ไกรทอง
******************
เนื้อเรื่อง(โดยย่อๆ)
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ เมืองแห่งหนึ่ง(เมืองพิจิตรของไทยในปัจจุบัน)ซึ่งมีจระเข้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยจระเข้เหล่านี้จะแบ่งพรรคพวกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งจะอยู่ทางหัวเมืองด้านเหนือ และอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ทางหัวเมืองด้านใต้ ทางฝ่ายจระเข้หัวเมืองฝ่ายเหนือนั้นจะมีจระเข้ตัวใหญ่ที่มีชื่อว่า ท้าวรำไพ เป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นจระเข้ที่อยู่ในศีลธรรม ไม่เคยจับสัตว์หรือมนุษย์กินเป็นอาหาร และจะกินแต่ซากสัตว์ที่ตายแล้วเป็นอาหารเท่านั้น ส่วนทางฝ่ายจระเข้ทางหัวเมืองฝ่ายใต้นั้น จะมีนิสัยแตกต่างจากจระเข้ฝ่ายเหนือมาก คือ จระเข้เหล่านี้มักจะจับสัตว์ และมนุษย์กินเป็นอาหาร หัวหน้าของจระเข้ฝ่ายใต้นั้น เป็นจระเข้พี่น้องสองตัว มีชื่อว่า ท้าวพันตา และ ท้าวพันวัง อยู่มาวันหนึ่งก็เกิดมีเหตุการณ์ที่ทำให้จระเข้ทั้งสองฝ่ายเกิดความขัดแยังกัน เพราะจระเข้ฝ่ายใต้มักจะมารังแกเหล่าจระเข้ทางฝ่ายเหนืออยู่เสมอ ๆ จนวันหนึ่งจระเข้ฝ่ายเหนือโดนทำร้ายได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัสกันหลายตัว เหล่าบรรดาจระเข้จึงนำความไปแจ้งให้ท้าวรำไพช่วยเหลือ ท้าวรำไพได้ยินเรื่องราว จึงตัดสินใจจะไปทำการเจรจากับจระเข้ฝ่ายใต้ แต่ครั้งจะว่ายน้ำไปก็กลัวชาวบ้านจะแตกตื่น เพราะขนาดความใหญ่โตของตน ท้าวรำไพจึงคิดหาวิธีที่จะเดินทางไปยังหัวเมืองฝ่ายใต้
ในที่สุด ท้าวรำไพจึงตัดสินใจแปลงร่างเป็นมนุษย์ และในขณะที่ยืนอยู่ริมตลิ่งนั้นเอง ก็มีตายายพายเรือผ่านมา ท้าวรำไพจึงขออาศัยเดินทางไปยังเขตหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย เมื่อมาถึงแล้ว ท้าวรำไพได้กล่าวขอบคุณตากับยายและกำชับว่า ถ้าหากได้ยินเสียงหรือได้ยินอะไรก็ไม่ต้องตกใจ ให้รีบพายเรือไปที่ริมตลิ่งแล้วขึ้นฝั่งทันที จากนั้นท้าวรำไพจึงกลายร่างเป็นจระเข้อีกครั้ง แล้วออกอาละวาดเที่ยวฟาดหางอย่างคึกคะนอง เพื่อให้ท้าวพันตาและท้าวพันวังได้รับรู้ถึงการมาของตน ท้ายที่สุดท้าวพันตา จึงได้ขึ้นมาเผชิญหน้ากับท้าวรำไพ และได้ต่อสู้กันอยู่หลายวันหลายคืน และท้าวพันตาก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้กลับไป ครั้นเมื่อท้าวพันวังรู้ว่าท้าวพันตาผู้เป็นพี่ของตนนั้นได้พ่ายแพ้กลับมาจึงเกิดความโกรธแค้น และออกมาต่อสู้กับท้าวรำไพอีก แต่ก็ไม่อาจสู้กับท้าวรำไพได้ โดยระหว่างที่ทั้งสองกำลังสู้กันอยู่นั้น เจ้าพ่อองครักษ์ซึ่งสถิตย์อยู่บริเวณนั้นก็เกิดความสงสารท้าวพันวังที่ไม่อาจสู้กับท้าวรำไพได้ จึงเข้าไปช่วยโดยการเข้าประทับในร่างของท้าวพันวัง เมื่อท้าวรำไพเห็นดังนั้นจึงต่อว่า ว่าเป็นการไม่เป็นธรรมที่เทพมาช่วยจระเข้ทำบาป ฝ่ายท้าวพันวังได้ฟังจึงหัวเราะ แล้วกล่าวว่าท้าวรำไพกลัวจะแพ้ตน จึงได้อ้างเทวดาอารักษ์ เพราะตนนั้นสามารถเอาชนะได้ โดยไม่ต้องพึ่งเทพยดาใด ๆทั้งสิ้น เมื่อเจ้าพ่อองครักษ์ได้ยินดังนั้น จึงโกรธที่ท้าวพันวังไม่รู้คุณ จึงออกจากร่าง ท้าวพันวังก็เสียทีพ่ายแพ้ให้กับท้าวรำไพในที่สุด
