มัทนะพาธา : ตำนานดอกกุหลาบ
***********************
ก. มูลเหตุจูงใจ
ผู้เขียนแปลกประหลาดใจอย่างยิ่ง ใน ๓๑ ภพภูมิของสังสารวัฏนี้ ที่มีทั้งนรก สวรรค์ เทพ พรหม มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน แต่ที่อัศจรรย์ใจยิ่งกว่านั้น ก็คือว่า ต้นไม้และ ต้นดอกไม้ ต่างก็มีเทพเทวดาและเทพธิดา หรือ นางฟ้า ได้อาศัยและสิงสถิตอยู่ และจากการศึกษาธรรมะ จากคำสั่งสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ตั้งแต่ในอดีตและปัจจุบัน ทำให้เข้าใจและแจ่มแจ้งแล้วว่า เหล่าเวไนยสัตว์ทั้งหลายในสังสารวัฏ(ทั้ง ๓๑ ภพภูมิ) ล้วนเกี่ยวพันกันและเกี่ยวข้องกัน ยกเว้น โลกุตรภูมิหรือภูมิพ้นโลกของเหล่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งไม่ได้อยู่ในสังสารวัฏ และ ๓๑ ภพภูมิ (โลกียะภูมิ)นี้แล้ว
และสิ่งหนึ่งที่รู้ เห็น และเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นโดยเฉพะ กฎแห่งกรรม และ กรรมลิขิต หรือ บางคนและบางศาสนาเรียกว่า พรหมลิขิต โดยเฉพาะ เนื้อคู่ หรือ คู่บุญบารมีกันแล้ว ดังโบราณว่า เนื้อคู่กันแล้วไม่แคล้วกันหรอก แม้ว่าจะอยู่ต่างภพภูมิกันแค่ไหน? ก็ต้องได้พบและรักกันเหมือนเดิม เพราะเป็นไปตาม อำนาจของกรรม หรือ การกระทำที่สร้างสมร่วมกันมาแล้วนั้นเอง ใครก็ขัดขวางและหยุดยั้งไม่ได้ แม้แต่ ความตาย ดังคำสอนของพระอริยะเจ้าที่ว่า ใครจะใหญ่เกินกรรม
เรื่อง ของ นางมัทนะพาธา หรือ นางมัทนา หรือ นางดอกกุหลาบ ที่เป็น นางฟ้าหรือ เทพธิดาบนสวรรค์ แต่ก็ต้องมาพบรักแท้กับ มนุษย์บนโลกมนุษย์ คือ ท้าวชัยเสนกษัตริย์หนุ่มแห่งกรุงหัสตินาปุระ อันเนื่องมาจาก บุรพกรรม(กรรมเก่าในอดีต) และเป็น บุพเพสันนิวาสของทั้งคู่ และนี่คือที่มาและประวัติศาสตร์ของ ดอกกุหลาบ หรือ ต้นกุหลาบ ดอกไม้หรือต้นไม้ที่สวยงามและมีแต่ในสวรรค์เท่านั้น แต่ต้องมีเหตุต้องให้เกิดขึ้นและมีอยู่ในโลกมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเหล่ามนุษย์ทั้งหลายบนโลกใบนี้ ก็ได้นำมาเป็นสัญลักษณ์แห่ง ความรักที่มีแต่กันระหว่างชายกับหญิง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ข. เนื้อเรื่อง(โดยย่อ)
