กฏแห่งกรรมและตำนานรักอมตะ :
“ท้าวผาแดง-นางไอ่คำ”
*****************************************
ตามเรื่องที่เล่าขานสืบต่อกันมามูลเหตุที่ทำให้เกิด "หนองหาน" ต้นลำน้ำปาว ในปัจจุบันมีเรื่องเกี่ยวพันกับวรรณคดีของอีสานเรื่อง "ผาแดง - นางไอ่" นิยายรักระหว่าง "หนึ่งหญิง สองชาย" เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งพลาดรักและถูกทำร้ายจนตายก็กลายเป็นสงครามทำให้บ้านเมืองถล่มทลายเป็นหนองน้ำใหญ่และวรรณคดีอีสานเรื่องนี้เป็นปฐมเหตุของบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีที่ขึ้นชื่อลือชาของชาวอีสานตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เรื่องมีอยู่ว่า
"พระยาขอม" ผู้ครอง "เมืองเอกชะทีตา"ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่เมืองใหญ่ในยุคอดีต(เมืองเอกชะทีตานคร เมืองสาเกตุนคร เมืองศรีโคตรบูรณ์นคร และเมืองอินทรปัตถ์หรือเมืองพนมเปญนคร)ที่สาบานและคอยปกปักรักษาและบูรณะซ่อมแซม "พระธาตุพนม" (พระธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ในสุวรรณภูมิทวีปแห่งนี้ ซึ่งสร้างเมื่อพ.ศ. ๘ โดยพระมหากัสสปะเถระ และเหล่าอรหันต์สาวกที่เหาะเหิรมาจากประเทศอินเดีย เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระอุรังคธาตุ(กระดูกส่วนอกของพระพุทธองค์)ในพระธาตุพนมแห่งนี้ โดยเจ้ากรุงใหญ่ทั้ง ๔ เมืองในยุคนั้น สัญญากันว่าจะคอยผลัดกันเป็นเจ้าภาพดูแลและบูรณปฏิสังขรณ์คราวละ ๔ ปี โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป พระยาขอมมีพระญาติเป็นกษัตริย์และเป็นเจ้าเมืองต่างๆมากมาย เช่น พระอนุชาคือพระยาแดดครองเมืองฟ้าแดดสูงยาง พระอนุชาอีกพระองค์คือพระยาเชียงเหียนครองเมืองเชียงเหียน พระราชนัดดาต่างก็ครองเมืองต่างๆ เช่น เมืองหงส์ เมืองไพร และเมืองทอง เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าพระยาขอมเมืองเอกชะทีตาน้ันมั่นคง แข็งแรง อุดมสมบูรณ์และเป็นปึกแผ่นยิ่งนัก เมืองต่างๆก็ยำเกรงและชื่นชมในพระบารมีของพระองค์
พระยาขอมมีธิดานางหนึ่งชื่อ "นางไอ่คำ" เป็นสตรีที่มีรูปร่างสวยสดงดงามมากสวยงามกว่านางฟ้าและเทพธิดาในสรวงสวรรค์อีก โดยพระบิดาและพระมารดาต่างก็รักใคร่ทนุถนอมยิ่งนัก ได้สร้างปราสาท ๗ ชั้นให้อยู่กับนางบริวารรับใช้ ไม่เปิดโอกาสให้มาคลุกคลีกับคนทั่วๆ ไปโดยเฉพาะผู้ชายแต่อย่างใด นางไอ่คำก็เจริญวัยขึ้นและเมื่อโตเป็นวัยรุ่นแล้ว ความสวยงามของนางเป็นที่เลืองลือไปถึงบรรดาเจ้าชายเมืองต่าง ๆ จนเป็นที่หมายปองอยากจะได้มาเป็นคู่ครองและเป็นพระมเหสีกันทุกพระองค์
