พระยากง-พระยาพาน-ยายหอม :
ตำนานการบูรณะพระปฐมเจดีย์ และการสร้างพระประโทนเจดีย์
**********************************
ย้อนกลับไปเมื่อพุทธศตวรรษที่๑๔ ดินแดนอันเป็นภาคกลางของสยามประเทศหรือประเทศไทยในปัจจุบัน มี เมืองนครชัยศรีที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี อันมีพระยากงเป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถ พระองค์ได้ปกครองบ้านเมืองและประเทศราชอย่างมีความสุข แต่พระองค์ยังไม่มีพระโอรสและธิดาไว้สืบสกุล พระองค์และพระอัครมเหสีจึงได้บำเพ็ญทานและรักษาศีลอย่างหนักแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรไว้สืบสันตติวงศ์ต่อไป หลายปีผ่านไปพระอัครมเหสีก็ได้ตั้งครรภ์และเมื่อครบถ้วนทศมาสแล้ว ก็ได้คลอดพระโอรสรูปงามผิวพรรณดีออกมา ซึ่งในพิธีทำคลอดนั้นได้นำพานไปรองรับพระโอรสแต่ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น คือศรีษะของพระโอรสได้กระทบกับขอบพานทองรองซึ่งเป็นเหตุอัศจรรย์พานทองที่แข็งแรงนั้นบุบยุบลงไป และทำให้เกิดรอยแผลที่หน้าผากแต่ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด พระราชาทรงดีพระทัยมากที่ได้พระโอรสไว้สืบสกุลจึงได้ทำพิธีฉลองและสมโภชพระโอรสอย่างเอิกเกริก และหลังจากนั้นได้ให้โหรมาทำนายลักษณะและตั้งชื่อให้พระโอรส โดยโหรหลวงทำนายว่า พระโอรสนี้มีบุญญาธิการมาก มีความสามารถในการรบและการปกครองที่ดีหาใครจะต่อกรพระองค์ได้ไม่ และจะได้เป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระองค์อย่างแน่นอน พระราชาได้ยินดังนั้นก็โสมนัสยิ่งนัก แต่!..แต่อะไร?..จงบอกเรามา..โหรอ้ำอึ้งอยู่นาน เมื่อพระราชาขอให้บอกมาพระองค์จะไม่ว่าอะไร?..โหรจึงบอกว่าในอนาคตพระโอรสจะทำปิตุฆาต(ฆ่าพ่อ)
พระยากงครุ่นคิดและปริวิตกในคำทำนายและอนาคตของพระองค์และราชสมบัติยิ่งนัก พระองค์จึงตัดสินพระทัยให้นำพระโอรสไปฆ่าทิ้ง ฝ่ายพระอัครมเหสีผู้เป็นมารดาทรงตกพระทัยและอาลัยรักลูกในอุทรยิ่งนัก ไม่ยอมทำตามแต่จะขัดพระบัญชาก็ไม่ได้ จึงได้ติดสินบนเพชฌฆาตให้ทำการฆ่าเด็กทารกอื่นแทนแล้วให้นำพระโอรสของนางไปให้ยายหอมหญิงชาวบ้านผู้มีอาชีพเลี้ยงเป็ดเป็นคนเลี้ยงดู โดยห้ามแพร่งพรายเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด
ยายหอมซึ่งได้รับคำสั่งของอัครมเหสีจากเพชฌฆาตก็ทำตามด้วยความรักและความเมตตาในชะตากรรมของพระโอรสน้อยผู้น่าสงสาร ยายหอมได้ถามชื่อพระโอรสว่าตั้งชื่อว่าอย่างไร เพชฌฆาตบอกว่าพระมเหสีตั้งชื่อให้ว่า พานทองและกำชับห้ามยายหอมบอกเรื่องนี้แก่ผู้ใดอย่างเด็ดขาดแม้แต่พระโอรสก็ตาม ยายหอมเลี้ยงดูพระโอรสอย่างดีเหมือนกับลูกของตนเอง และได้พาไปฝากเรียนหนังสือกับพระอุปัชฌาย์ผู้เก่งกาจในแถบนั้นอีกด้วย อันความรู้ความสามารถของเด็กพานทองส่อแววแห่งความเก่งกาจในสติปัญญาและภาวะผู้นำที่ดีมาตั้งแต่ยังเด็ก