พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช : รัชกาลที่ ๑ ปฐมบรมราชจักรีวงศ์ และผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ แห่งราชอาณาจักรสยาม
หรือราชอาณาจักรไทย
................................
พระราชประวัติ (โดยย่อ)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๒๗๙ ในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่ง กรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นบุตรคนที่ ๔ ของ พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี)ผู้เป็น ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาพระบรมอัฐิขึ้นเป็น สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก และ สมเด็จพระราชชนนีดาวเรือง มีพระเชษฐา พระเชษฐภคินี และพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีรวม ๕ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระเจ้ารามณรงค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระอนุชาและพระขนิษฐาต่างพระชนนีอีก ๒ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าลา กรมหลวงจักรเจษฎา และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุ กรมหลวงนรินทรเทวี
เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กใน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (ต่อมา คือ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ครั้นพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษา ก็เสด็จออกผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทลาย ๑ พรรษา แล้วลาผนวชเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรดังเดิม เมื่อพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา พระองค์เสด็จออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรีในตำแหน่ง "หลวงยกกระบัตร" ในแผ่นดิน สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) และได้สมรสกับ คุณนาค ณ บางช้าง (ภายหลังได้รับการสถาปนาที่ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ธิดาในตระกูลเศรษฐีมอญที่มีรกรากอยู่ที่ บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม
ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ให้แก่ พม่าแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และย้ายราชธานีมายัง กรุงธนบุรี ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษา และได้เข้าถวายตัวรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตามคำชักชวนของ พระมหามนตรี (บุญมา) (ต่อมา ก็คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือ พระยาเสือ ) โดยทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น "พระราชริน (พระราชวรินทร์)" เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และทรงย้ายนิวาสสถานมาอยู่ที่บริเวณ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จขึ้นไปตี เมืองพิมาย ซึ่งมี กรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นเจ้าเมืองพิมายอยู่ พระองค์และพระมหามนตรีผู้เป็นพระอนุชา ได้รับพระราชโองการให้ยกทัพร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย หลังจากการชนะศึกในครั้งนี้ พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาอไภยรณฤทธิ์" จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จที่มีความชอบในการสงครามครั้งนี้
หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพขึ้นไปปราบ เจ้าพระฝางสำเร็จแล้ว มีพระราชดำริว่า เจ้าพระยาจักรีแขก นั้นมิแกล้วกล้าในการสงคราม ดังนั้น จึงโปรดตั้งพระองค์ขึ้นเป็น "พระยายมราช" เสนาธิบดีกรมพระนครบาล โดยให้ว่าราชการที่ สมุหนายก ด้วย เมื่อเจ้าพระยาจักรีแขกถึงแก่กรรมแล้ว พระองค์จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยาจักรี" อัครมหาเสนากรมมหาดไทย พร้อมทั้งโปรดให้เป็นแม่ทัพเพื่อไปตี กรุงกัมพูชา โดยสามารถตี เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เมืองบริบูรณ์ และ เมืองพุทไธเพชร (เมืองบันทายมาศ) ได้ เมื่อสิ้นสงครามสมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้ นักองค์รามาธิบดีไปครองเมืองพุทไธเพชรให้เป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชา และมีพระดำรัสให้ เจ้าพระยาจักรีและ พระยาโกษาธิบดีอยู่ช่วยราชการที่เมืองพุทไธเพชรจนกว่าเหตุการณ์จะสงบราบคาบก่อน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทรงเป็นแม่ทัพทำราชการสงครามกับ พม่า เขมร เชียงใหม่ และ ลาว จนมีความชอบในราชการมากมาย ดังนั้น จึงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก" และทรงได้รับพระราชทานให้ทรงเสลี่ยงงากลั้นกลดและมีเครื่องยศเสมอยศ เจ้าต่างกรม
เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้เกิดจลาจลขึ้นใน กรุงธนบุรี คือ พระยาสรรค์ ได้ตั้งตัวเป็น กบฏ ขณะนั้นพระองค์ท่านเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เสด็จกลับจากกัมพูชา มาที่ กรุงธนบุรี แล้วปราบปรามกบฏและนำ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปสำเร็จโทษ เหตุเพราะมีพระสติวิปลาส จึงให้นำไปสำเร็จโทษด้วยการ "ตัดพระเศียร" สมัยกรุงธนบุรีจึงสิ้นสุดลงในที่สุด
หลังจากนั้นในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ หลังจากที่พระองค์ทรงปราบปรามกบฏเรียบร้อยแล้ว ทางอาณาประชาราษฎร์ได้อัญเชิญเสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเป็น ปฐมบรมกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์จักรี ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจาก กรุงธนบุรีราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของ แม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกแทน พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มาประดิษฐานยัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา ๓ วัน ครั้งเสร็จการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า
"กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์"
หรือเรียกอย่างสังเขปว่า "กรุงเทพมหานคร"