“ท้าวผาแดง”โอรสของเจ้าเมือง "ผาโพง" ได้ทราบข่าวเล่าลือถึงความงดงามของนางไอ่ก็เกิดความหลงใหลใฝ่ฝันในตัวนางเป็นอันมาก จึงวางแผนทอดสัมพันธไมตรีด้วยการเตรียมแก้วแหวนเงินทองพร้อมด้วยผ้าเนื้อดีไปฝากนางไอ่มากมาย เมื่อมหาดเล็กนำสิ่งของไปมอบให้นางไอ่ตามที่ท้าวผาแดงประสงค์ และเล่าถึงความรูปหล่อ ความสง่างาม องอาจ ผึ่งผาย สมชายชาตรีของผาแดงให้นางไอ่ฟังเท่านั้น นางก็เกิดความสนใจและฝากเครื่องบรรณาการไปให้ท้าวผาแดง เป็นการตอบแทนด้วยเช่นกัน ก่อนที่มหาดเล็ก จะเดินทางกลับนางไอ่คำได้ฝากคำกล่าวเชิญท้าวผาแดงซึ่งตั้งทัพรออยู่นอกเมืองไม่ให้เข้าไปในเมืองขอม เพื่อรอพบกับนางที่นอกเมืองก่อนด้วย และเมื่อทั้งสองได้พบกัน ต่างก็ตกตะลึงในกันและกันแล้วก็เกิดความรักขึ้นอย่างรุนแรงและลึกซึ้งเกินหักห้ามใจ อาจเป็นเพราะบุพเพสันนิวาสในชาติปางก่อนของทั้งคู่ ในที่สุดทั้งสองก็ได้ครองรักกันเป็นสามีภรรยาของกันและกัน และทั้งคู่ก็ได้แลกสวมแหวนเป็นสัญญารักให้ไว้แก่กันและกันด้วย ท้าวผาแดงสัญญาไว้ว่าจะกลับมาสู่ขอนางไอ่ไปเป็นภรรยาคู่ชีวิตในเร็ววัน
ฝ่าย “ท้าวพังคี” โอรสของพญานาคราชเมืองบาดาล ก็ได้ยินกิตติศัพท์ถึงความงดงามของนางไอ่เช่นเดียวกัน ก็เลยอยากจะมายลโฉมนางไอ่เช่นกัน อันเนื่องด้วยบุพกรรมในอดีตชาติบันดาลให้เป็นไป โดยเรื่องมีอยู่ว่า
ท้าวพังคีในอดีตชาตินั้นเป็นชายหนุ่มที่ยากจนและเป็นใบ้เดินทางขอทานไปตามหมู่บ้านต่างๆจนมาถึงบ้านของเศรษฐีคนหนึ่งจึงได้ไปขออาศัยอยู่และช่วยทำงานให้เศรษฐีคนนั้นโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยทำให้เศรษฐีพอใจและรักใคร่เป็นอย่างมากถึงกับยกลูกสาวคนหนึ่งซึ่งเป็นชาติปางก่อน (อดีตชาติ) ของนางไอ่ให้เป็นภรรยาท้าวพังคี ในชาตินั้นเป็นชายหนุ่มที่ไม่เหมือนใครแทนที่จะรักใคร่ภรรยา ของตนแต่เขาเขากลับไม่สนใจใยดี ไม่เคยร่วมหลับนอนด้วยกันแม้แต่ครั้งเดียว แต่ภรรยาก็ไม่เคยปริปากบอกให้ใครทราบนางปรนนิบัติสามีเยื่องภรรยาที่ดีเสมอมา ต่อมาท้าวพังคีคิดถึงบ้านจึงพาภรรยาเดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนของตน เศรษฐีผู้เป็นบิดาจัดเสบียงให้มีภรรยาเป็นคนหาบเสบียงให้ ส่วนหนุ่มพังคีไม่เคยช่วยเหลือนางเลยทำให้นางลำบากและเหน็ดเหนื่อยมากในขณะที่เดินข้ามห้วย ภูเขาและป่าดงพงไพรจนกระทั่งเสบียงที่นำไปหมดลงกลางทาง ท้าวพังคีเห็นต้นมะเดื่อมีผลสุกเต็มต้นจึงขึ้นไปเก็บกินต่างข้าว ฝ่ายนางไอ่คอยให้สามีโยนผลมะเดื่อสุกลงมาให้ แต่ไม่ได้รับความสนใจแต่อย่างใด ส่วนสามีกินอิ่มคนเดียวแล้วลงมาจากต้นมะเดื่อเดินหนีไป