พระอาจารย์ผู้มีฌานอภิญญาได้พร่ำสอนให้กตัญญูรู้คุณและต้องไม่วู่วามและใช้แต่อารมณ์มากกว่าเหตุผลเด็ดขาด พระอาจารย์ได้แนะนำให้ยายหอมให้อนุญาตให้หลานชายไปรับราชการกับ พระยาราชบุรีอันเป็นเมืองประเทศราชของนครชัยศรีเพื่ออนาคตที่ดีของหลานยายเอง เพราะเห็นว่ามีความสามารถ และต้องการให้อยู่ไกลจากพระบิดาแห่งนครชัยศรีนั้นเอง พระอาจารย์จึงได้ฝากเข้ารับราชการในพระยาราชบุรี ซึ่งพานทองได้รับราชการด้วยความรู้ความสามารถและจงรักภักดียิ่งนัก จนสนิทสนม เป็นที่ไว้วางพระทัย จึงได้รับการยกย่องและรับเป็นโอรสบุญธรรมเลยทีเดียว ครั้นเวลานานหลายปีผ่านไปพานทองก็ได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น พระอุปราชแห่งเมืองราชบุรี
ในปีหนึ่งของเมืองราชบุรีเกิดฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดข้าวยากหมากแพงประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีเครื่องราชบรรณาการเพียงพอที่จะส่งให้กับนครชัยศรี พระยาราชบุรีทรงกลุ้มพระทัยมาก แต่พระอุปราชพานทองให้ความเห็นว่าปีนี้ไม่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้กับเมืองนครชัยศรี เพราะบ้านเมืองของเรากำลังลำบากมาก พระยาราชบุรีบอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้เด็ดขาด เพราะจะทำให้พระยากงพิโรธและอาจยกทัพมาตีเมืองราชบุรีอย่างแน่นอน พระอุปราชทรงยืนยันและจะขอต่อสู้และปกป้องเมืองราชบุรีเองหากพระยากงยกทัพมาตี ฝ่ายพระยากงทราบดังนั้นก็พิโรธจัด จึงสั่งยกทัพเตรียมไพร่พลบุกตีเมืองราชบุรีที่แข็งขืนไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการและไม่ยอมอ่อนน้อม อันจะเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีให้กับหัวเมืองประเทศราชอื่นๆ ครั้นได้เพลาและฤกษ์ศึกสงคราม แล้วจึงยกทัพใหญ่มาตีเมืองราชบุรีด้วยพระองค์เอง พระอุปราชพานทองจึงอาสายกทัพออกสู้ข้าศึกอย่างสามารถ และทั้งคู่ได้กระทำ ยุทธหัตถีรบกันบนหลังช้างอย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติ พระยากงพลาดท่าเสียทีถูกอุปราชพานทองฟันพระศอด้วยของ้าวขาดสิ้นพระชนม์บนหลังช้างศึกกลางสนามรบนั้นเอง
หลังสงครามที่พระยาพานเป็นผู้ชนะศึก ซึ่งตามธรรมเนียมโบราณนั้น เมืองนครชัยศรีต้องตกเป็นเมืองขึ้นของราชบุรี พระยาราชบุรีดีพระทัยมากและยกย่องชมเชยในเดชานุภาพและความจงรักภักดีของโอรสบุญธรรมยิ่งนัก จึงยกเมืองนครชัยศรีให้พระองค์ปกครอง อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพระยาพานยิ่งนัก ซึ่งทรัพย์สมบัติ ข้าทาส บาทจาริกา สนมนางใน และพระมเหสีของเมืองนครชัยศรีก็ต้องตกเป็นสมบัติของพระองค์โดยปริยาย
