วรรณคดี : มณีพิชัย ยอพระกลิ่น
...................................
(ก) เนื้อเรื่อง (โดยย่อ)
“ท้าววรกรรณ” และ “พระนางบุษบง” ซึ่งเป็นกษัตริย์ครองกรุงปาตะลี ได้จัดงานเลือกคู่ให้กับพระธิดา ชื่อ “เกศนี” โดยมีราชา และเจ้าชายจากต่างเมืองมาเลือกคู่อย่างมากมาย แต่นางกลับเลือกชายบ้าใบ้ที่สติไม่เต็ม ท้าววรกรรณไม่พอพระทัยจึงขับไล่นางและสามีออกนอกวัง ชายบ้าใบ้จึงคืนร่างกลายเป็น “พระอินทร์” ดังเดิม และพานางเกศนีขึ้นไปอยู่บนสวรรค์จนมีลูกสาวน่ารักด้วยกันหนึ่งคน แต่ทวยเทพจะมีลูกไม่ได้เพราะผิดธรรมเนียมของสวรรค์ ดังความที่ว่า
“เมื่อครั้งนางเกศนีขึ้นไปอยู่บนสวรรค์กับพระอินทร์ อยู่มานางมีครรภ์ ครั้นจวนจะถึงกำหนดคลอด พระอินทร์นึกรำพึงว่านางเป็นมนุษย์คลอดลูกผิดกับเทวดา ถ้าให้คลอดบนสวรรค์เกรงว่าจะเป็นอันตราย จึงพานางลงมายังโลกมนุษย์ นฤมิตพลับพลาขึ้นที่ป่าไผ่แห่งหนึ่งให้เป็นที่อยู่แล้วเรียกเหล่าเทพบุตร เทพธิดาซึ่งอยู่ตามรุกขพิมาน ให้มาช่วยกันรักษาจนนางคลอดลูก ลูกนั้นเป็นธิดามีกลิ่นหอมติดตัวมาแต่กำเนิด พระอินทร์จึงให้นามนางว่า “ยอพระกลิ่น” พระอินทร์เลี้ยงลูกอยู่กับนางเกศนีได้ ๗ วัน นึกเป็นห่วงเมืองสวรรค์...ครั้นจะพาลูกไปเลี้ยงบนสวรรค์ ลูกก็เป็นทารกมนุษย์จะขึ้นไปร้องอ้อนอื้ออึงให้เกิดรังเกียจของเหล่าเทวดา”
“ไม่ได้หรอกน้อง ลูกของเราเป็นมนุษย์ อยู่บนสวรรค์จะทำความรำคาญรังเกียจแก่เทวดาอื่น ๆ”
จึงนำลูกที่ชื่อยอพระกลิ่นมาไว้ในปล้องไผ่ (ปล้องไม้ใผ่) จึงเสกของอำนวยความสะดวกให้แก่ยอพระกลิ่นจนโตเป็นสาว ทำให้ปล้องไผ่นั้นหอมอบอวลอย่างมาก
กล่าวถึง “มณีพิชัย” พระโอรสของ “ท้าวพิไชยนุราช” และ “พระนางจันทรเทวี” แห่ง “กรุงอยุธยา” ได้ออกมาเที่ยวป่า ได้กลิ่นหอมจากปล้องไผ่ จึงใช้ดาบฟันปล้องไผ่ออกมาดู และปรากฏร่างหญิงสาวสวยงาม ชื่อ “ยอพระกลิ่น” อยู่ในปล้องใผ่นั้น ด้วยบุพเพสันนิวาสทั้งคู่ก็หลงรักกันตั้งแต่แรกเห็นกัน และได้เป็นสามีภรรยากันในที่สุด มณีพิชัยได้พานางยอพระกลิ่นกลับเข้าวัง และได้บอกกับเสด็จพ่อและเสด็จแม่ว่า ยอพระกลิ่นเป็นชายา(เมีย)ของตน ท้าวพิไชยนุราชสุดแสนดีใจ แต่ฝ่ายแม่นั้นไซร้เกลียดชังนางยอกพระกลิ่นอย่างยิ่ง เพราะลูกของตนได้หมั้นหมายกับองค์หญิงแห่งกรุงจีนไปแล้ว ซึ่งเป็นกรุงใหญ่ มั่งคั่ง และร่ำรวยอย่างมาก แต่ลูกชายกลับพานางยอพระกลิ่นที่ไม่ทราบหัวนอนปลายตีนว่าเป็นใครมาจากไหน และเป็นลูกเต้าเหล่าใครก็ไม่ทราบได้ แล้วก็นำมาบอกแม่ว่าเป็นเมียเสียนี่ได้กะไร
วันหนึ่งนางคิดอุบายกลั่นแกล้ง จึงบอกสาวใช้ให้เอาเลือดแมวและศพแมวไปทิ้งไว้ในห้องนอนของยอพระกลิ่น รุ่งขึ้นนางจันทรจึงบอกกับท้าวพิไชยนุราชว่า นางยอพระกลิ่นเป็น “กระสือ” ให้ไล่ออกไป เพราะหลักฐานและพยานหนาแน่น นางยอพระกลิ่นจึงถูกขับไล่ออกจากวังไป ดังคำกล่าวในวรรณคดีว่า
...ท้าวพิชัยนุราชและนางจันทรสำคัญว่าราชบุตรประชวรจริงก็พากันลงไปเยี่ยมจึงเห็นนางยอพระกลิ่น เมื่อท้าวพิชัยนุราชได้ไต่ถามและทราบเรื่องของนางก็เกิดเมตตาปราณีเห็นควรให้เป็นชายาของมณีพิชัย แต่ส่วนนางจันทรนั้นนึกรังเกียจ ด้วยอยากจะให้มณีพิชัยได้เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้ากรุงจีน...