นางจึงตัดสินใจขึ้นไปเก็บกินเองเมื่อนางกินอิ่มแล้วลงจากต้นมะเดื่อ ไม่พบสามีเดินตามหาอย่างไรไม่พบ นางจึงมีความทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่งพอมาถึงต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่งนางจึงลงไปอาบน้ำและดื่มกินพอมีความสดชื่นขึ้นมาบ้าง แล้วนางก็ตั้งจิตอธิษฐาน"ชาติหน้าขอให้สามีนอนตายอยู่บนกิ่งไม้อย่าได้เป็นสามีภรรยากันอีกเลย"ด้วยแรงอธิษฐานของนางในชาติต่อมาสามีของนางจึงเกิดมาเป็นท้าวพังคีส่วนนางได้เกิดมาเป็นนางไอ่คำนั้นเอง
เมื่อนางไอ่ผู้มีสิริโฉมงดงามเติบโตเป็นสาวแล้วพระยาขอมผู้เป็นบิดาได้มีใบฎีกาแจ้งข่าวให้หัวเมืองน้อยใหญ่ต่างๆ ให้จัดทำบั้งไฟมาจุดแข่งขันกันที่เมืองเอกชะทีตา โดยมีจุดประสงค์เพื่อจุดขึ้นไปบูชาพระยาแถนอยู่บนฟ้าให้บันดาลให้ฝนตกลงมาตามฤดูกาลประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง หากบั้งไฟของคนใดขึ้นสูงกว่าเพื่อนคนนั้นจะได้นางไอ่ไปเป็นคู่ครอง โดยพระยาขอมได้กำหนดให้จัดงานขึ้นในวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ เป็นวันงาน ทำให้บ้านเมืองน้อยใหญ่พากันทำบุญบั้งไฟหมื่นบั้งไฟแสนมาแข่งกันมากมาย งานบุญบั้งไฟครั้งนั้นนับเป็นงานที่ใหญ่โตมากเพราะเป็นงานของกษัตริย์ พอถึงวันงานผู้คนต่างหลั่งไหลมาทั่วทุกสารทิศ ในงานมีมหรสพสมโภชต่างอย่างสนุกสนานมากมาย มีการแข่งขันตีกอง หรือภาษาอีสานเรียกว่า "เส็งกอง" กันอย่างครึกครื้น หนุ่มสาวต่าง “จ่ายผญา” เกี้ยวพาราศีกันอย่างสนุกสนาน แม้งานบุญบั้งไฟครั้งนี้ท้าวผาแดงจะไม่ได้รับหนังสือฎีกาบอกบุญแต่ก็ได้นำบั้งไฟมาร่วมงานด้วย(เป็นแผนของพระยาขอมที่จะพิสูจน์รักแท้ของผาแดงที่มีต่อนางไอ่ เพราะหากรักจริงรักแท้แล้ว ถึงไม่เชิญก็ต้องมาวันยังค่ำ ซึ่งผาแดงก็มาร่วมงานนี้จริงๆ เพราะว่าทุกลมหายใจเข้าออกมีแต่นางไอ่คำคนเดียวเท่านั้น อยากมาหาอยากมาเห็นหน้าและอยู่ใกล้ชิดทุกวินาทีเลยทีเดียว และยังขมักเขม้นขมีขมันซุ่มทำบั้งไฟอย่างดีเพื่องานนี้โดยเฉพาะ โดยพระองค์ได้เฝ้าควบคุมดูแลและสั่งการการทำบั้งไฟทุกขั้นตอนด้วยพระองค์เองเลยทีเดียว) ซึ่งพระยาขอมก็ได้ให้การต้อนรับท้าวผาแดงเป็นอย่างดี
