วิไลกัลยา : รักอมตะและแสนเศร้าของพระองค์ดำ
*************
(ก) เกริ่นนำ
ที่ไดมีรักที่นั่นมีทุกข์ วีรบุรุษและวีรสตรีทั้งหลายที่เกิดมาบนโลกเรานี้ ล้วนเกิดมามีภารกิจที่ยิ่งใหญ่เพื่อส่วนรวม เพื่อคนอื่น แต่ชีวิตรักและความสุขส่วนตัวอาจเป็นเรื่องตรงกันข้าม เพราะไม่ได้สมหวัง ราบรื่นหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ชีวิตรักของ “พระองค์ดำ” หรือ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” วีรบุรุษของแผ่นดินไทย กับ “พระธิดาวิไลกัลยา” แห่งพม่าหงสาวดีก็เช่นเดียว เป็นรักที่เริ่มต้นขึ้นอย่างสวยงามของเจ้าชายหนุ่มและพระธิดาสาวแสนสวยของสองแผ่นดินที่เป็นศัตรูกัน ทั้งสองได้ตั้งสัจอธิษฐานสาบานรักว่าจะครองคู่กันไปจนตายไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม แต่ความรักนี้ก็ไม่ได้สมหวัง และจบลงอย่างแสนเศร้าของหญิงสาวที่รักมั่นเทิดทูนและเด็ดเดี่ยวในรักมั่นตามสัญญา
(ข) เนื้อหา
“พระองค์ดำ” หรือ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หรือที่ชาวพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่เรียกขานกันว่า “ตองเจ” เมื่อคราวที่ไทยสยามแห่งกรุงศรีอยุธยารบแพ้สงครามกับพม่าหงสาวดีเมื่อคราว “ศึกสงครามช้างเผือก” เมื่อปีพ.ศ. ๒๑๐๖ ระหว่าง “พระมหาจักรพรรดิ” ของไทย กับ “พระเจ้าบุเรงนอง” ของพม่า ในคราวนั้นพระองค์ดำเจ้าชายแห่งเมืองพิษณุโลกสองแควซึ่งมีพระชนมายุ ๙ พรรษา ได้ถูกบุเรงนองขอตัวไปเป็นองค์ประกัน (เชลย) ที่กรุงหงสาวดีด้วย ในคราวนั้นเองที่ทำให้เจ้าชายน้อยผู้มีผิวพระวรกายสีดำ ได้มีโอกาสได้พบกับ “พระธิดาวิไลกัลยา” ซึ่งเป็นพระธิดาของ “นางเมงพยู” กับพระมหาอุปราชของพม่าหงสาวดี คือ “มังไชยสิงห์” หรือ “พระเจ้านันทบุเรง” ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าบุเรงนองนั่นเอง
คราแรกที่พระนางวิไลกัลยาเสด็จมาต้อนรับขบวนทัพของพระอัยกา และพระบิดาที่ยกทัพกลับมาพร้อมชัยชนะเหนืออโยธยา พระนางได้สะดุดตากับเจ้าชายองค์น้อยผู้มีผิวพระวรกายสีออกคล้ำที่นั่งมาบนหลังช้างในขบวนทัพที่เสด็จกลับมา พระนางทอดพระเนตรแล้วให้รู้สึกถึงความเหงา เศร้า ว้าเหว่ แต่มีพลัง และเสน่ห์อะไรลึกๆ ที่สะดุดพระเนตรของพระนาง และให้รู้สึกสงสารที่เจ้าชายน้อยที่มีอายุเพียง ๙ ชันษา ที่ต้องจากบ้านเมืองและบิดามารดามาตั้งแต่ยังเยาว์วัย เพื่อเป็นองค์ประกัน (เชลย) ทั้งๆ ที่กองทัพของเสด็จปู่และเสด็จพ่อก็ทำแบบนี้มาจนพระนางรู้และเห็นจนเคยชินก่อนหน้านี้ก็ตาม พระองค์ดำได้มาอยู่ในตำหนักของวังหน้าแห่งหงสาวดีที่แวดล้อมไปด้วยศัตรูของอโยธยา พระองค์ดำถูกกลั่นแกล้งและลอบทำร้ายต่างๆ นาๆ โดยเฉพาะจาก “มังสามเกียด” หรือ “มังกะยอชวา” พระเชษฐาของพระธิดาวิไลกัลยานั่นเอง ภายในหมู่ศัตรูพระองค์ดำหรือตองเจที่มากมายนั้น