บนดินแดนอันเป็นสวรรค์ จอมเทพสุเทษณ์ ผู้เป็นเทพผู้ใหญ่บนสรวงสวรรค์ ได้เป็นทุกข์อยู่ด้วยความลุ่มหลงใน เทพธิดามัทนา แม้ว่า จิตระรถผู้สารถีคู่บารมีจะนำรูปของเทพเทวีผู้เลอโฉมหลายต่อหลายองค์มาถวายให้เลือกชม แต่จอมสุเทษณ์ก็มิสนใจไยดี จิตระรถจึงนำ มายาวินวิทยาธรมาเข้าเฝ้า ท้าวสุเทษณ์จึงให้มายาวินใช้เวทมนต์เรียกนางมัทนามาหา เมื่อนางมาแล้วนางมัทนาก็เหม่อลอยมิมีสติสมบูรณ์เพราะตกอยู่ในฤทธิ์มนตรา สุเทษณ์มิต้องการได้นางด้วยวิธีเยี่ยงนั้น จึงให้มายาวินคลายมนต์ แต่ครั้นได้สติแล้ว นางมัทนาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้มีจิตเสน่หาตอบด้วย ไม่ว่าสุเทษณ์จะเกี้ยวพาและรำพันรักอย่างไรก็ตาม สุเทษณ์โกรธนักจึงจะสาปนางมัทนาให้ไปเกิดในโลกมนุษย์
นางมัทนาได้ขอพรโดยขอให้นางได้ไปเกิดเป็นดอกไม้มีกลิ่นหอมเพื่อให้มีประโยชน์บ้าง สุเทษณ์จึงสาปมัทนาให้ไปเกิดเป็น ดอกกุหลาบที่งามทั้งกลิ่นทั้งรูป แต่ก็มีหนามไว้ป้องกันตัวด้วย และมีแต่เฉพาะบนสวรรค์เท่านั้น ซึ่งยังไม่เคยมีบนโลกมนุษย์ โดยที่ในทุกๆ ๑ เดือน นางมัทนาจะกลายร่างเป็นคนได้ชั่ว ๑ วันกับ ๑ คืน ในเฉพาะวันเพ็ญ(ขึ้น ๑๕ ค่ำ)ของแต่ละเดือนเท่านั้น และถ้านางมีความรักเมื่อใด นางก็จะมิต้องคืนรูปเป็นกุหลาบอีก แต่นางจะได้รับความทุกข์ทรมานเพราะความรักจนมิอาจทนอยู่ได้ และเมื่อนั้นถ้านางอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ตนจึงจะงดโทษทัณฑ์นี้ให้แก่นาง
นางมัทนาจึงไปจุติเป็นกุหลาบงามอยู่ในป่าหิมะวัน(ป่าหิมะพานต์) บรรดาศิษย์ของฤาษีนามว่า กาละทรรศินมาพบเข้าจึงนำความไปบอกพระอาจารย์ ฤาษีกาละทรรศินจึงให้ขุดไปปลูกในบริเวณอาศรมของตน ในขณะที่จะทำการขุดก็มีเสียงผู้หญิงร้อง พระฤาษีกาละทรรศินเล็งญาณดูก็รู้ว่าเป็นเทพธิดามาจุติ จึงได้เอ่ยเชิญและสัญญาว่าจะคอยดูแลปกป้องสืบไป เมื่อนั้นการจึงสำเร็จด้วยดี และพระนางก็ปวารนาตัวเป็นบุตรีของพระฤาษี และรับใช้ปรนนิบัติพระฤาษีผู้เป็นบิดาตั้งแต่นั้นมา
ในวันเพ็ญในเดือนหนึ่ง ท้าวชัยเสนกษัตริย์หนุ่มแห่ง กรุงหัสตินาปุระได้เสด็จออกล่าสัตว์ในป่าหิมะวัน และได้แวะมาพักที่อาศรมพระฤๅษี ครั้นได้พบเห็นนางมัทนาในโฉมของนารีผู้งดงามก็ถึงกับตะลึงและตกหลุมรักทันที อันเนื่องมาจาก บุพเพสันนิวาสของทั้งคู่ จนถึงกับรับสั่งให้มหาดเล็กปลูกพลับพลาพักแรมไว้ใกล้อาศรมของฤาษีนั้นทันที