ทางฝ่ายจระเข้หัวเมืองใต้ เมื่อไม่มีหัวหน้าก็ยิ่งออกอาละวาดทำความเดือดร้อนยิ่งกว่าเดิม จนในที่สุด ก็มีหมอจระเข้คนหนึ่งชื่อ ขุนไกร เป็นผู้ออกมาปราบปรามจระเข้เหล่านี้ และได้ฆ่าจระเข้ตายลงเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรดาจระเข้ต้องไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าพ่อองครักษ์ โดยให้สัญญาว่าถ้าหาเหยื่อมาได้ จะนำมาให้เจ้าพ่อก่อน และถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพ่อให้กินได้ ก็จะไม่ยอมกินเหยื่อนั้น อยู่มาวันหนึ่ง เกิดมีจระเข้ตัวใหญ่ตัวหนึ่ง คือ ไอ้ด่างเกยชัย ออกมาอาละวาดไล่กัดกินชาวบ้าน ขุนไกรจึงมาทำพิธีปราบซึ่งก็สามารถปราบได้ไอ้ด่างเกยชัยจนถูกฆ่าตาย ชาวเมืองพิจิตรไชโยโห่ร้องดีใจกันใหญ่ๆ แต่ในขณะที่กำลังดีใจอยู่นั้น จู่ๆก็มีจระเข้ตัวใหญ่มาก คือ "ท้าวโคจร"ได้จู่โจมขุนไกรโดยไม่ให้รู้ตัว ขุนไกรพลาดท่าถูกจระเข้ตัวนั้นกัดเข้ากลางลำตัว แต่ขุนไกรก็สามารถหนีขึ้นบกมาได้ เมื่อภรรยาของขุนไกรเห็นดังนั้นจึงรีบหาหมอมารักษาขุนไกร แต่ด้วยขุนไกรนั้นได้สิ้นอายุขัยแล้ว จึงได้มีจิ้งจกตัวหนึ่งแอบมาเลียที่แผล พิษจึงกำเริบทำให้ขุนไกรตายในที่สุด ต่อมาจึงเป็นความเชื่อกันว่า ผู้ที่ถูกจระเข้กัดนั้น หากถูกจิ้งจกมาเลียแผลผู้นั้นก็จะไม่มีทางรอด เพราะจิ้งจกเป็นสัตว์พันธุ์เดียวกันกับจระเข้
ทางฝ่ายท้าวรำไพที่เอาชนะท้าวพันวังได้นั้น ก็ได้กลับไปอยู่ที่หัวเมืองฝ่ายเหนือเหมือนเดิม และได้มอบตำแหน่งหัวหน้าให้กับลูกชายคือ ท้าวโคจร แต่ท้าวโคจรนั้นกลับมีนิสัยตรงกันข้ามกับท้าวรำไพ คือมีนิสัยอันธพาล ชอบก่อความเดือดร้อนและรังแกเหล่าจระเข้บริวาร และด้วยผลแห่งกรรม จึงถูกเหล่าบรรดาจระเข้รุมทำร้ายจนถึงแก่ความตายในที่สุด
หลายปีต่อมา ลูกชายโทนของขุนไกร ซึ่งมีชื่อว่า ไกรทอง ก็เติบโตขึ้น และได้ไปเรียนคาถาอาคมวิชาปราบจระเข้และเวทมนต์ต่าง ๆ กับ อาจารย์คง จนมีความเก่งกล้าสามารถเหมือนบิดาของตน และได้กลับมาอยู่บ้านกับแม่โดยใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายที่เมืองนนทบุรี(จังหวัดนนทบุรีของไทยในปัจจุบัน)
ด้านท้าวรำไพ เมื่อลูกชายของตนเอง คือ ท้าวโคจร ได้ตายลงแล้วจึงได้มอบตำแหน่งหัวหน้าให้กับหลานชายคือ ชาละวัน โดยชาละวันนั้นก็มีนิสัยดุร้ายเป็นอันธพาลหมือนกับบิดา มักชอบอวดตัวว่าคงกระพัน เพราะมีเขี้ยวเพชร ไม่มีผู้ใดทำลายตนได้ และได้ไล่กัดกินชาวบ้านจนเดือดร้อนกันไปทั่ว อีกทั้งยังมีนิสัยเจ้าชู้อีกด้วย วันหนึ่งชาละวันได้ออกมาว่ายน้ำเพื่อหาอาหารกิน และได้พบกับหญิงสาวสวยงามคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกสาวฝาแฝดคนเล็กของ ท่านมหาเศรษฐีคำ และ นางทองมาแห่งเมืองพิจิตร ชื่อว่า นางตะเภาทอง ซึ่งกำลังเล่นน้ำอยู่กับบ่าวไพร่ ตะเภาทองนั้นมีพี่สาวชื่อว่า นางตะเภาแก้ว ขณะที่ทั้งสองพี่น้อง และบ่าวไพร่เล่นน้ำอยู่ โดยไม่ทันได้สังเกตว่าชาละวันนั้นกำลังจ้องมองตะเภาทองอยู่ด้วยความถูกตาต้องใจและด้วยไม่อาจระงับจิตใจได้ ชาละวันจึงตัดสินใจโผล่ขึ้นเหนือน้ำ ฟาดหางจนน้ำกระจาย ทำให้บ่าวไพร่ที่เล่นน้ำอยู่นั้นแตกตื่นหนีเอาตัวรอดไปคนละทิศคนละทาง ส่วนนางตะเภาทองนั้นได้สลบเป็นลมไปเพราะความตกใจสุดขีด ชาละวันเห็นดังนั้นจึงตรงเข้าไปคาบร่างของนางตะเภาทองลงสู่ถ้ำของตนใต้ท้องน้ำทันที
ในถ้ำทองอันเป็นอาณาจักรของชาละวันนั้น ก็ยังมีจระเข้สาวอาศัยอยู่ที่นั้นสองตน ซึ่งทั้งสองนั้นเป็นภรรยาของชาละวันมีชื่อว่า นางวิมาลาและ นางเลื่อมไลวรรณ เมื่อชาละวันกลับมาถึงถ้ำพร้อมกับร่างของนางตะเภาทอง นางทั้งสองจึงเกิดความหึงหวง ต่อว่าชาละวันเป็นการใหญ่ แต่ก็ไม่อาจทำให้ชาละวันเปลี่ยนใจได้
ฝ่ายท่านเศรษฐีเมืองพิจิตรผู้เป็นบิดาของตะเภาทองนั้น ได้ทราบเรื่องก็ถึงกับตกใจเป็นอันมาก ฝ่ายมารดาก็ร้องไห้คร่ำครวญถึงลูกสาว ด้วยความเป็นห่วงกลัวว่าจะได้รับอันตราย ท่านเศรษฐีจึงได้ป่าวประกาศไปทั่วทุกสารทิศเพื่อหาผู้เก่งกาจมาปราบจระเข้ และนำตัวลูกสาวของตนเองกลับคืนมา โดยผู้ใดที่สามารถนำลูกสาวตนกลับมาได้นั้นก็จะมอบทรัพย์สินเงินทองให้เป็นรางวัล และที่สำคัญก็จะมอบนางตะเภาแก้วผู้เป็นลูกสาวอีกคนให้อีกด้วย
ซึ่งก็ได้มีผู้อาสามาปราบจระเข้มากมาย แต่ก็โดนจระเข้ร้ายและลูกสมุนของชาละวันเขมือบจนหมด และเมื่อข่าวรู้ถึงหูของไกรทอง ว่ามีจระเข้ออกอาละวาดจับหญิงสาวไปนั้น ทำให้ไกรทองรับขันอาสาไปปราบจระเข้ เพื่อเป็นการลองวิชาที่ได้เรียนมา และก็จะได้เงินทองไปให้แม่ของตนด้วย อีกทั้งไกรทองก็ได้ยินข่าวเล่าลือถึงความงามของลูกสาวทั้งสองของท่านเศรษฐีมาอีกด้วย ดังนั้นไกรทองจึงกราบลามารดาและอาจารย์คง โดยท่านอาจารย์ได้กล่าวเตือนไกรทองว่าชาละวันนั้นมีอิทธิฤทธิ์มากใครฆ่าไม่ตาย ถ้าหากจะฆ่าได้ต้องใช้ "หอกสัตตะโลหะ" ไกรทองจึงดั้นด้นไปหาช่างทำหอกที่บึงจระเข้สามพัน ซึ่งในการครั้งนี้เขามีคู่แข่งหนึ่ง คือ "เสี่ยเฮง"ที่หมายตาอยากจะได้ตะเภาทองไปเป็นภรรยาเหมือนกัน เมื่อเสี่ยเฮงทราบดังนั้นก็ทำการสะกดรอยไกรทองและพยายามหาทางแย่งหอกสัตตะโลหะที่ไกรทองได้ทำขึ้นมาแล้วนั้น เพื่อไปปราบชาละวันแทน แต่แผนการอันเลวร้ายกลับพลาดท่าทำให้เสี่ยเฮงได้ตกลงไปในบึงจระเข้สามพันและถูกจระเข้กัดกินจนตายอย่างอเนจอนาจ