กลับมีหนึ่งมิตรภาพที่พระองค์ดำได้รับและเกิดเป็นความรักกับพระธิดาแสนสวยของวังหน้าแห่งหงสาวดี ซึ่งการเกิดมีเรื่องราวมีการทะเลาะและลอบทำร้ายกันต่างๆ นาๆ แต่พระองค์ดำก็ยืนหยัดต่อสู้และไม่ยอมก้มหัวให้ผู้ใด แม้พระองค์จะมีสถานะเป็นเพียงเชลยก็ตาม พระองค์ยังได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจจากพระธิดาวิไลกัลยาตลอดมา พระเจ้าบุเรงนองก็ทราบข่าวและเป็นกังวล เพราะได้รับปากและสัญญากับ “พระมหาธรรมราชา” พระบิดาของพระองค์ดำแล้วว่าจะดูแลอย่างดี และรักพระองค์ดำเหมือนเป็นโอรสของตน จึงมีดำริให้พระองค์ดำไปศึกษาวิชากับพระอาจารย์ที่เป็นชาวมอญ คือ “พระมหาเถรคันฉ่อง” นี่เอง! คงเป็นเป็นธรรมจัดสรร และเป็นบุญนักหนาที่พระองค์ดำได้มาเป็นศิษย์ของท่าน และพระองค์ดำก็ได้ตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อเรียนรู้พระพุทธศาสนาและสรรพวิชาจากพระอาจารย์ชาวมอญผู้นี้ด้วย ณ วัดมอญแห่งนี้ พระองค์ดำจึงได้มีโอกาสได้รู้จักและสนิทสนมกับกับเด็กหญิงอีกผู้หนึ่ง คือ “มณีจันทร์” และเด็กผู้ชายอีกหลายคนโดยเฉพาะ “ไอ้ทิ้ง” หรือ “บุญทิ้ง” (ต่อมาก็คือ “พระราชมนู” ทหารเอกคู่กายของพระองค์ดำนั่นเอง) รวมทั้ง “สมิง” เพื่อนซี้ของมณีจันทร์ และเด็กชาวมอญอีกหลายคน ซึ่งความรักระหว่างสามเณรน้อยกับพระธิดาวิไลกัลยาก็ดำเนินมาอย่างเงียบๆ ตลอดเวลา
เมื่อคราวที่กรุงศรีอยุธยามีศึกสงครามกับพม่าและได้เสียกรุงครั้งที่ ๑ เมื่อปีพ.ศ. ๒๑๑๒ บุเรงนองได้ขอนำเอา “พระสุวรรณเทวี” หรือ “พระพี่นางสุพรรณกัลยา” พระเชษฐภคินีของพระองค์ดำมาเป็นองค์ประกันที่พม่าหงสาวดีด้วย พระองค์ดำจึงได้สึกจากการเป็นสามเณรเพื่อเข้าออกในพระราชวังคอยพบคอยช่วยเหลือพระพี่นางในพระราชวังด้วย ทำให้เกิดความใกล้ชิดและความสนิทสนมระหว่างพระองค์ดำและพระนางวิไลกัลยาที่กำลังเป็นสาวแรกรุ่น พระนางทรงมีพระสิริโฉมงดงามมาก เข้าตำราของหญิงงามที่ว่า “ผิวพม่านัยน์ตาแขก” และพระนางยังมีเชื้อสายฝรั่งชาติกรีกมาจากพระมารดาอีกด้วย จึงมีเหล่ากษัตริย์และเจ้าชายอีกมากมายที่หมายปองและอยากผูกสมัครรักใคร่และเกี่ยวดองกันอย่างมากมาย เพราะพระนางทั้งสวยงามและมีเพรียบพร้อมทุกอย่าง แต่พระนางกลับไม่สนพระทัยใครเลย ยกเว้นพระองค์ดำหรือตองเจเพียงพระองค์เดียว ถึงแม้ว่าพระองค์ดำจะเกิดความรักขึ้นในใจกับผู้หญิง ๒ คนแล้วก็ตาม คือ พระนางและมณีจันทร์ แต่ด้วยเหตุและผล ความเหมาะสม และความเป็นไปได้ ทำให้พระองค์ดำคิดว่าความรักคงจะสมหวังและเป็นไปได้กับพระธิดาวิไลกัลยามากกว่า เพราะเป็นลูกกษัตริย์เช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่ก็รู้สึกรักและผูกพันกับ “มณีจันทร์” หญิงสาวชาวมอญที่เป็นเด็กวัดลูกศิษย์ของพระอาจารย์เดียวกันก็ตาม ถึงแม้ว่าพระองค์ดำและพระธิดาวิไลกัลยาจะรักกันเพียงใดก็ตาม ก็ยังถูกขัดขวางและกีดกันต่างๆ นาๆ จากพระมารดาเมงพยู โดยเฉพาะการกลั่นแกล้ง