ฝ่ายท้าวพังคีโอรสเจ้าเมืองบาดาลทราบข่าวอยากมาร่วมงานที่เมืองมนุษย์ด้วยทั้งนี้เพราะท้าวพังคีต้องการชมโฉมนางไอ่ เป็นกำลังอยู่แล้วและคิดในใจว่าจะต้องไปชมบุญบั้งไฟครั้งนี้ให้ได้ แม้ว่าพระบิดาจะห้ามไม่ให้ไปยุ่งกับพวกมนุษย์อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะโผล่ขึ้นที่เมืองเอกชะทีตาของพระยาขอมท้าวพังคีสั่งให้บริวารแปลงร่างเป็นมนูษย์บ้างเป็นสัตว์บ้าง ส่วนตนเองแปลงร่างเป็น "กระรอกเผือก" หรือภาษาอีสานเรียก "กระฮอกด่อน" ออกติดตามชมความงามของนางไอ่ตามขบวนแห่ของเจ้าเมืองไปอย่างหลงใหล การแข่งขันบั้งไฟ เป็นไปด้วยความสนุกสนานทุกคนจดจ่ออยากรู้ว่าใครจะชนะและใครจะได้นางไอ่เป็นคู่ครอง ซึ่งการแข่งขันบั้งไฟในครั้งนั้นท้าวผาแดงกับพระยาขอมมีการพนันกันว่าถ้าบั้งไฟของท้าวผาแดงชนะพระยาขอมก็จะยกนางไอ่ให้เป็นคู่ครอง
ผลการแข่งขันปรากฏว่าบั้งไฟของพระยาขอมและท้าวผาแดงต่างไม่ขึ้นด้วยกันทั้งสองบั้ง(ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งพญานาคท้าวพังคีที่ได้บังคับให้บั้งไฟของพระยาขอมไม่ขึ้น หรือ “ซุ” ส่วนบั้งไฟของผาแดงนั้น พญานาคได้ใช้ฤทธิ์ทำให้แตก “ระเบิด”กลางอากาศ หรือ “แตกกลางบั้ง” ทั้งๆ ที่บั้งไฟจากฝีมือช่างของเมืองผาโพงนั้นดีมากและจะชนะบั้งไฟจากทุกเมือง) คงมีแต่บั้งไฟของพระยาแดด "เมืองฟ้าแดดสูงยาง" และบั้งไฟจาก "เมืองเชียงเหียน"ของพระยาเชียงเหียนเท่านั้นที่ขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นเวลานานถึงสามวันสามคืนจึงตกลงมายังพื้นดิน แต่พระยาทั้งสองนั้นเป็นอาของนางไอ่ด้วย การแข่งขันเพื่อได้นางไอ่เป็นรางวัลนั้นจึงต้องล้มเลิกไป เมื่องานบุญบั้งไฟเสร็จสิ้นแล้วท้าวผาแดงและท้าวพังคีต่างฝ่ายต่างกลับบ้านเมืองของตน
ในที่สุดท้าวพังคีทนอยู่ในเมืองบาดาลต่อไปไม่ได้เพราะหลงใหลในสิริโฉมของนางไอ่ จึงพาบริวารกลับมายังเมืองมนุษย์อีกโดยแปลงร่างเป็นกระรอกเผือกอย่างเดิมส่วนที่คอจะแขวนกระดิ่งทองไว้ และได้กระโดดไปเกาะอยู่บนกิ่งไม้ใกล้หน้าต่างห้องนอนของนางไอ่ เสียงกระดิ่งทองดังกังวาลขึ้นนางไอ่ได้ยินเสียงกระดิ่งเกิดความสงสัยจึงเปิดหน้าต่างออกมาดู เห็นกระรอกเผือกแล้ว มีความพอใจอยากได้ นางจึงสั่งให้นายพรานฝีมือดีจากบ้านกงพาน ให้ตามจับกระรอกเผือกตัวนั้นมาให้ได้ไม่ว่าจะจับตายหรือจับเป็น นายพรานออกติดตามกระรอกเผือกที่กระโดดไปตามกิ่งไม้ เริ่มตั้งแต่บ้านพันดอนบ้านน้ำฆ้อง นายพรานไม่ได้โอกาสเหมาะสักทีจึงไล่ติดตามไปเรื่อย ๆ จนถึงบ้านนาแบก บ้านดอนเงิน บ้านยางหล่อ บ้านเหล่าใหญ่ บ้านเมืองพรึก บ้านม่วง ก็ไม่มีโอกาสยิงกระรอกสักที ในที่สุดผลกรรมเก่าในอดีตส่งผลตามมาทัน ขณะที่กระรอกมาถึงต้นมะเดื่อที่มีผลสุกเต็มต้นกระรอกได้ก้มหน้าก้มตากินผลมะเดื่อสุกด้วยความหิวโหย นายพรานจึงได้โอกาสยิงกระรอกด้วยหน้าไม้ซึ่งเป็นลูกดอกอาบยาพิษ เมื่อถูกยิงท้าวพังคีในร่างของกระรอกเผือกรู้สึกเจ็บปวดมาก