เมื่อไกรทองเดินทางถึงเมืองพิจิตรแล้ว ก็ได้เข้าไปแจ้งความประสงค์กับท่านเศรษฐีและขันอาสาในการครั้งนี้โดยจะลงมือในวันรุ่งขึ้น ครั้นพอรุ่งเช้าชาวบ้านชาวเมืองต่างทะยอยมาเฝ้าดูการปราบพญาจระเข้ชาละวันของมือปราบหนุ่มรูปงามลูกชายขุนไกร โดยไกรทองก็จัดการทำพิธีตั้งศาลบวงสรวงเทพยดาอารักษ์ ทำพิธีไหว้ครูและขอพรพระรัตนตรัย แล้วก็ผูกแพลงไปกลางแม่น้ำเพียงลำพังผู้เดียวพร้อมด้วยอาวุธคู่กาย คือ หอกสัตตะโลหะ และ เทียนระเบิดน้ำ ไกรทองได้ท่องคาถาอาคมเรียกจระเข้ชาละวันให้ขึ้นมาเหนือน้ำ
ฝ่ายชาละวันนั้น ได้เกิดนิมิตในตอนรุ่งสางว่ามีไฟมาเผาผลาญตนเอง ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมาน และเทวดาก็ลงจากสวรรค์มาฟันร่างของตนขาดเป็นสองท่อน จึงตื่นตกใจ นำความไปให้ท้าวรำไพผู้เป็นปู่ตรวจทำนายให้ ท้าวรำไพจึงบอกว่า ชาละวันกำลังมีเคราะห์หนัก จะมีหมอจระเข้ที่เก่งฉกาจมาปราบ เพราะชาละวันได้นำมนุษย์นางหนึ่งมานั้นเอง ทางแก้ก็คือให้รักษาศีล นั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่แต่ในถ้ำ ห้ามออกไปใหนภายใน ๗ วันนี้อย่างเด็ดขาด จึงจะพ้นอันตรายได้ เมื่อชาละวันได้ยินดังนั้น จึงสั่งให้จระเข้บริวารนำก้อนหินมาปิดปากถ้ำไว้ แต่ในที่สุดก็ไม่อาจทนทานมนต์คาถาที่ไกรทองร่ายมนต์จนทนไม่ไหว เพราะเกิดความรุ่มร้อนกระวนกระวายอย่างหนัก จึงต้องออกจากถ้ำแล้วโผล่ขึ้นเหนือน้ำเพื่อต่อสู้กับไกรทอง ซึ่งการต่อสู้ในครั้งนั้นดุเดือด เสียงสนั่นหวั่นไหวไปทั้งไตรภพเลยทีเดียว ชาวบ้านต่างตกตะลึง ตื่นเต้น ระทึกใจ และหวาดเสียวยิ่งนัก เพราะจระเข้ตัวใหญ่และมีอิทธิฤทธิ์มาก จระเข้ยักษ์ได้สู้กับหนุ่มน้อยรูปงามกลางแม่น้ำ ซึ่งต่อสู้กันเป็นเวลานาน ในระหว่างที่กอดรัดพัลวันกันอยู่นั้น ไกรทองได้ทีจึงแทงด้วยมีดหมอใต้ราวนมด้านขาซ้ายคู่หน้าของชาละวัน ทำให้ชาละวันผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ร้องลั่นด้วยความเจ็บปวดแล้วก็รีบดำน้ำหนีลงไปในถ้ำทองเมืองบาดาลอย่างบอบซ้ำ
ไกรทองเห็นดังนั้นก็ไม่ละความพยายาม ได้ทำพิธีลอยกระทงเสี่ยงทายให้ลอยน้ำไปหยุดอยู่หน้าถ้ำของชาละวัน จากนั้นจึงใช้เทียนระเบิดน้ำ แหวกน้ำในแม่น้ำออกแล้วก็ตามชาละวันลงไปยังเมืองบาบาล เพื่อที่จะนำตัวนางตะเภาทองกลับคืนมา ไกรทองได้มาถึงถ้ำทอง และได้พบกับ นางวิมาลา และนางเลื่อมไลวรรณ ผู้เป็นภรรยาของชาละวัน ที่รักษาบาดแผลให้ชาละวัน และได้ออกมากันไกรทองไว้ ไกรทองถามหาชาละวัน แต่นางทั้งสองไม่บอกและจะทำร้ายไกรทอง ไกรทองเลยคิดอุบายได้ จึงทำเป็นลวนลามนางทั้งสองเพื่อให้นางทั้งสองร้องขอความช่วยเหลือ แล้วก็ได้ผล ชาละวันที่หลบซ่อนเลียบาดแผลอยู่ทนไม่ได้ จำใจออกไปต่อสู้กับไกรทอง ชาละวันและไกรทองได้ต่อสู้กันอยู่อย่างถึงพริกถึงขิงอย่างไม่ลดละ เมื่อได้จังหวะเหมาะไกรทองได้ใช้หอกสัตตะโลหะแทงชาละวันจนล้มลง แต่ด้วยความที่ไกรทองสงสารและไม่อยากทำบาปจึงเอายันต์ปิดที่หัวของจระเข้เอาไว้ เพื่อไม่ให้ออกอาละวาดอีก จากนั้นจึงตามหาตัวนางตะเภาทองที่อยู่ในถ้ำ และในที่สุดจึงพบว่านางตะเภาทองนั้นอยู่ในถ้ำของชาละวัน ด้วยอาการไม่มีสติเนื่องจากโดนมนต์ของชาละวันสะกดเอาไว้ จากนั้นไกรทองจึงบังคับให้ชาละวันนำนางตะเภาทองและตนขึ้นสู่เหนือน้ำทันที