ขัดขวาง และลอบทำร้ายต่างๆ นาๆ จากมังสามเกียดและเหล่าบริวารของพระเชษฐา แต่ก็สู้พระองค์ดำไม่ได้ และก็ไม่ได้ทำให้พระนางวิไลกัลยาเลิกรักและเลิกภักดีต่อตองเจแต่อย่างใด กลับยิ่งเพิ่มมากขึ้นและยังได้รับความช่วยเหลือจากพระนางอีกด้วย ทั้งสองพระองค์แอบนัดพบกันบ่อยๆ จนถึงขนาดได้พากันไปเที่ยวด้วยกันและสาบานรักกันต่อหน้า “พระธาตุมุเตา” หรือ “พระธาตุชเวมอดอ” ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในกรุงหงสาวดี ว่าจะรักและครองรักกันจนชั่วฟ้าดินสลาย ไม่ว่าจะมีอุปสรรคและเกิดอะไรขึ้นก็ตาม หากใครผิดคำสาบานก็ขอให้มีอันเป็นไปและต้องจบชีวิตลงบนแผ่นดินนี้ และทั้งสองพระองค์ยังเคยชวนกันไปทำบุญร่วมกัน และไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เช่น พระเจดีย์ชเวดากองอีกด้วย
และแล้วเมื่อพระพี่นางสุพรรณกัลยา ยอมตกลงพระทัยเป็นพระสนมของพระเจ้าบุเรงนอง เพื่อแลกกับการให้พระองค์ดำกลับมากรุงศรีอยุธยา เพื่อเตรียมการกู้ชาติและประกาศอิสรภาพให้ชาวสยามนั้น ในพระทัยของพระองค์ดำก็ยังคงรักและคิดถึงพระธิดาวิไลกัลยาตลอดเวลา พระองค์ดำเคยเสด็จจากเมืองพระพิษณุโลกสองแควลงมาที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อขอให้พระบิดาและพระมารดาเสด็จไปสู่ขอพระธิดาวิไลกัลยามาเป็นพระมเหสีของพระองค์ด้วย ซึ่งพระบิดาและพระมารดาทรงเข้าพระทัยในพระโอรส แต่ก็ได้ให้สติไปว่า จะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อเราเป็นศัตรูกัน และจุดมุ่งหมายและภารกิจของพระองค์ดำก็คือประกาศอิสรภาพและคืนความเป็นไทให้ชาวสยามกรุงศรีอยุธยา เพราะถ้าอภิเษกสมรสกันแล้ว ก็หมายความว่าสยามกรุงศรีอยุธยาก็ยอมเป็นเมืองประเทศราชของพม่าหงสาวดีไปโดยปริยาย ก่อนที่เรื่องราวจะไปกันใหญ่ พลันก็มีข่าวศึกจากม้าเร็วมาบอกว่า กองทัพเขมรนำโดย “พระทศโยธา” และ “พระสุรินทร์ราชา” นำกำลังพลประมาณ ๕,๐๐๐ คน บุกโจมตีไทยจนเข้ามาถึงเมืองนครราชสีมาแล้ว พระองค์ดำจึงหยุดศึกรักในพระทัยไว้ก่อน แล้วได้ขอพระบรมราชานุญาตจากพระบิดา นำทหารไทยจำนวน ๓,๐๐๐ นายไปปราบพวกเขมร และแล้วกองทัพเขมรก็แตกและพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกด้วยน้ำมือของพระองค์ดำ
เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๔ พระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคต กษัตริย์แห่งเมืองประเทศราชทั้งหลายย่อมต้องเสด็จมาร่วมงาน และมาร่วมแสดงความเคารพและเป็นเกียรติในการเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของ “พระเจ้านันทุเรง” แห่งพม่าหงสาวดี ฝ่ายพระองค์ดำอุปราชวังหน้าแห่งเมืองพระพิษณุโลกสองแควรู้ข่าวก็เสด็จมาที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อขอพระบรมราชานุญาตจากพระบิดา ด้วยการยกเหตุผลต่างๆ นาๆ แต่ลึกๆ ในพระทัยของพระองค์แล้วนอกจากจะได้ไปแสดงความเคารพพระศพของพระเจ้าบุเรงนองแล้ว พระองค์จะได้พบกับสตรีพิเศษในชีวิตถึง ๓ คนด้วยกัน คือ พระพี่นางสุพรรณกัลยา มณีจันทร์ (ซึ่งพระองค์ดำได้นำไปถวายตัวเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของพระพี่นางในพระราชวังก่อนที่จะเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาแล้ว) และโดยเฉพาะพระธิดาวิไลกัลยายอดดวงใจของพระองค์ดำนั่นเอง พระมหาธรรมราชาก็ต้องจำยอมและเข้าพระทัยในพระโอรส ซึ่งในคราวนั้น “เจ้าเมืองรุม” และ “เจ้าเมืองคัง” สองกษัตริย์ได้แข็งข้อไม่ยอมมาร่วมงานและประกาศไม่ยอมรับพระราชอำนาจของกษัตริย์พระองค์ใหม่ของหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงทรงพระพิโรธยิ่งนัก ประกาศให้พระยุพราชซึ่งเป็นเจ้าฟ้าของทุกเมือง คือ ๑๘ เจ้าชาย ยกทัพไปปราบ ซึ่งเจ้าชายทั้งหลายได้ประชุมทัพและวางแผนการทำศึกออกเป็น ๓ กองทัพ คือ กองทัพของ “พระมหาอุปราช (มังสามเกียด)” เป็นทัพที่ ๑ ให้เข้าตีก่อน หากไม่สำเร็จจึงให้กองทัพที่ ๒ นำโดย “พระเจ้าสังขทัต” หรือ “นัดจินหน่อง” เจ้าชายแห่งเมืองตองอูเข้าตีต่อไป หากไม่สำเร็จจึงให้กองทัพที่ ๓ นำโดยพระองค์ดำพระอุปราชแห่งเมืองพระพิษณุโลกสองแควเข้าตี เป็นที่ทราบกันดีแล้วในประวัติศาสตร์แล้วว่า เมืองรุมและเมืองคังพ่ายแพ้ และตกอยู่ในอุ้งมือของพระองค์ดำเจ้าชายแห่งเมืองพระพิษณุโลกสองแควของกรุงศรีอยุธยา ในการครั้งนี้เองเป็นการสร้างชื่อเสียงและประกาศเกียรติยศ ตลอดจนแสดงถึงพระบรมราชานุภาพแห่งว่าที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้เป็นอย่างดี ผู้ที่ดีใจและมีความสุขอย่างมากย่อมเป็น ๓ สตรีในกรุงหงสาวดี คือ พระพี่นางสุพรรณกัลยา มณีจันทร์ และพระธิดาวิไลกัลยานั่นเอง เสร็จศึกครั้งนี้แล้ว เมื่อกลับถึงกรุงหงสาวดี พระองค์ดำได้ขอพระบรมราชานุญาตนัดพบกับพระธิดาวิไลกัลยา ถึงแม้ว่าจะรังเกียจและไม่ชอบเพียงใดก็ตาม แต่พระองค์ดำผู้นี้ก็เป็นผู้ซึ่งได้นำชัยชนะมาให้พระมหากษัตริย์แห่งหงสาวดีพระองค์ใหม่ ดังนั้นพระเจ้านันทบุเรงและพระนางเมงพยูก็ต้องจำยอมให้ทั้งสองพระองค์ได้พบกัน ในค่ำคืนที่พระจันทร์แจ่มใส บรรยากาศเป็นใจในการแสดงความรักพร่ำพรอดและห่วงหาอาลัยอาวรณ์ที่ต้องจำพรากจากกันนานแสนนานของทั้งคู่ ช่างน่ารัก น่าอิจฉา และมีความสุขเกินบรรยาย ทั้งคู่ตอกย้ำสาบานรักและมอบของที่ระลึกไว้ดูต่างหน้าให้กันและกัน
เมื่อปีพ.ศ. ๒๑๒๖ กษัตริย์แห่งกรุงอังวะไม่พอพระทัยกษัตริย์พม่าหงสาวดี จึงประกาศแข็งเมืองและได้ชักชวนหัวเมืองไทใหญ่ทั้งหลายแข็งเมืองไม่ขึ้นกับหงสาวดี ทำให้พระเจ้านันทบุเรงทรงพิโรธ ทรงสั่งการให้เจ้าเมืองแปร เมืองตองอู เมืองเชียงใหม่ ร่วมยกทัพไปปราบอังวะด้วย และยังมีใบสั่งให้กรุงศรีอยุธยายกทัพมาร่วมศึกในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบในประวัติศาสตร์แล้วว่า