดี
การร้องไห้ของพระโพธิสัตว์ทำให้ร้อน ไปถึง แท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของ พระอินทร์หรือ ท้าวสักกะเทวราชทำให้พระอินทร์ต้องเสด็จลงมาแปลงเป็นชายแก่เข้าไปหาอ้ายร้อยกาบลาน แล้วถามว่าต้องการไม้ไปทำ สิ่งใด อ้ายร้อยกาบจึงว่าจะนำไม้ไปทำซึงหรือพิณ พระอินทร์จึงยื่นพิณวิเศษให้และบอกว่า พิณนั้นจะดีดให้ศัตรูหวาดกลัวหรือจะดีดให้คนทั้งเมืองหลงใหลก็ได้ จากนั้นก็กลับคืนสู่อินทรพิมาน คืนนั้น บุตรเศรษฐีก็นำเสื้อผ้ามาให้อ้ายร้อยกาบลานยืมใส่แล้วชวนกันไป แอ่วสาว หรือสนทนาเกี้ยวนางอัจฉรา เมื่อไปถึงอ้ายร้อยกาบลานก็บอกให้บุตรเศรษฐีขึ้นไปสนทนากับนางบนปราสาทส่วนตนเองก็นั่งรออยู่ด้านล่าง เมื่ออ้ายร้อยกาบลานรู้สึกเหงาก็เอาพิณมาดีดและอธิษฐาน ให้ผู้ได้ยินเสียงพิณนั้นเมตตารักใคร่ตน ซึ่งเสียงพิณดังกล่าวก็น้อมจิตคนทั้งหลายรวมทั้งพระธิดา ให้มีไมตรีจิตต่ออ้ายร้อยกาบลาน นางอัจฉราจึงเรียกให้อ้ายร้อยกาบลานขึ้นไปสนทนาบนปราสาท แต่อ้ายร้อยกาบลานก็ว่าตนเป็นคนจน ไม่อาจไปเสนอหน้าได้ แต่นางก็เรียกแล้วเรียกอีกจนอ้าย ร้อยกาบลานอ่อนใจจึงขึ้นไปบนปราสาทและนั่งอยู่คู่กับสหาย นางอัจฉราเห็นความสง่างามของ อ้ายร้อยกาบลานแล้วก็พอใจมาก ทั้งสองได้สนทนากันจนใจของนางเอียงเอนไปชอบอ้ายร้อยกาบลานมากกว่าบุตรเศรษฐี ฝ่ายลูกเศรษฐีที่นั่งร่วมสนทนาอยู่ด้วยนั้น ยิ่งนานก็ยิ่งเห็นท่าทีที่นางจะพอใจอ้ายร้อยกาบลานมากกว่าตน จึงคิดที่จะทำให้สหายซึ่งกลายมาเป็นคู่แข่งให้อับอายขายหน้า จึงพูดว่าอ้ายร้อยกาบลานยืมผ้าของตนไปสวมใส่และบอกให้รีบถอดคืน นางอัจฉราได้ยินเช่นนั้นก็ไปนำเสื้อผ้าอย่างดีมาให้สวมใส่แทน ลูกเศรษฐีก็นำเสื้อผ้านั้นไปบอกกับบิดาว่าราชบุตรเขยอาจเป็นอ้ายร้อยกาบลานมากกว่าตนเสียแล้ว เศรษฐีได้ยินก็เดือดร้อนใจมาก จึงออกอุบายให้ลูกแต่งวัวต่างออกไปค้าขายและให้ชักชวนอ้ายร้อยกาบลานไปด้วย หากได้โอกาสก็ให้ฆ่าเสียในป่า บุตรเศรษฐีก็ชวนอ้ายร้อยกาบลานให้ร่วมในขบวนค้าวัวต่างด้วย พอไปถึงร่มไม้ใหญ่ในป่าลึกแห่งหนึ่งก็หยุดขบวนและพักวัวพาหนะ บุตรเศรษฐีก็บอกให้อ้ายร้อยกาบลานไปหาน้ำมาดื่ม พร้อมกันนั้นก็สะกดรอยตามไปด้วย พออ้ายร้อยกาบลานไปชะโงกดูน้ำซึ่งอยู่ที่ก้นห้วยลึกลิ่วลงไป บุตรเศรษฐีก็ผลักให้อ้ายร้อยกาบลาน ตกลงไปตายอยู่ที่ก้นห้วย จากนั้นก็ให้เคลื่อนขบวนวัวต่างกลับไปเล่าให้พ่อฟัง ซึ่งเศรษฐีผู้พ่อก็พอใจ เพราะคิดว่าบุตรของตนจะได้เป็นราชบุตรเขยอย่างแน่นอน
เมื่อลูกเศรษฐีไปเยือนนางอัจฉรานั้นนางก็ถามถึงอ้ายร้อยกาบลานโพธิสัตว์ บุตรเศรษฐีก็ว่าอ้ายร้อยกาบลานป่วยและตายในป่าแล้ว โดยที่ตนได้พยายามรักษาอย่างเต็มที่แล้วแต่ก็ไม่อาจรักษาชีวิตของอ้ายร้อยกาบลานไว้ได้ นางทราบเช่นนั้นก็มีแต่ความทุกข์อยู่ในใจ บุตรเศรษฐีก็แสร้งทำเป็นเสียใจและปลอบโยนนางต่างๆ และว่าชายยากจนผู้นั้นก็เสียชีวิตไปแล้ว และเสนอให้รักตนแทน โดยเฉพาะตนมีทรัพย์มากและมีหน้ามีตามากกว่า ซึ่งนางอัจฉราเมื่อเห็นว่าอ้ายร้อยกาบลานตายไปแล้ว จึงตัดสินใจยอมรับบุตรเศรษฐี จากนั้นจึงทูลความแก่พระบิดา และหลังจากนั้นก็ได้มีงานอภิเษกสมรสของพระธิดาและบุตรเศรษฐีขึ้น