ท้าวชัยเสนรำพันถึงความรักลึกซึ้งที่มีต่อนางมัทนา ครั้นเมื่อนางมัทนาออกมาที่ลานหน้าอาศรมก็มิเห็นผู้ใด ด้วยเพราะท้าวชัยเสนหลบไปแฝงอยู่หลังกอไม้ นางมัทนาได้พรรณาถึงความรักที่เกิดขึ้นในใจอย่างท่วมท้น ท้าวชัยเสนได้สดับฟังทุกถ้อยความดังนั้น จึงเผยตัวออกมา ทั้งสองจึงกล่าวถึงความรู้สึกอันล้ำลึกในใจที่ตรงกันจนเข้าใจในรักที่มีต่อกัน จากค่ำคืนถึงยามรุ่งอรุณ และเป็นที่น่าแปลกมาก ถึงแม้ข้ามคืนจนรุ่งเช้าเข้าสู่วันใหม่แล้ว แต่นางก็ยังคงเป็นมนุษย์ไม่ได้กลับเป็นดอกกุหลาบแต่อย่างใดอีก ท้าวชัยเสนดีพระทัยมาก และทรงประกาศหมั้นและให้คำสัญญารัก ณ ริมฝั่งลำธารใกล้อาศรมนั้น
เมื่อมีความรักแล้ว นางมัทนาก็ยังคงรูปเป็นนารีผู้งดงาม ไม่ต้องกลายรูปเป็นกุหลาบอีก ท้าวชัยเสนได้ทูลขอนางมัทนา พระฤาษีก็ยินดียกให้ โดยให้จัดพิธีบูชาทวยเทพและพิธีวิวาหมงคลในป่านั้นเสียก่อน ทั้งคู่จึงครองรักกันในป่าอย่างมีความสุข
เมื่อถึงกาลกลับเข้ากรุงหัสตินาปุระ ท้าวชัยเสนได้นำนางมัทนากลับไปอยู่ในพระราชวังด้วยกัน โดยท้าวชัยเสนเสด็จกลับวังหลายเพลาแล้วแต่ก็มิได้เสด็จไปยังพระตำหนักข้างในด้วยว่ายังทรงประทับอยู่แต่ในอุทยานกับนางมัทนา ฝ่าย พระนางจัณฑีพระมเหสีของท้าวชัยเสนได้ให้นางกำนัลมาสืบดูจนรู้ว่าพระสวามีนำสาวชาวป่ามาด้วย จึงตามมาพบท้าวชัยเสนที่กำลังอยู่กับนางมัทนาพอดี เมื่อพระนางจัณฑีเจรจาค่อนขอดดูหมิ่นนางมัทนา ท้าวชัยเสนก็กริ้วและทรงดุด่าว่านางเป็นมเหสีผู้ริษยา พระนางจัณฑีแค้นใจนัก จึงให้คนไปทูลฟ้องพระบิดา คือ ท้าวมคธผู้เป็นเจ้าแห่งมคธนคร ให้ยกทัพมาทำศึกกับท้าวชัยเสน ท้าวมคธจึงยกทัพมารบกับกรุงหัสตินาปุระ ทั้งสองเมืองจึงเกิดสงครามรบพุ่งกันในบัดนั้น
พระนางจัณฑียังได้คบคิดกับ นางค่อมอราลี และ วิทูรพราหมณ์หมอเสน่ห์ ทำอุบายกลั่นแกล้งนางมัทนา โดยส่งหนังสือไปทูลท้าวชัยเสนที่กำลังออกรบอยู่นั้นว่านางมัทนาป่วยหนัก ครั้นเมื่อท้าวชัยเสนรีบเสด็จกลับมาเยี่ยมนางมัทนา ก็กลับพบหมอพราหมณ์กำลังทำพิธีอยู่ใกล้ๆต้นกุหลาบ ท้าววิทูรกับ นางเกศินีข้าหลวงของนางจัณฑีจึงทูลใส่ความว่านางมัทนาให้ทำเสน่ห์เพื่อให้ได้ร่วมชื่นชูสมสู่กับ ศุภางค์ทหารเอกองครักษ์ของพระองค์ ท้าวชัยเสนกริ้วนัก รับสั่งให้ศุภางค์ประหารนางมัทนา แต่ศุภางค์ไม่ยอม ท้าวชัยเสนจึงสั่งประหารทั้งคู่