เมื่อรู้ตัวว่าตนเองว่าจะต้องตายแน่นอน จึงสั่งให้บริวารนำความไปแจ้งให้บิดาของตนทราบด้วย โดยก่อนตายพังคีในร่างกระรอกเผือกได้อธิษฐานว่า ขอให้เนื้อของตนมีมากมายถึงแปดพันเล่มเกวียนพอเลี้ยงคนได้ทั่วถึงทั้งเมือง เมื่อกระรอกสิ้นใจตายนายพรานกับพวกได้นำเอาไปชำแหละที่บ้านเชียงแหว โดยแบ่งให้ผู้คนทั้งบ้านใกล้และบ้านไกลได้กินกันโดยทั่วถึงยกเว้น "บ้านดอนแม่หม้าย" ที่ไม่มีผัวหรือ "บ้านดอนแก้ว" ซึ่งเป็นเกาะอยู่กลางทุ่งหนองหานที่รอดพ้นจากการถูกถล่มทลายและยังปรากฎอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อบริวารไปบอก "พญาศรีสุทโธนาคราช" เจ้าแห่งบาดาลผู้เป็นบิดาของพังคีนั้นเอง ซึ่งโกรธแค้นเดือดดาลเป็นอย่างมาก พร้อมกับประกาศก้องว่า "พวกมึงจงขึ้นไปถล่มเมืองเอกชะทีตาให้ล่มจมในบัดนี้ และใครที่กินเนื้อลูกของกูพวกมึงจงอย่าไว้ชีวิตพวกมัน" จึงสั่งบ่าวไพร่จัดพลขึ้นไปอาละวาดบนโลกมนุษย์เสียงดังครืน ๆ ทั่วแผ่นดินของเมืองเอกชะทีตา
ขณะที่บ้านเมืองถูกเหล่าพญานาคถล่มทลายอยู่นั้น ท้าวผาแดงกำลังขี่ม้า "บักสาม" มุ่งหน้าไปหานางไอ่ด้วยความรักและความคิดถึงใจจะขาด ซึ่งก็ได้เห็นนาคเต็มไปหมดและได้เล่าเรื่องที่พบเห็นให้นางไอ่ฟัง นางไอ่ไม่สนใจได้แต่ทำอาหารที่มีกลิ่นหอมเป็นพิเศษมาให้ผาแดงรับประทาน ท้าวผาแดงจึงถามว่าเนื้ออะไรจึงมีกลิ่นหอมนัก ก็ได้รับคำตอบว่าเนื้อกระรอกเผือกที่ถูกนายพรานยิงตาย แต่ผาแดงไม่ยอมกินอาหารนั้น(และยังถูกกระแนะกระแหนว่า "หึงแม้กระทั่งกระรอกที่ตายแล้ว" จึงไม่พูดอะไรต่ออีก) ได้แต่กินอย่างอื่นแทน พอตกตอนกลางคืนขณะที่ผู้คนหลับสนิทเหตุการณ์ที่ใคร ๆ ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น คือมีเสียงดังครืน ๆ ทั่วแผ่นดินเมืองเอกชะทีตาของพระยาขอม แล้วเมืองก็ได้ถล่มทลายลงเป็นหนองหานน้อย ซึ่งเป็นต้นน้ำปาวในปัจจุบัน ท้าวผาแดงทราบได้ทันทีว่าเป็นการกระทำของพวกพญานาค จึงคว้าแขนนางไอ่ขึ้นหลังม้าบักสาม พร้อมกับเก็บเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองและของจำเป็นของเมืองเอกทีตาไปด้วย คือ กลอง และฆ้อง แล้วก็ควบม้าหนีออกจากเมืองเพื่อให้พ้นภัย แต่เนื่องจากนางไอ่ได้รับประทานเนื้อกระรอกเผือกกับเขาด้วย แม้จะหนีไปทางไหนพวกนาคก็ตามไปและทำให้แผ่นดินถล่มถล่มทลายไปด้วย ท้าวผาแดงมุ่งหน้าไปทางเทือกเขาภูพาน ม้าบักสามกระโดดอย่างสุดฤทธิ์ สองขาหน้าข้ามขอนไปได้แต่สองขาหลังคู้ขึ้นมาไม่ข้าม จึงทำให้ม้าเสียหลักล้มพังพาบลง อวัยวะเพศของม้าไปกระแทกกับภูพานน้อยเป็นร่องลึกลงไป (กลายเป็น "ห้วยสามพาด"ตั้งแต่นั้นมา) จากห้วยสามพาดเพื่อหนีไปเมืองผาโพงของท้าวผาแดงแต่ก็ไร้ผล เพราะถูกพวกนาคติดตามอย่างไม่ลดละนั้นเอง ในที่สุดนางไอ่ก็ถูกพญานาคใช้หางฟาดตกจากหลังม้าและจมหายไปในพื้นดินลงสู่เมืองบาดาลทันที สุดแรงที่จะตามเมียรักกลับมาได้ทัน