ฝ่ายอ้ายร้อยกาบลานที่นอนตายอยู่ที่ก้นห้วยนั้น แม้เวลาจะผ่านไปถึงสามเดือนแล้ว แต่ซากศพก็ยังไม่เปื่อยเน่า เมื่อพระอินทร์ทราบเหตุแล้วก็นำน้ำอมฤตมากรอกเข้าปากให้ฟื้นคืนมา แล้วพระอินทร์ก็บอกทางกลับเมืองพาราณสีให้ หลังจากที่อ้ายร้อยกาบลานเดินไปตามทางที่พระอินทร์แปลงบอกนั้น ส่วนพระอินทร์ก็แปลงเป็นชายแก่ที่ป่วยหนักไปดักรออยู่ข้างหน้า เมื่ออ้ายร้อยกาบลานไปพบเข้าก็ไปช่วยดูแล พระอินทร์แปลงก็บอกว่าหากตนตายแล้วก็ขอให้ฝังไว้ในที่นั้น และยกย่ามประจำกายให้ ในย่ามมี รองเท้าวิเศษซึ่งสวมแล้วเหาะได้ กับไม้เท้าวิเศษ ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น และ พิณวิเศษซึ่งมีเสียงข่มข้าศึกและโน้มใจคนให้เมตตา เมื่อพระโพธิสัตว์ฝังศพพระอินทร์แปลงแล้วก็สวมรองเท้าวิเศษเหาะกลับเมืองพาราณสี เมื่อถึงเมืองแล้วอ้ายร้อยกาบลาน พระโพธิสัตว์ก็ลอยอยู่ในอากาศและดีดพิณให้มีเสียงไพเราะกังวาลไปทั่วเมือง เศรษฐีพ่อลูกได้ยินเสียงพิณก็ตระหนักว่าเป็นเพลงพิณของอ้ายร้อยกาบลานเป็นแน่ จึงพากันเตลิดหนีเข้าป่าไปด้วยความหวาดกลัวว่าจะถูกตามฆ่าและกระเซอะกระเซิงไปจนตกเหวตายทั้งสองพ่อลูก
ฝ่ายนางอัจฉราเมื่อได้ยินเสียงพิณแล้วก็รู้ได้ว่าเป็นเสียงพิณจากอ้ายร้อยกาบลาน แต่นางก็สงสัยว่าเมื่อเสียชีวิตไปแล้วจะกลับคืนมาได้อย่างไร ครั้นเงยหน้าขึ้นก็มองเห็นอ้ายร้อยกาบลานโพธิสัตว์ซึ่งอร่ามเรืองอลังการอยู่ในอากาศ คนทั้งหลายที่เห็นพระโพธิสัตว์ดีดพิณอยู่ในห้วงหาวเช่นนั้น ก็พากันยกย่องสรรเสริญในบุญญาธิการของหนุ่มน้อยที่ทุกคนเคยมองข้าม ส่วนพญาพาราณสีเมื่อเห็นชายหนุ่มลอยอยู่ในอากาศเช่นนั้น ก็เห็นว่าชายดังกล่าวมีบุญสมพาร(บุญญาธิการ)อันมาก จึงให้จัดเครื่อง บูชาสักการะอัญเชิญชายหนุ่มให้เป็นกษัตริย์ เมื่อพระโพธิสัตว์รับคำเชิญแล้วก็เลื่อนลอยลงมาสู่ ลานพระราชวัง จากนั้น พญาพาราณสีก็อภิเษกอ้ายร้อยกาบลานและนางอัจฉราให้ครองรักกันและครองเมืองพาราณสีด้วย ซึ่งอ้ายร้อยกาบลานก็ให้เสนาไปรับบิดามารดาของตนไปอยู่ในพระราชวังด้วยกัน อ้ายร้อยกาบลานโพธิสัตว์และนางอัจฉราก็ทำการปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม และได้ทำบุญรักษาศีลอย่างสม่ำเสมอ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
ค. สรุป
ในท้ายเรื่องมีประชุมชาดกว่าพระอินทร์คือ พระอนุรุทธเถระ เศรษฐีผู้บิดาคือ องคุลีมาล บุตรชายของเศรษฐีนั้นคือ เทวทัต บิดากับมารดาของพระโพธิสัตว์คือ พระเจ้าสิริสุทโธทนะกับ พระนางสิริมหามายา ส่วนนางอัจฉราได้แก่ นางยโสธราพิมพา บุคคลอื่นๆนอกเหนือนั้นได้แก่ พุทธบริษัท และอ้ายร้อยกาบลานคือ พระพุทธองค์(ตถาคต)
................................................
ขอขอบคุณ :
คุณอุดม รุ่งเรืองศร ผู้เรียบเรียง : การรับรู้แบบล้านนาต่อวรรณกรรมชาดกนอกนิบาต