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร (หรือกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นราชธานี และทรงสถาปนา ราชวงศ์จักรี ขึ้นปกครองราชอาณาจักรไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ภายหลังการเสด็จเสวยราชย์แล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอกมาตั้งแต่สมัย สุโขทัยและ อยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ที่เรียกว่า "สงครามเก้าทัพ" นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง ๓ ฉบับ ประทับตรา ราชสีห์ คชสีห์ และ บัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง
พระราชกรณียกิจประการแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนกรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากกรุงธนบุรีตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และการรักษาพระนครเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากติดกับ วัดอรุณราชวราราม และ วัดโมฬีโลกยาราม ส่วนทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเหมาะสมกว่าตรงที่มีพื้นแผ่นดินเป็นลักษณะหัวแหลม มีแม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีชัยภูมิเหมาะสม และสามารถรับศึกได้เป็นอย่างดี
การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น ๓ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ขึ้น ปีขาล จ.ศ. ๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ และโปรดเกล้าฯให้สร้าง พระบรมมหาราชวัง สืบทอดราชประเพณี และสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการสร้างเมืองและพระบรมมหาราชวังเป็นการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และศิลปะกรรมดั้งเดิมของชาติ ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรี นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้ สร้างสิ่งต่างๆ อันสำคัญต่อการสถาปนาราชธานีได้แก่ ป้อมปราการ, คลอง ถนนและสะพานต่างๆ มากมาย
พระราชกรณียกิจในการป้องกันราชอาณาจักร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถในการรบและการสงครามอย่างมาก ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด ๗ ครั้งในรัชสมัยของพระองค์ (ไม่นับรวมก่อนหน้านั้น) ได้แก่
· สงครามครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๒๘ สงครามเก้าทัพ
สงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่าง ไทย กับ พม่า โดยในครั้งนั้น พระเจ้าปดุงแห่ง ราชวงศ์อลองพญาของพม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบ ราชอาณาจักรสยาม จึงรวบรวมไพร่พลถึง ๑๔๔,๐๐๐ คน กรีธาทัพจะเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งเป็น ๙ ทัพใหญ่ เข้าตีจากกรอบทิศทาง ส่วนทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่าคือมีเพียง ๗๐,๐๐๐ คนเศษเท่านั้น
ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ผู้เป็นพระอนุชาธิราชเจ้า ได้ไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณ ทุ่งลาดหญ้า ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณ ช่องเขาสะเดา ใน ศึกสมรภูมิทุ่งลาดหญ้า แห่ง เมืองกาญจนบุรี แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้วสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพไปช่วยทางอื่น และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้
· สงครามครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๒๙ เกิดสงครามท่าดินแดงและสงครามสามสบ
ในสงครามครั้งนี้ ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุด โดยแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ จากศึกสงครามเก้าทัพครั้งก่อน โดยพม่าได้ยกทัพเข้ามาทาง ด่านพระเจดีย์สามองค์ มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสวนสามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีที่ค่ายดินแดงพร้อมกับให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ หลังจากรบกันได้ ๓ วันค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่างๆ ขยายราชอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรสยามมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ดินแดน ล้านนา ไทยใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทร์ เขมร และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมือง กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และ เประ
· สงครามครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๓๐ สงครามตีเมือง ลำปาง และเมือง ป่าซาง
หลังจากที่พม่าพ่ายแพ้แก่สยาม ก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมือง เชียงรุ้งและ เชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล ๖๐,๐๐๐ นาย มาช่วยเหลือและขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ
· สงครามครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๓๐ สงครามตีเมือง ทวาย
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพร่พล ๒๐,๐๐๐ นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร รี้พลก็บาดเจ็บจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ
· สงครามครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๓๓๖ สงครามตีเมือง พม่า
ในครั้งนั้นเมือง ทวาย ตะนาวศรี และ มะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ
· สงครามครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๓๔๐ สงครามกับ พม่าที่เมือง เชียงใหม่
เนื่องจากสงครามในครั้งก่อนๆ พระเจ้าปดุงไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้ จึงทรงรับสั่งไพร่พล ๕๕,๐๐๐ นาย ยกทัพมาอีกครั้งโดยแบ่งเป็น ๗ ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล ๒๐,๐๐๐ นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น ๔๐,๐๐๐ นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้นทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน
· สงครามครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๓๕๕ สงครามกับ พม่าที่เมือง เชียงใหม่ ครั้งที่ ๒
ในครั้งนั้นพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย
หลังจากสงครามในครั้งนี้ พม่าก็ไม่กล้าที่จะยกทัพมาทำสงครามกับไทยอีกเลย
พระปณิธานอันประเสริฐของพระองค์
ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชน
และมนตรี
................................
ขอขอบคุณ : http://th.wikipedia.org