เมื่อท่านเศรษฐี ภรรยา และชาวเมืองเห็นไกรทองและนางตะเภาทองกลับขึ้นมาเหนือน้ำ ต่างก็ไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจและชื่นชมในความเก่งกล้าสามารถของไกรทองเป็นอย่างมาก แต่นางตะเภาทองยังไม่คลายจากมนต์สะกดของชาละวัน เนื่องจากชาละวันนั้นยังไม่ตาย ท่านเศรษฐีจึงสั่งให้บ่าวไพร่ใช้มีดและขวานฟันที่ร่างของชาละวัน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรชาละวันได้ ไกรทองจึงจำต้องใช้หอกสัตตะโลหะของตนแทงและฟันร่างชาละวันขาดและถึงแก่ความตายในที่สุด นางตะเภาทองจึงตื่นจากมนต์สะกดได้ เมื่อนางตะเภาทองตื่นจากมนต์สะกด และเมื่อได้เห็นไกรทอง โดยที่ทั้งยังไม่รู้ว่าไกรทองเป็นคนช่วยตนเองไว้ ก็เกิดความรักตั้งแต่แรกตั้งแต่ได้สติกลับคืนมา ในวันต่อมาท่านเศรษฐีจึงได้ทำตามสัญญาที่จะยกทรัพย์สมบัติให้ไกรทอง และยกนางตะเภาแก้วให้เป็นภรรยานั้น จึงได้จัดพิธีแต่งงานให้กับไกรทองและนางตะเภาแก้ว และยังยกนางตะเภาทองให้เป็นภรรยาอีกคนหนึ่งด้วย เพราะเห็นว่านางตะเภาทองนั้นก็ชอบไกรทองด้วยเหมือนกัน และไกรทองเองก็รับนางทั้งสองไว้เป็นภรรยาของตนด้วยความเต็มใจ
เมื่อเวลาผ่านไป ไกรทองเกิดคิดถึงนางวิมาลาอย่างจับใจ เนื่องจากเคยเห็นหน้าและได้ลวนลามนางในครั้งเมื่อไปปราบชาละวันในถ้ำใต้บาดาล จึงออกอุบายว่าตนนั้นมักจะฝันร้าย เหมือนมีผีร้ายมาคอยกวนอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องไปหาอาจารย์คงเพื่อขอรดน้ำมนต์และทำพิธีปัดรังควาน เมื่อไกรทองออกจากบ้านมา ก็ได้ทำพิธีระเบิดน้ำและลงไปหานางวิมาลาทันที ทั้งนางวิมาลาและนางเลื่อมไลวรรณรู้ว่ามีผู้บุกรุกเข้ามา และผู้นั้นก็เป็นผู้สังหารสามีของตน แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้ เพราะต่างก็ไม่มีคาถาอาคมใด ๆ ไกรทองได้กล่าวเกี้ยวพาราสีให้ยอมเป็นภรรยาของตน แต่นางทั้งสองก็ไม่ยอม จนในที่สุดไกรทองต้องใช้มนต์เพื่อทำให้นางทั้งสองลุ่มหลงตน และยอมเป็นภรรยาในที่สุด ครั้นเมื่ออยู่กินได้พักใหญ่ ไกรทองเกิดคิดถึงนางตะเภาแก้วและตะเภาทองขึ้นมา จึงชักชวนนางจระเข้ทั้งสองให้ไปอยู่เมืองมนุษย์ด้วยกัน โดยได้ให้นางเลื่อมไลวรรณอยู่เฝ้าถ้ำทองไว้และนำนางวิมาลาติดตามไปตนเดียว และได้เสกผ้ายันต์ปิดหน้าผากนางวิมาลาให้กลายเป็นมนุษย์และนำไปซ่อนไว้ที่กระท่อมท้ายสวนหลังบ้านเศรษฐี
จากนั้นไกรทองจึงเดินทางกลับบ้านมาหาตะเภาแก้วและตะเภาทอง แต่ในที่สุดนางทั้งสองก็รู้เรื่องนางวิลามาจากบ่าวไพร่ ที่มาฟ้องว่าเห็นไกรทองไปที่กระท่อมท้ายสวนเสมอ ตะเภาแก้วและตะเภาทองจึงนำบ่าวไพร่ไปอาละวาดตบตีนางวิมาลา จนในที่สุดนางจึงดึงยันต์ออกแล้วกลายร่างเป็นจระเข้ไล่ทำร้ายนางตะเภาแก้วและตะเภาทองอย่างโกรธแค้น จากนั้นจึงหนีลงน้ำไป และคิดว่าตนเป็นสัตว์ไม่สมควรอยู่กินกับมนุษย์ จากนั้นมา