ในวันหนึ่งพระยาพานกษัตริย์ผู้ครองเมืองนครชัยศรีพระองค์ใหม่มีพระประสงค์จะเข้าไปบรรทมกับอดีตพระอัครมเหสีของพระยากง ทำให้เทพเทวาที่สิงสถิตยในพระนครแห่งนั้นเป็นกังวลและคิดหาทางช่วยเหลือพระองค์ไม่ให้ก่อเวรสร้างกรรมมากไปกว่านี้ จึงได้แปลงเป็นแพะแม่ลูกมานอนขวางทางเข้าพระตำหนักของพระอัครมเหสี โดยในขณะที่พระยาพานกำลังก้าวเดินข้าม แพะผู้ลูกได้ถามแพะแม่ว่าทำไม?เขาเดินข้ามเรา แม่แพะตอบว่า ประสาอะไรกับการเดินข้ามเรา แม้แต่แม่ของเขาก็ยังจะเอาทำเมีย พระยาพานได้ยินดังนั้นก็เอะใจแต่ไม่ได้คิดอะไร และในคืนนี้ก็เพียงมาพูดคุยด้วยและดื่มน้ำชาเท่านั้นเพราะรู้สึกไม่สบายพระทัยอย่างบอกไม่ถูก
หลังจากนั้นมาอีกหลายวันพระองค์ก็จะเข้าไปบรรทมกับพระอัครมเหสีอีก ครั้งนี้ก็ปรากฏว่ามีม้าแม่ลูกมานอนขวางและพูดเหมือนเดิมอีก พระองค์ก็ได้แค่พูดคุยและดื่มน้ำชาด้วยเท่านั้นเหมือนเดิม
ในครั้งที่สามหลังจากที่ครุ่นคิดและเจอเหตุการณ์แปลกๆ ถึงสองครั้งสองครา พระองค์ก็ได้ครุ่นคิดและตั้งสัจจะอธิษฐานว่า หากพระอัครมเหสีเป็นมารดาของพระองค์จริงก็ให้ปรากฏว่ามีน้ำนมไหลออกมาจากถันให้เห็นในการพูดคุยปฏิสันฐานกันด้วยเทอญ แล้วพระองค์ก็ไปที่ตำหนักนั้นอีก ซึ่งก็เหมือนเดิมแต่ครั้งนี้เป็นแมวแม่ลูกซึ่งก็พูดเหมือนกับแพะและม้าในครั้งก่อน แต่พระองค์ก็เข้าไปในตำหนัก ในระหว่างที่สนทนาปราศัยกันอยู่นั้น น้ำนมจากถันของพระอัครมเหสีก็ได้ไหลซึมและไหลย้อยออกมานอกเสื้อทรงของพระนาง เป็นที่อัศจรรย์ใจยิ่งนัก พระยาพานทองเห็นดังนั้นจึงรีบลุกจากพระที่นั่งลงมานั่งกับพื้นแล้วกันแสงพร้อมก้มกราบพระมารดาแนบพื้นอยู่อย่างนั้น พระมารดาตกพระทัยแต่พอจะอนุมานได้บ้างว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะคำทำนายโหรบอกว่า ใครคือคนที่จะฆ่าพระยากง และได้มองเห็นหน้าผากที่เป็นแผลเป็นของพระยาพานตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาหาแล้ว ทั้งสองแม่ลูกจึงได้สอบถามและบอกเรื่องราวที่มาที่ไปของกันและกัน
พระยาพานทราบดังนั้นก็โศกเศร้าเสียใจอย่างหนัก ที่พระองค์ทำปิตุฆาตและเกือบจะได้พระมารดาเป็นภรรยาอีก พระองค์ในยามนี้โกรธและเกลียดยายหอมมารดาเลี้ยงยิ่งนัก ที่ยายหอมรู้ความจริงทุกอย่างแต่ไม่เคยบอกพระองค์แต่อย่างใดเลยจนเหตุการณ์เลวร้ายและบานปลายมาจนถึงขณะนี้ ดีที่ว่าเทวดาเมตตาได้แปลงมาเป็นสัตว์นอนขวางประตูและให้สติพระองค์จึงไม่เกิดเรื่องเลวร้ายมากไปกว่านี้ ด้วยอารมณ์เหนือเหตุผลพระยาพานจึงได้สั่งให้ทหารไปตัดหัวยายหอมให้ตายไปบัดเดี๋ยวนี้ และแล้วชะตากรรมยายหอมผู้ซื่อสัตย์ก็ศรีษะหลุดออกจากบ่าตายไปในทันที