นางไอ่จมลงดินหายไปต่อหน้าต่อตา ส่วนท้าวผาแดงและม้าบักสามเองตกใจสุดขีด ท้าวผาแดงได้กระเด็นตกจากหลังม้าบักสามแล้วก็ล้มลงสลบหมดสติไปนาน จนหมอกและน้ำค้างลงจัดจึงได้สติและฟื้นคืนมา หลังจากนั้นท้าวผาแดงและม้าบักสามต่างแข็งใจเดินโซซัดโซเซกลับถึงเมืองผาโพงอย่างเจ็บปวดทุกข์ทรมานเกินบรรยาย ด้วยความรัก สงสาร และห่วงหาอาลัยในนางไอ่เมียสุดที่รัก ท้าวผาแดงเกิดตรอมใจคิดถึงแต่นางไอ่ตลอดเวลา ข้าวปลาอาหารต่างๆไม่ยอมเสวยจนผ่ายผอม และแล้วก็ได้ล้มป่วยลง ในที่สุดพระองค์ก็ตรอมใจตายบนปราสาทตามนางไอ่ไป โดยก่อนที่จะตายได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้เป็นหัวหน้าผีที่มีอำนาจมีอิทธิฤทธิ์มาก เพื่อที่จะตามไปทวงนางไอ่คำเมียรักกลับคืนมาจากพวกพญานาคเมืองบาดาล
เมื่อท้าวผาแดงตายไปกลายเป็นผี มีความอาฆาตพยาบาทต่อพญานาคอยู่ไม่วาย ครั้นมีโอกาสเหมาะผีท้าวผาแดงก็สั่งไพร่พลวิญญาณผีเตรียมตัวเดินกองทัพผีไปรบกับพวกพญานาคที่เมืองบาดาลให้หายแค้น ซึ่งผีท้าวผาแดงมีบริวารผีเป็นแสน ๆ การเดินทัพมีเสียงดังอึกทึกครึกโครมปานแผ่นดินจะถล่มทลาย และได้รายล้อมเมืองบาดาลซึ่งเป็นเมืองของพญานาคไว้รอบด้าน และแล้วกองทัพทั้งสองก็เปิดศึกสงครามกัน ต่างฝ่ายต่างใช้อิทธิฤทธิ์รบกันนานถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน (ชาวมนุษย์ได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครม หนองน้ำและแม่น้ำต่างๆก็ขุ่น ดินบนบกก็กลายเป็นฝุ่นตลบไปหมด แต่ชาวมนุษย์ก็มองไม่เห็นตัวอะไรได้ยินแต่เสียง ชาวบ้านต่างเดือดร้อน เพราะว่าจะนำน้ำมาดื่มกินจะหลับจะนอนก็ลำบาก) ผลการรบไม่มีใครแพ้ไม่มีใครชนะต่างฝ่ายต่างล้มตายกันมาก โดยเฉพาะเหล่าพญานาคทั้งหลายซึ่งล้มตายมากขึ้นๆ ทุกวันๆ
ฝ่าย "สุทโธนาคราช" เจ้าเมืองบาดาลเห็นดังนั้น ซึ่งตัวเองก็แก่ชรามากแล้วด้วย กังวลว่าจะแพ้และสูญพันธุ์นาคแน่ๆหากรบกันยืดเยื้อต่อไป และก็ไม่อยากทำบาปทำกรรมต่อไปอีก เพราะต้องการไปเกิดในภพของพระศรีอาริยเมตไตรย (พระพุทธเจ้าลำดับถัดในอนาคตกาล) จึงรีบรุดไปขอร้อง "ท้าวสักกะเทวราช" หรือ "พระอินทร์" ผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ให้มาช่วยห้ามผีท้าวผาแดงและเหล่าผีจากเมืองมนุษย์ให้ด้วย เมื่อพระอินทร์ทราบดังนั้น