...คิดกลอุบายให้มีเค้าเงื่อนว่านางเป็นยักขินีผีกระสือ คนทั้งหลายก็จะเห็นเชื่อ เพราะมณีพิชัยไปได้นางมาจากป่า คงจะกำจัดนางยอพระกลิ่นได้สมประสงค์ คิดดังนั้นแล้ว นางจันทรจึงฆ่าแมวที่เลี้ยงไว้เสียตัวหนึ่ง แล้วลอบไปยังปราสาทมณีพิชัยเวลาดึก พระมณีพิชัยกับนางยอพระกลิ่นกำลังหลับ นางเอาหางแมวเหน็บไว้ที่มวยผมและเอาเลือดแมวป้ายไว้ที่ปาก…
เมื่อพ่อพระอินทร์ของนางยอพระกลิ่นทราบความเดือดร้อนและการได้ทุกข์ตกระกำลำบากของลูกสาว จึงได้ลงมาบอกให้ลูกสาวแปลงกายเป็นพราหมณ์หนุ่ม รอแก้แค้นอยู่ที่ ณ อาศรมริมสระน้ำ ดังคำกล่าวในวรรณคดีที่ว่า
...ขณะนั้นเกิดบันดาลร้อนอาสน์พระอินทร์ ส่องทิพเนตรดูรู้ว่านางยอพระกลิ่นผู้เป็นธิดาต้องตกยากถึงสาหัส จึงลงมาช่วยนางยอพระกลิ่น นางเล่าเรื่องทั้งปวงให้พ่อพระอินทร์ทราบ
พระอินทร์ก็โกรธานางจันทร แล้วเลยขัดเคืองพระมณีพิชัยว่าหลงเชื่อแม่ไม่ช่วยแก้ไข จึงแปลงนางยอพระกลิ่นให้เป็นพราหมณ์ สอนเวทมนต์ให้มีฤทธิ์และให้พระขรรค์ไว้สำหรับป้องกันตัว และนฤมิตศาลาอาศรมให้อยู่ในป่าที่ใกล้เมืองอยุธยา บอกเจ้าพราหมณ์ว่าจะแก้แค้นแม่ผัวให้จงได้…
วันหนึ่งนางจันทรมาอาบน้ำที่สระได้ถูกงูพิษที่แอบอยู่กับดอกบัวกัดเอา นางเจ็บปวดแทบขาดใจ กระเซอะกระเซิง เข้าวัง พราหมณ์ก็ได้ตามไปด้วยพร้อมกับบอกให้นางจันทรว่าจะรักษาพิษงูให้ หากนางยอมบอกความจริงว่ายอพระกลิ่นไม่ได้เป็นกระสือกินแมว นางจึงจะรักษาโรคให้ แต่หากไม่ยอมบอก ก็จะปล่อยให้ตายนางจึงเล่าความจริงให้ฟัง พอพระราชาได้ฟังถึงกลับกริ้ว ได้คว้าหวายไล่ตีมเหสีด้วยพระองค์เอง ฝ่ายมณีพิชัยก็โศกเศร้าเสียใจและอาลัยคิดถึงยอพระกลิ่นมากยิ่งนัก และเมื่อรักษาพิษงูให้นางจันทรได้หายเจ็บป่วยแล้ว พราหมณ์ก็เอ่ยปากขอมณีพิชัยไปเป็นทาสรับใช้ในป่าสักระยะหนึ่ง เพื่อแสดงความกตัญญูต่อพระมารดา มณีพิชัยจึงยอมไปเป็นทาสรับใช้พราหมณ์ในป่า ซึ่งพระราชาก็ทรงอนุญาตให้ไป
มณีพิชัยอยู่รับใช้พราหมณ์ที่อาศรมในป่าเป็นเวลานานหลายเดือน ถึงแม้พราหมณ์ยอพระกลิ่นจะแปลงกายเป็นสาวสวยมาบอกว่าเป็นน้องสาวของพราหมณ์ มาลวงมาล่อให้หลงรักและยั่วยวนหว่านเสน่ห์ต่างๆ นาๆ แต่มณีพิชัยก็ไม่ชายตาแลแต่อย่างใด พราหมณ์ยอพระกลิ่นเห็นว่า ผัวของตนยังรักและซื่อสัตย์กับตนเองอยู่เสมอ จึงคืนมณีพิชัยให้แก่เมืองอยุธยาดังเดิม
ทางกรุงจีนเมืองปักกิ่งได้เร่งรัดให้ทางเมืองอยุธยามาแต่งงานกับองค์หญิงเล็กเร็วๆ สักที เจ้าชายมณีพิชัยจึงต้องจำใจไปอภิเษกสมรส เพราะกลัวว่าจะเกิดศึกสงครามใหญ่ระหว่างกรุงอยุธยากับกรุงจีน ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อกรุงอยุธยาซึ่งเป็นเมืองเล็กแน่ๆ โดยพราหมณ์ยอพระกลิ่น(พราหมณ์แปลง)ได้ขอติดตามไปด้วย พอไปถึงเจ้ากรุงจีน เจ้ากรุงจีนได้ทราบว่ามณีพิชัยได้มีชายาแล้ว(พราหมณ์หนุ่มที่ติดตามมาด้วยเป็นผู้บอกข่าวนี้ด้วยตัวเอง