พระเจ้านันทบุเรงและเหล่าทหารของพม่าหงสาวดีนั้น เกรงในพระบรมเดชานุภาพและสติปัญญาของพระองค์ดำยิ่งนัก และมีความเห็นว่าในภายภาคหน้าพระองค์ดำจะเป็นอันตรายต่อหงสาวดีเป็นแน่แท้ จึงได้วางแผนการกำจัด และมีพระราชโองการให้พระมหาอุปราชมังสามเกียดอยู่เฝ้ากรุงหงสาวดี และสั่งการให้ “พระยาเกียรติ” กับ “พระยาราม” สองแม่ทัพมอญ ให้หาทางลอบทำร้ายและกำจัดพระองค์ดำเสีย ซึ่งพระยาเกียรติกับพระยารามนั้นเป็นลูกศิษย์ของพระมหาเถรคันฉ่องเช่นกัน พระอาจารย์จึงให้ทั้งสองกลับใจและยอมเข้ากับกรุงศรีอยุธยา แล้วพระมหาเถรคันฉ่องก็นำความไปแจ้งแก่พระองค์คำศิษย์รัก และแล้วประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจดจำก็คือ พระองค์ดำได้กระทำการ “ประกาศอิสรภาพ” นับจากนี้สืบไปกรุงศรีอยุธยาจะไม่ขึ้นกับพม่าหงสาวดีอีกต่อไป ณ เมืองแครงในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ นั่นเอง พระองค์ดำได้ยกทัพบุกเข้าตีกรุงหงสาวดีที่มีพระมหาอุปราชมังสามเกียดควบคุมและดูแลอยู่ มังสามเกียดทราบข่าวว่าสองพระยามอญได้เข้ากับอยุธยาแล้วก็ไม่กล้าออกรบได้แต่ป้องกัน และรักษาเมืองไว้ ครั้นพระองค์ดำได้รับข่าวว่าพระเจ้านันทบุเรงรบชนะพระเจ้าอังวะและกำลังยกทัพกลับมา จึงสั่งถอยทัพกลับและให้เทครัวไทยและครัวมอญกลับไปกรุงศรีอยุธยา และยังได้ไปกราบทูลเชิญพระพี่นางสุพรรณกัลยาให้เสด็จกลับไปด้วยกัน แต่พระพี่นางไม่กลับเพราะว่าได้มีพระธิดากับพระเจ้าบุเรงนองแล้ว ขอให้พระอนุชาทำการกู้อิสรภาพ และยกทัพกรุงศรีอยุธยารบให้ชนะแล้วมาเชิญพระองค์กลับอย่างสง่างามดีกว่าลอบหนีกลับไปเยี่ยงเชลย พระองค์ดำก็จนพระทัย พระองค์ดำได้มาชักชวนให้มณีจันทร์ไปอยู่ด้วยกันกับพระองค์ที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งนางก็ยินดีและเต็มใจ ทำให้พระองค์ดำดีใจและมีความสุขยิ่งนัก
ส่วนพระธิดาวิไลกัลยาผู้น่าสงสาร พระนางเฝ้ารอคนรักของพระองค์ไม่ว่าอะไรจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ทั้งพระบิดาพระมารดาและพระเชษฐาขอให้พระองค์เปลี่ยนพระทัยและตัดพระทัยเสีย เพราะว่าความรักของพระนางย่อมเป็นไปไม่ได้ และคนรักของพระนางก็เป็นศัตรูกับครอบครัวและพม่าหงสาวดีของพระนางอีกด้วย แต่พระองค์ก็เข้าใจและยอมรับได้ในชะตากรรมที่เกิดขึ้นและที่จะดำเนินไป พระนางมั่นใจในสัจจะอธิษฐานและคำสาบานของทั้งสองพระองค์ว่า ทั้งคู่จะมั่นในรักและกลับมาหาพระนางอย่างแน่นอน พระองค์ดำก็เช่นเดียวกัน ในพระทัยของพระองค์ยังรักมั่นและยึดมั่นในสัจจะ และคำสาบานที่ทั้งสองพระองค์ได้กระทำต่อกันไว้เมื่อคราวเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่เสมอ แต่โชคชะตาและพรหมลิขิตกลับทำให้ทุกอย่างพลิกผันไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ กองทัพของพม่าหงสาวดีและเหล่าประเทศราชที่บุกโจมตีกรุงศรีอยุธยาแต่ต้องพ่ายแพ้กลับไปครั้งแล้วครั้งเล่า หนำซ้ำพระเชษฐาสุดที่รัก คือ “พระมหาอุปราชา” ของพระนางต้องมีอันศรีษะต้องขาดกระเด็นในคราวทำ “ศึกยุทธหัตถี” ด้วยน้ำมือของยอดดวงใจของพระนางเอง กรุงหงสาวดีของพระนางต้องถูกเผาทำลาย ครอบครัวของพระนางต้องแตกกระสานซ่านเซ็นหนีตายกันจ้าละหวั่น ถึงกระนั้นพระนางก็ยังรักและยึดมั่นในคนรักของพระนาง จากวันเป็นเดือนจากเดือนเลื่อนไปเป็นปี ข่าวคราวที่พระนางได้รับรู้มาว่า คนรักของพระนางได้อภิเษกสมรสกับหญิงอื่น ทรงมีพระสนมอีกมากมายจากเมืองนั้นเมืองนี้อยู่ตลอดเวลา แต่พระนางก็เข้าใจและยอมรับได้ ถึงแม้ว่าจะมีกษัตริย์และเจ้าชายจากเมืองต่างๆ มาเกี้ยวพาราสี ทอดสะพาน ทาบทาม และมาสู่ขอ แต่พระนางไม่สนพระทัยไยดีในชายใดเลย ถึงแม้พระบิดาและพระมารดาต่างก็เห็นชอบแล้วก็ตาม เมื่อเหตุการณ์เลยเถิดและเลวร้ายเกินที่จะเป็นไปและยอมรับได้ เมื่อหมดโอกาสที่จะสมหวังในรักแล้ว พระธิดาวิไลกัลยาผู้น่าสงสารก็ตัดสินพระทัยทำอัตวินิบาตกรรม โดยการกระโดดแม่น้ำสาละวินฆ่าตัวตายเซ่นสังเวยรักที่ไม่สมหวังตามสัจจะอธิษฐานและคำสาบานที่พระองค์ได้กระทำไว้กับคนรักของพระองค์ อนิจจา!
(ค) สรุป
ความรักเป็นสิ่งสวยงาม ทำให้มนุษยชาติมีความสุข แต่ความรักก็นำมาซึ่งความทุกข์ และความผิดหวังมาให้ได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะรักและมีสัจจะอธิษฐานได้เคยสาบานร่วมกันว่าจะครองคู่ และครองรักกันจนตราบชั่วฟ้าดินสลาย ก็มิอาจทำให้รักนั้นสมหวังได้ดังใจเสมอไป ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามกฎแห่งกรรม หรือจะเรียกว่าพรหมลิขิตก็ตาม “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” แห่งกรุงศรีอยุธยา กับ “พระธิดาวิไลกัลยา” แห่งพม่ากรุงหงสาวดี ก็หลีกหนีกฎแห่งความไม่แน่นอนนี้ไปไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่กรรมหรือการที่ได้กระทำร่วมกันเป็นสัจจะว่า หากความรักไม่สมหวังไม่ได้ครองคู่กันก็ขอให้มีอันเป็นไป และตายในแผ่นดินนี้ ก็จึงต้องเป็นไปตามนั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จสวรรคตด้วยโรคพิษไข้มาลาเรีย ณ เมืองหาง จังหวัดเมืองโต๋น (ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงใหม่ของไทย) ในแผ่นดินรัฐฉานของพม่าในปัจจุบัน เมื่อคราวยกทัพมาช่วย “เจ้าคำก๋ายน้อย” เจ้าฟ้าแห่งไทใหญ่พระสหายสนิทของพระองค์ดำ ซึ่งเคยมาเป็นองค์ประกัน (เชลย) ที่หงสาวดีตั้งแต่เยาว์วัยเช่นเดียวกันกับพระองค์ดำ เมื่อคราวที่เจ้ากรุงอังวะยกทัพมาตีหัวเมืองของไทใหญ่ของเจ้าคำก๋ายน้อย ในปีพ.ศ. ๒๑๔๘ ซึ่งเป็นไปตามสัญญา และสัจจะอธิษฐานที่ได้กระทำไว้ร่วมกันกับพระธิดาวิไลกัลยา ที่ว่า ให้มีอันเป็นไปและจบชีวิตในแผ่นดินนี้นั่นเอง
สุ จิ ปุ ลิ
๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