ท่านจึงได้สั่งให้ “ท้าวเวสสุวัณ” ผู้เป็นใหญ่หนึ่งในสี่ (จตุโลกบาล) ในสวรรค์ชั้น "จาตุมหาราชิกา" หรือ "โลกบาล" ให้มาห้ามศึกและตัดสินความให้ เมื่อท้าวเวสสุวัณได้ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้วนั้น ก็ทรงทราบว่า เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่ตามมาให้ผลในชาตินี้นั้นเอง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างๆก็มีเหตุผลพอ ๆ กัน ดังนั้นท้าวเวสสุวัณ จึงขอให้ทั้งสองฝ่ายเลิกราต่อกันไป ไม่ต้องฆ่ากันให้มีเมตตาต่อกัน ให้รักษาศีลห้าปฏิบัติธรรมและให้มีขันติธรรม ซึ่งทั้งผีท้าวผาแดงและพญาศรีสุทโธนาคราช เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของท้าวเวสสุวัณแล้ว ต่างก็เข้าใจในเหตุผล ต่างฝ่ายต่างอนุโมทนาสาธุการ แล้วเหตุการณ์จึงยุติลงด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันและอภัยกันในที่สุด...
หมายเหตุ :
# ต่างดวงจิตดวงวิญญาณ ต่างก็ไปเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ตามบุญตามกรรมที่ได้สร้างสมกันมา
# หนองหานของเมืองสกลนครในปัจจุบันนั้น คือที่ตั้ง “เมืองเอกชะทีตา”ในสมัยโน้นที่จมหายลงไป(หนองที่เกิดจากเมืองจมหายไป = หนองเมืองหาย = หนองเมืองหาน = หนองหาย= หนองหาน)
# “ดอนแม่หม้าย”คือ หมู่บ้านแม่หม้าย หรือบ้านดอนแก้ว ที่ไม่ได้ถูกแบ่งเนื้อกระรอกเผือกให้กินจึงไม่จมลงไป(แม่หม้ายสมัยโน้นถูกรังเกียจ หาว่าไม่มีสามีได้ทำงานรับใช้บ้านเมือง)
# หนองหานกุมภวาปี(อุดรธานี)คือสถานที่สุดท้ายที่ท้าวผาแดงขี่ม้าพาแฟน(นางไอ่)มาถึง แต่พญานาคตามมาทันและได้พรากนางไอ่จมลงสู่เมืองบาดาล(หนองที่เกิดจากแฟนจมหายไป = หนองแฟนจมหาย = หนองแฟนหาย = หนองหาย = หนองหาน)
# แปลกแต่จริง!หนองหานกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี มีแต่ดอกบัวสีชมพูและสีแดงเกิดขึ้นตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน(ทะเลบัวชมพูหรือทะเลบัวแดง)...ช่างน่าอัศจรรย์จริงๆ
# ประเพณี “บุญบั้งไฟ”ที่ยิ่งใหญ่และงดงามของชาวอีสานยังบอกกล่าวเล่าเรื่องราวของ “ผาแดง-นางไอ่”สู่รุ่นลูกหลานจนถึงปัจจุบันนี้...น่าศึกษาจริงๆ
# ประเพณี “แห่ผีตาโขน”(อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย) ที่ตั้ง “เมืองผาโผง”ของเจ้าชายผาแดง ที่พระองค์ตรอมใจตายบนปราสาทแล้วกลายไปเป็นผี แล้วเตรียมขบวนกองทัพผีไปปราบพวกพญานาคเมืองบาดาล...เป็นประเพณีตรงกันตามตำนาน...และมีการปฏิบัติเป็นประเพณีสืบมาจนปัจจุบัน..ซึ่งตรงกันกับอดีต...