โดยที่มณีพิชัยไม่รู้ตัวแต่อย่างใด) จึงพากันออกอุบายโดยแกล้งให้มณีพิชัยยกขันหมากมา ๑,๐๐๐ ชุด หากหามาไม่ได้ก็จะถูกประหารชีวิต ทั้งสองจึงแอบหลบหนี และได้หลงเข้าไปในเขตเมืองยักษ์ แล้วก็สลบไสลไร้สติเพราะมนต์แห่งเมืองยักษ์ “นางยักษ์วาสัน” เห็นชายหนุ่มรูปงาม หน้าตา และผิวพรรณดี จึงจับเอามณีพิชัยไปให้ “นางยักษ์ผกา” ลูกสาวของตนที่เกิดกับพญายักษ์ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนแล้ว เมื่อนางผกายักษ์เห็นมณีพิชัยก็หลงรักตั้งแต่แรกเห็นเลยทีเดียว จึงได้บังคับให้มณีพิชัยเป็นสามีของตนไม่เช่นนั้นจะถูกฆ่าตาย มณีพิชัยจำต้องยอมเป็นสามีของนาง เมื่อพราหมณ์ฟื้นขึ้นมาเห็นนางยักษ์ผกาอยู่กับผัวของตนที่ตำหนัก ก็โกรธและเสียใจอย่างมาก ไม่ยอมคืนดี ได้แต่พร่ำรำพันต่างๆนาๆ แล้วก็แปลงกายกลับคืนเป็นนางยอพระกลิ่นดังเดิมจนหมดสติไปอีก
พระอินทร์จึงต้องมาแก้ไขเรื่องราวและไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองคืนดีกัน แล้วก็อุ้มเอามณีพิชัยและยอพระกลิ่นเหาะมาส่งที่เมืองกรุงอยุธยา เมื่อผ่านเคราะห์กรรมร้ายต่างๆมาแล้ว พระบิดาและพระมารดาของมณีพิชัย ก็ได้จัดงานอภิเษกสมรสอย่างยิ่งใหญ่และยกราชสมบัติให้มณีพิชัยครองกรุงอยุธยาแทนพระบิดา ทั้งสองได้ปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรมและครองรักกันอย่างมีความสุข ตราบจนสิ้นอายุขัย แล้วก็กลับคืนสู่สรวงสวรรค์ตามเดิม
(ข) แง่คิดจากวรรณคดีเรื่องนี้
มีดังต่อไปนี้
๑. การอิจฉาริษยาเมื่อถูกขัดใจในความคาดหวังและเป้าหมายที่วางไว้ นำมาซึ่งอุบายกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้ย่อยยับ ทั้งกรณีของ
(๑) การใส่ร้ายป้ายสีว่านางยอพระกลิ่นเป็น “กระสือ” กินแมว โดยพระนางจันทรเทวี
(๒) การให้หาขันหมากมา ๑,๐๐๐ ชุด เพื่อขอพระธิดาองค์เล็กของเจ้ากรุงจีน หากหามาไม่ได้ก็จะประหารเจ้าชายมณีพิชัยแห่งอโยธยา
๒. ประเพณีการหมั้นหมายและการแต่งงานแบบ “คลุมถุงชน” ของมนุษย์นั้นมีมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ
๓. สวรรค์ก็มี “กฎของสวรรค์” ซึ่งไม่อาจที่จะล่วงละเมิดได้ ไม่ว่าใครก็ตาม แม้แต่ “พระอินทร์” หรือ “ท้าวสักกะเทวราช” ผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ก็มิอาจล่วงละเมิดได้ จึงจะทำให้การปกครองและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบและมีสันติสุขเกิดขึ้นได้
๔. “บุพเพสันนิวาส” หรือ “เนื้อคู่” กันแล้ว ย่อมไม่แคล้วคลาดจากกันอย่างแน่นอน
๕. คนดีและมีบุญญาธิการนั้น จะมีทั้งคน ทั้งผี และเทวดาคอยช่วยเหลือและคุ้มกันอยู่เสมอ
๖. ฯลฯ
........................................................
ดร.พนพ เกษามา
๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