ทั้งนางตะเภาแก้วและตะเภาทอง ต่างก็เอาอกเอาใจไกรทองหวังให้ลืมเรื่องนางจระเข้ทั้งสอง แต่ไกรทองก็ไม่อาจลืมได้ จึงได้ออกอุบายอีกครั้ง ว่านางจระเข้ทั้งสองอาจจะโกรธแค้น และจ้องทำร้ายตะเภาแก้วและตะเภาทองอยู่ ตนจึงต้องไปทำการเจรจาให้เข้าใจกัน แต่ตะเภาแก้วและตะเภาทองก็ยอมให้ไปอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก เมื่อไกรทองมาถึงถ้ำก็ได้พบกับนางวิมาลา และนางก็ไม่ยอมคืนดีด้วย แต่ไกรทองก็พูดหว่านล้อมต่าง ๆ นานา จนในที่สุดก็เข้าใจกันได้ โดยนางวิมาลาและนางเลื่อมไลวรรณจึงทำเสน่ห์ใส่ไกรทอง ทำให้ไกรทองลุ่มหลงนางทั้งสองและไม่ยอมกลับไปยังเมืองมนุษย์
ฝ่ายนางตะเภาแก้วและนางตะเภาทองก็ทนรอไม่ไหว จึงเดินทางไปหาท่านอาจารย์คงเพื่อหาทางให้นำไกรทองกลับคืนมา อาจารย์คงบอกนางทั้งสองว่า ไกรทองกำลังหลงเสน่ห์อันเกิดจากมนต์คาถาของนางจระเข้ จึงทำให้วิชาอาคมที่มีอยู่นั้นเสื่อมหมด อาจารย์คงจึงตัดสินใจไปช่วยลูกศิษย์ของตน เมื่อไปถึงยังถ้ำ อาจารย์คงได้เอาผ้ายันต์ปิดที่หน้าผากของไกรทอง แล้วพาขึ้นสู่เหนือน้ำทันที เมื่อมาถึงเมืองมนุษย์แล้ว อาจารย์คงได้ทำพิธีคลายมนต์ให้กับไกรทอง และไกรทองก็ได้รับผิดกับอาจารย์ กลับไปอยู่กับนางตะเภาแก้วและนางตะเภาทองดังเดิม หลังจากนั้นไม่นาน นางทั้งสองก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายทั้งคู่ คือ ไกรแก้ว ซึ่งเกิดจากนางตะเภาแก้ว และ ไกรดา ซึ่งเกิดจากนางตะเภาทอง และไกรทองก็ได้นำบุตรชายทั้งสองไปเป็นศิษย์ของอาจารย์คงเช่นตน ฝ่ายนางวิมาลาและนางเลื่อมไลวรรณ ก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายที่เกิดจากไกรทองเช่นเดียวกัน ลูกของนางวิมาลานั้น ชื่อว่า ไกรวงศ์ ส่วนลูกของนางเลื่อมไลวรรณ มีชื่อว่า ไกรเวช เมื่อไกรวงศ์และไกรเวช มีอายุได้พอสมควรแล้ว นางจระเข้ทั้งสองก็ได้ส่งให้ไปเป็นลูกศิษย์ของ "อาจารย์เหรา" เมื่อได้เรียนรู้วิชาคาถาอาคมมากพอควรแล้ว ทั้งสองจึงได้มาคิดว่าตนมีร่างเป็นมนุษย์แต่มีแม่เป็นจระเข้ จึงอยากรู้ว่าบิดาของตนทั้งสองนั้นเป็นใคร จึงได้ไปถามเอาความจากอาจารย์เหรา และได้รู้ว่าบิดาตนนั้นเป็นมนุษย์ชื่อไกรทองได้ทิ้งไป อยู่มาวันหนึ่งทั้งไกรวงศ์และไกรเวชก็ได้ตัดสินใจแน่วแน่ว่า จะพาบิดากลับมาอยู่กับมารดาของตนให้จงได้ จึงขึ้นไปยังเมืองมนุษย์ และร่ายมนต์ให้คนทั้งบ้านหลับไหลไม่ได้สติ แล้วยกเอาร่างของไกรทองกลับมายังถ้ำแล้ววางลงตรงกลางข้างกายมารดาทั้งสองใต้เมืองบาดาล ครั้นเมื่อไกรทองตื่นขึ้นมาก็พบว่าตนนั้นได้นอนอยู่ข้างนางวิมาลา และนางเลื่อมไลวรรณ เมื่อไกรวงศ์และไกรเวชเดินเข้ามาจึงถามว่าทั้งสองเป็นใคร และเมื่อได้รู้ความจริงทั้งหมดแล้วว่าไกรวงศ์และไกรเวชเป็นลูกของตนก็ดีใจมาก