ช่างน่าอัศจรรย์จริงๆ
# ที่ตั้ง “พระธาตุศรีสองรัก”(อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย)คือสถานที่ๆท้าวเวสสุวัณได้ไกล่เกลี่ยให้กองทัพผีของผาแดงกับกองทัพของพญานาคเมืองบาดาลได้เจรจาสงบศึกและให้อภัยกัน...แปลกแต่จริง!...พระธาตุนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา(พระมหาจักรพรรดิ)ของราชอาณาจักรสยาม กับ พระไชยเชษฐากำแพงนครเวียงจันทร์ของราชอาณาจักรล้านช้าง(ลาว) ได้ทำไมตรีเป็นพันธมิตรไม่รุกรานกัน และจะร่วมต่อต้านการรุกรานของพม่าหงสาวดี...โดยพระธาตุนี้ห้ามนุ่งชุด "สีแดง"หรืออะไรที่เกี่ยวกับสีแดงเข้าไปกราบไหว้สักการะบูชา???...และก็ยังปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้!...
# “เมืองหรือกรุงสาเกตุนคร” คือ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด (ในปัจจุบัน)
# “เมืองหรือกรุงศรีโคตรบูรณ์”คือ จังหวัดนครพนม (ในปัจจุบัน)
# “เมืองหรือกรุงอินทรปัตถ์” คือ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา (ในปัจจุบัน)
# “เมืองฟ้าแดดสูงยาง”ของพระยาแดด ก็คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ (ในปัจจุบัน)
# “เมืองเชียงเหียน”ของพระยาเชียงเหียน ก็คือ อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม (ในปัจจุบัน)
# “เมืองหงส์ คือ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด (ในปัจจุบัน)
# “เมืองไพร” คือ อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด (ในปัจจุบัน)
# “เมืองทอง” คือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด (ในปัจจุบัน)
ฯลฯ
# “ม้าบักสาม”คือ เทวดาที่ลงมาเกิดเพื่อรับใช้ท้าวผาแดง
# แปลกแต่จริง! ที่ “ป่าคำชะโนด” อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี จะเป็นทางขึ้นลงแห่งหนึ่งของเหล่าพญานาค ที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองบาดาล กับ โลกมนุษย์ ซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้
# สถานที่ๆเกี่ยวข้องกับตำนานนี้ ล้วนศักดิ์สิทธิ์และมีปาฏิหาริย์เป็นที่ประจักษ์มาจนถึงทุกวันนี้ และตลอดไป
...(มีคนไปลองและพิสูจน์มาแล้ว...ล้วนเจอดีและมีอันเป็นไปต่างๆนาๆ)...
(...ช่างอัศจรรย์! และน่าศึกษาค้นคว้าจริงๆ...)
...กฎแห่งกรรมยังวนเวียนต่อไป จนกว่าว่าดวงจิตนั้นจะบรรลุ “พระนิพพาน”...
ศิษย์ตถาคต
......................................................
http://www.youtube.com/watch?v=lxQ1-rxu_eo
http://www.youtube.com/watch?v=Gv0C7gAFiwk&feature=related