ฝ่ายพระยาพานเมื่อพระทัยเย็นลงแล้ว ก็พิจารณาใคร่ครวญเรื่องราวต่างๆอย่างแจ่มแจ้ง เมื่อได้สติก็รีบห้ามทหารไม่ให้ไปฆ่ายายหอมผู้มีพระคุณมากล้นคนนั้น แต่อนิจจา!สายไปเสียแล้ว พระยาพานเสียใจสติแทบฝั่นเฟือนที่พระองค์ได้ทำกรรมอันหนักหนาและใหญ่หลวงต่อผู้มีพระคุณถึงสองท่าน พระองค์ไม่เป็นอันกินอันนอนด้วยเกรงกลัวในบาปอันมหันต์นี้ยิ่งนัก พระองค์ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ปรึกษาใครก็ไม่พอพระทัยและไม่รู้สึกดีขึ้นเลย จึงได้นึกถึงพระอาจารย์ที่ยายหอมได้ไปฝากให้เป็นศิษย์สมัยยังเยาว์วัยนั้นเอง พระอาจารย์เข้าใจในวิบากกรรม ซึ่งใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้มันต้องเป็นไป และเพื่อกรรมที่จะเบาบางของพระยาพาน ดังนั้นพระอาจารย์ได้แนะนำลูกศิษย์ให้สร้างพระเจดีย์สูงใหญ่เท่ากับนกเขาเหิรถวายเป็นพุทธบูชาเพื่ออุทิศบุญให้กับพระยากงพระบิดา แล้วสร้างพระเจดีย์ใหญ่อีกองค์อุทิศให้ยายหอมก็จะทำให้ได้บุญกุศลมาก และกรรมหนักนั้นจะได้เบาบางลงบ้าง อย่างน้อยจิตใจของพระองค์ก็จะมีความสุขขึ้นมาบ้างนั้นเอง
พระยาพานจึงได้ตัดสินใจก่อสร้างพระเจดีย์ครอบ พระปฐมเจดีย์องค์เก่า(ที่สร้างในสมัยที่คณะพระอรหันต์สายที่๘ ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิทวีปแถบนี้ ในราวพุทธศตวรรษที่๓)ให้ใหญ่สวยงามและสูงเท่ากับนกเขาเหิร(นกเขาบินนั้นเอง) เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับพระบิดาคือพระยากง ดังที่ปรากฏเห็นอยู่คือพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้นั้นเอง
และได้สร้าง พระประโทนเจดีย์อย่างสวยงามและใหญ่โต เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับยายหอมผู้เป็นมารดาเลี้ยงของพระยาพาน ซึ่งปรากฏให้เห็นและได้กราบไหว้สักการบูชา ที่วัดพระประโทนเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ในทุกวันนี้นั้นเอง
............................................
หมายเหตุ :
๑. วัดดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ก็มี ศาลยายหอมให้กราบไหว้ ระลึกถึง และขอพรกันอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญที่วัดแห่งนี้ยังได้เก็บสรีระสังขารของ ๒ พระอริยเจ้าผู้ประเสริฐและยิ่งใหญ่ไว้ คือ หลวงพ่อเงิน และ หลวงพ่อแช่มให้ลูกหลานได้กราบไหว้สักการบูชาและเป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสตินั้นเอง
๒. "เมืองนครชัยศรี" ศูนย์กลางมหาอำนาจยุคโน้น ก็คือ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน
๓. "เมืองราชบุรี" ที่เป็นเมืองประเทศราชของนครชัยศรีในยุคโน้น ก็คือ จังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน
๔. วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่สุดยอดพระอริยะเจ้าของประเทศไทย คือหลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม และหลวงปู่เจือ(ซึ่งละสังขารไปกันหมดแล้ว) โดยแห่งวัดนี้ ก็เป็นวัดในตำนานเรื่องนี้ ที่น่าไปศึกษาและกราบไหว้สักการะบูชายิ่งนักเช่นกัน
ศิษย์ตถาคต : เรียบเรียง