ด้านนางตะเภาแก้ว ตะเภาทอง เมื่อเห็นว่าไกรทองหายไป จึงได้เดินทางไปหาอาจารย์คง เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง อาจารย์คงได้นั่งทางในและพบว่าไกรทองนั้นถูกลักพาตัวไปอยู่ในถ้ำกับนางวิลามาและนางเลื่อมไลวรรณ ไกรแก้วกับไกรดาจึงขออาจารย์ไปช่วยบิดาของตน แต่เมื่อไปถึงยังถ้ำแล้วก็ไม่อาจสู้กับเหล่าบรรดาจระเข้ใต้เมืองบาดาลนั้นได้ จึงกลับขึ้นมาขอความช่วยเหลือจากอาจารย์คง เมื่ออาจารย์คงเห็นดังนั้นก็ได้มอบจระเข้อาคมแกะจากไม้ให้ไปต่อสู้ใหม่ ในที่สุดก็สามารถเอาชนะได้ แต่ไกรเวชและไกรวงศ์คิดจะแก้แค้นคืนให้ได้ จึงไปขอให้อาจารย์เหราช่วย อาจารย์เหราจึงออกมาต่อสู้ และได้พ่นน้ำร้อนใส่ไกรแก้วและไกรดา ทำให้ทั้งสองต้องหนีขึ้นมาหาอาจารย์คงอีก อาจารย์คงจึงตัดสินใจไปช่วยไกรทองด้วยตนเอง ในที่สุดก็เอาชนะอาจารย์เหราได้ เพราะอาจารย์เหรานั้นอ้าปากจะกินอาจารย์คง แต่ก็โดนอาจารย์คงเอามีดแทงจนลิ้นขาด(สู้กันในร่างคน เพราะจระเข้ไม่มีลิ้น) ไกรดาและไกรแก้วจึงพาบิดากลับขึ้นสู่เมืองมนุษย์ได้ในที่สุด
เมื่อเวลาผ่านไป ท่านเศรษฐีก็สิ้นใจ จึงยกสมบัติทั้งหมดให้กับไกรทอง ต่อมาไกรทองจึงปรึกษากับภรรยาว่าจะหาคู่ให้กับลูกชายจึงได้ไปขอลูกสาวของ "ขุนราม" ที่มีนามว่า นางสายหยุด มาให้เป็นภรรยาของไกรแก้ว และก่อนที่จะถึงวันแต่งงานของไกรแก้ว นางสายหยุดและบ่าวไพร่ได้ลงไปเล่นน้ำ ซึ่งก็พอดีกับที่ไกรวงศ์ลูกนางวิมาลาเกิดมาพบเข้า จึงเกิดหลงรักเข้าทันที และคิดที่จะเอามาเป็นภรรยาให้ได้ ไกรวงศ์จึงเข้าไปเกี้ยวพาราสี แต่นางสายหยุดก็ไม่สนใจ เนื่องจากตนเองก็ชอบพอในตัวไกรแก้วอยู่และกำลังจะแต่งงานกัน เมื่อไกรวงศ์เห็นว่าไม่อาจเกี้ยวให้นางสายหยุดมาเป็นภรรยาตนได้ จึงคาบนางสายหยุดลงมายังถ้ำใต้บาดาล เมื่อขุนรามรู้เรื่อง จึงขอให้ไกรทองไปช่วยลูกสาวของตน ไกรทองจึงไปขอความช่วยเหลืออาจารย์คงให้นั่งทางในดูว่านางสายหยุดอยู่ที่ไหน ในที่สุดจึงรู้ว่าไกรวงศ์ผู้เป็นลูกของนางวิมาลานั้นเป็นผู้ก่อเรื่อง ไกรทองจึงขออาสาลงไปช่วยนางสายหยุดด้วยตนเอง เมื่อมาถึงถ้ำก็ได้พบกับไกรวงศ์ และได้สั่งสอนลูกว่าได้ทำสิ่งที่ผิด และขอให้ส่งนางสายหยุดคืน แต่อาจารย์เหราผู้ซึ่งทราบเรื่องมาโดยตลอด จึงปรากฏตัวและต่อว่าไกรทองว่าไม่รักลูกทั้งสองคนนี้เลย และโกหกว่าไกรวงศ์เป็นผู้ช่วยนางสายหยุดให้รอดจากการจมน้ำตาย จึงสมควรยกให้เป็นภรรยาของไกรวงศ์จึงจะถูก ไกรทองได้ยินดังนั้นก็รู้สึกโกรธมากที่อาจารย์เหราปั้นน้ำเป็นตัวให้ลูกชายของตนเองฟัง และบอกว่าอาจารย์เหราทำแต่เรื่องชั่วร้าย ทำให้ลูกชายของตนทำตัวไปในทางที่ไม่ถูก เมื่อได้ยินดังนั้น อาจารย์เหราจึงโกรธมาก และต่อสู้กับไกรทอง จนถูกไกรทองใช้มีดแทงเข้าที่คอของอาจารย์เหราและสิ้นใจตายในที่สุด ไกรวงศ์และไกรเวชเมื่อเห็นอาจารย์เหราสิ้นใจตายก็สำนึกผิด ก้มลงกราบพ่อและยอมรับผิด ไกรทองจึงสั่งสอนลูกทั้งสองว่า ตนไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชังอย่างที่อาจารย์เหราบอก แต่เพราะเห็นว่าลูกได้ทำสิ่งผิด จึงอยากให้ปรับปรุงตนให้เป็นคนดี และบอกว่าตนเองนั้นรักลูกเท่ากันทุกคน อยากให้ลูก ๆ เป็นคนที่มีจิตใจงาม ว่าแล้วก็บอกกับลูกทั้งสองว่าหลังจากงานแต่งงานของไกรแก้วแล้ว ตนจะกลับมาเยี่ยมลูก ๆและแม่ ใหม่