พระนางจัณฑีได้ช่องรีบเข้ามาทูลว่าตนจะอาสาออกไปห้ามศึกพระบิดาซึ่งคงเข้าใจผิดว่านางกับท้าวชัยเสนนั้นบาดหมางกัน แต่ท้าวชัยเสนตรัสว่าทรงรู้ทันอุบายของนางที่คิดก่อศึกแล้วจะห้ามศึกเอง พระองค์จะขอออกทำศึกอีกคราแล้วตัดหัวกษัตริย์มคธพ่อตาเอามาให้นางผู้ขบถต่อสวามีตนเองให้ได้
ขณะตั้งค่ายรบอยู่ที่นอกเมือง วิทูรพรหมณ์เฒ่าได้มาขอเข้าเฝ้าท้าวชัยเสนเพื่อสารภาพความทั้งปวงว่า พระนางจัณฑีเป็นผู้วางแผนการร้าย ซึ่งในที่สุดแล้วตนสำนึกผิดและละอายต่อบาปที่เป็นเหตุให้คนบริสุทธิ์ต้องได้รับโทษประหาร ท้าวชัยเสนทราบความจริงดังนั้นแล้ว ก็คั่งแค้นจนดำริจะแทงตนเองให้ตาย แต่ อำมาตย์นันทิวรรธนะได้เข้าห้ามไว้ทันและสารภาพว่าในคืนเกิดเหตุนั้นตนเองได้ละเมิดคำสั่ง มิได้ประหารศุภางค์และนางมัทนา หากแต่ได้ปล่อยทั้งคู่เข้าป่าไป
ซึ่งนางมัทนานั้นได้มี โสมะทัตศิษย์เอกของฤาษีกาละทรรศินนำพากลับสู่อาศรมของพระฤาษีตามเดิม ส่วนศุภางค์นั้นได้แฝงกลับเข้าไปร่วมกับกองทัพของท้าวชัยเสน แล้วออกต่อสู้กับข้าศึกจนตัวตายในสนามรบ ท้าวชัยเสนรบชนะศึกสงคราม แล้วจึงรับสั่งให้ประหารท้าวมคธที่ถูกจับมาเป็นเชลยไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนพระนางจัณฑีมเหสีนั้นทรงให้เนรเทศออกนอกพระนคร ด้วยทรงเห็นว่าอันนารีผู้มีใจมุ่งร้ายต่อผู้เป็นสามีก็คงต้องแพ้ภัยตนเอง มิอาจอยู่เป็นสุขได้นานแน่
ฝ่ายนางมัทนานั้นได้ทำพิธีบูชาเทพและวอนขอร้องให้สุเทษณ์จอมเทพช่วยนางด้วย สุเทษณ์นั้นก็ยินดีจะแก้คำสาปและรับนางเป็นมเหสี แต่นางมัทนาก็ยังคงปฏิเสธและว่าอันนารีจะมีสองสามีได้อย่างไร สุเทษณ์เห็นว่านางมัทนายังคงปฏิเสธความรักของตนเพราะนางรักท้าวชัยเสนคนเดียวเท่านั้น จอมสุเทษณ์จึงกริ้วนักสาปส่งให้นางมัทนาเป็นดอกกุหลาบไปตลอดกาล มิอาจกลายร่างเป็นมนุษย์ได้อีกต่อไป
เมื่อท้าวชัยเสนตามมาถึงในป่า นางปริยัมวะทาที่เป็นนางกำนัลในท้าวชัยเสนที่ตามมาปรนนิบัติดูแลนางมัทนาด้วย ก็ทูลเล่าความทั้งสิ้นให้ท้าวชัยเสนทรงทราบ ท้าวชัยเสนจึงร้องร่ำให้ด้วยความอาลัยรักนางมัทนา แล้วขอให้พระฤาษีช่วย แต่จะทำการขุดต้นกุหลาบต้นนั้นอย่างไรก็ไม่ได้ เมื่อพระฤษีทำพิธีแล้ว ท้าวชัยเสนก็รำพันถึงความหลงผิดและความรักที่มีต่อนางมัทนาให้ต้นกุหลาบได้รับรู้ โดยใช้มนตราและกล่าวเชิญนางมัทนาให้ยินยอมกลับเข้าไปยังเวียงวังกับตนอีกครา
จากนั้นจึงสามารถขุดต้นกุหลาบได้สำเร็จ ท้าวชัยเสนได้นำต้นกุหลาบขึ้นวอทองเพื่อนำกลับไปปลูกในอุทยานในพระราชวัง และขอให้พระฤๅษีกาละทรรศินให้พรวิเศษแก่พระองค์ว่า กุหลาบจะยังคงงดงามมิโรยราตราบจนกว่าตัวพระองค์เองจะสิ้นอายุขัย พระฤาษีก็อวยพรให้ดังใจ และประสิทธิประสาทพรให้กุหลาบนั้นดำรงอยู่คู่โลกนี้มิมีสูญพันธ์ อีกทั้งยังเป็นไม้ดอกที่กลิ่นอันหอมหวานสามารถช่วยดับทุกข์ในใจคนและดลบันดาลให้จิตใจเบิกบานเป็นสุขได้ ชาย หญิงเมื่อมีรักก็จักใช้ดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักแท้สืบต่อไป...
ค. บทสรุปส่งท้าย
ต้นกุหลาบ หรือ ดอกกุหลาบ ก็จึงเกิดมีอยู่บนโลกมนุษย์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ถึงแม้ว่าท้าวชัยเสนจะสิ้นอายุขัยไปตั้งนานแล้วก็ตาม เพื่อเป็นเทพนิมิต หรือพรหมนิมิต ให้เหล่าเวไนยสัตว์ โดยเฉพาะเหล่ามนุษย์ได้ทำการศึกษาค้นคว้า และมีธรรมะและคติประดับใจที่ว่า กฏแห่งกรรม และ บุพเพสันนิวาสนั้น ไม่มีพรหมแดนระหว่างภพภูมิ หากยังต้อง เวียนว่ายตายเกิดใน สังสารวัฏอันมิรู้จบรู้สิ้นมิรู้ต้นรู้ปลายนี้ ก็ยังจะต้องพานพบกับ โลภ โกรธ หลง รัก และชัง ฯลฯ เป็นธรรมดา จนกว่าจะบรรลุ พระนิพพานกันไปแล้วก็เท่านั้นเอง
พระอริยะเจ้าผู้หยั่งรู้ฟ้าดินท่านเมตตาโปรดสั่งสอนและยกตัวอย่างให้ผู้เขียนเข้าใจและซาบซึ้งในธรรมะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า มันคงจะเป็นเรื่อง และเป็นนิทานตลอดจนวรรณกรรมธรรมดาไป แต่หากมิใช่เพราะว่า นางมัทนพาธา ก็ได้มาเกิดเป็น นางอุสา และ ท้าวชัยเสน ก็ได้มาเกิดเป็น ท้าวบารส ในหลายปีต่อมา (ศึกษารายละเอียดใน ตำนานรักอมตะนางอุสา ท้าวบารส ) ช่างน่าศึกษาและน่าอัศจรรย์ใจแท้หนอ!
คำประพันธ์อันคุ้นหูที่มาจากวรรณกรรมเรื่องนี้
ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน
ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด
ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้
ก็โลดออกจากคอกไป บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
ถึงหากจะผูกไว้ ก็ดึงไปด้วยกำลัง
ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง บ หวนคิดถึงเจ็บกาย
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