ต่อมาไม่นาน ไกรวงศ์และไกรเวช ก็โตเป็นหนุ่มเต็มตัว จึงเกิดเบื่อหน่ายชีวิตในถ้ำ จึงขอลาแม่ออกเดินทางไปท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ จนเมื่อมาถึงเมืองมิดถิลลา ไกรวงศ์เกิดไปพบกับ นางฉวีวรรณซึ่งกำลังเล่นน้ำอยู่ และเกิดหลงไหลในรูปโฉมอันงดงาม แต่ด้วยนางเป็นธิดาของท่านเจ้าเมืองมิดถิลลา ชื่อ ท้าวทศไชย และ นางมาลี ผู้เป็นพระมเหสี ไกรวงศ์จึงครุ่นคิดหาวีธีที่จะเอานางมาครอบครองให้ได้ จากนั้นไกรวงศ์จึงได้ไปปรึกษากับ ผีเสื้อสมุทร ซึ่งก็คืออาจารย์เหราที่มาเกิดใหม่นั่นเอง ผีเสื้อสมุทรออกอุบายจะแกล้งไปอาละวาดในเมืองมิดถิลลา แล้วให้ไกรวงศ์เข้าอาสาท้าวทศไชยไปปราบ หลังจากนั้น ท้าวทศไชยก็จะได้ยก นางฉวีวรรณให้ไกรวงศ์เป็นแน่ เมื่อถึงวันรับอาสาจริง ๆ เข้า ก็มีผู้รับอาสามามากมาย หนึ่งในนั้นก็มีไกรดาลูกของนางตะเภาทองอยู่ด้วย เพราะหลังจากที่ไกรแก้วแต่งงานแล้ว ไกรดาก็ท่องเที่ยวไปตามเมืองต่าง ๆ แต่ผู้เดียว จนเมื่อมาถึงเมืองมิดถิลลา และได้ข่าวว่ามี ผีเสื้อสมุทรมาอาละวาด ตนจึงรับอาสา และต่อมาจึงเกิดปัญหาขึ้นเมื่อผีเสื้อสมุทรถูกปราบลงแล้ว ไกรวงศ์อ้างว่าตนเป็นผู้ขับไล่ผีเสื้อสมุทร แต่ไกรดานั้นถือโอกาสเข้ามาสังหารทีหลัง ท้าวทศไชยจึงตัดสินให้ทั้งไกรวงศ์และไกรดาเป็นขุนนางทั้งสองคน โดยไม่ได้ยกลูกสาวให้กับใคร ซึ่งก็ถือว่าผีเสื้อสมุทรนั้นตายเปล่า
หลายปีต่อมา มี แขกสิงหลได้ยินกิตติศัพท์ความงามของนางฉวีวรรณ จึงได้ส่งสาส์นมาขอเป็นภรรยา ไม่อย่างนั้นตนจะยกกองทัพมาตีเมืองให้แตก ท้าวทศไชยจึงมอบหมายให้ไกรวงศ์และไกรดาออกรบ โดยให้ทัพหน้าเป็นไกรวงศ์ และทัพหลวงเป็นไกรดา ไกรวงศ์นั้นได้ปะทะกับเจ้าสิงหลได้ไม่นานก็พ่ายแพ้และหนีไป แต่ไกรดานั้นตั้งทัพรอสกัดรับได้ แต่ขณะที่กำลังรบกับ แขกสิงหลอยู่นั้น ไกรวงศ์ก็นำทัพเข้ามา ฉวยโอกาสตอนเจ้าสิงหลเผลอตัดหัวขาดจนสำเร็จ ทหารทัพสิงหลเมื่อเห็นเช่นนั้นก็แตกทัพกระจัดกระจาย เมื่อไกรดาเห็นการกระทำของไกรวงศ์ดังนั้นจึงต่อว่า ทำให้ทั้งทัพของไกรวงศ์และไกรดาต่างต่อสู้กันเอง และไกรวงศ์เองเห็นท่าไม่ดี จึงหนีออกมาพร้อมกับหัวของเจ้าสิงหล แล้วนำมาทูลถวายท้าวทศไชยเพื่อเอาความดีความชอบ ส่วนไกรดาก็ตามมาและได้เล่าความจริงทุกอย่างให้ท้าวทศไชยฟัง ครั้นท้าวทศไชยได้ฟังดังนั้นก็ครุ่นคิดและเห็นว่าถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ คงจะไม่ดีแน่ จึงตัดสินใจยกเมืองจันทรประเทศให้ไกรดาไปครอง และยกเมืองจันทรบุรีให้ไกรวงศ์ครองอีกเมืองหนึ่ง ทั้งไกรดาและไกรวงศ์ต่างก็ครองเมืองของตนด้วยความสงบร่มเย็นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และตำนานนิทานไกรทองก็จบลงเพียงเท่านี้