ปาฏิหาริย์ : พระขุนแผน
……….
ก. เกริ่นนำ
วัตถุมงคลที่ชื่อว่า “พระขุนแผน” นั้น ทำไมจึงมีพุทธคุณและมีผู้คนเสาะแสวงหาเพื่อที่จะได้มาบูชาและอาราธนาพกติดตัวกันนัก ทั้งที่หายากและมีราคาแพงมาก และที่สำคัญทำไมต้องเรียกชื่อว่า “พระขุนแผน” ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับ “ขุนแผน” หรือ “พลายแก้ว” ที่เป็นยอดขุนศึกของไทยในยุคต้นกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
ข. เนื้อหา
“พระขุนแผน” เป็นวัตถุมงคลที่เป็นพระผงที่มีรูป ๕ เหลี่ยม มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย (มีลักษณะคล้ายพระพุทธชินราช) นั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว สร้างขึ้นมาใน ๒ เหตุการณ์สำคัญของไทย ดังนี้
(๑) เหตุการณ์ที่ไทยสยามกรุงศรีอยุธยาจะทำการรบกับพม่าในคราว “ศึกยุทธหัตถี” ระหว่าง “พระองค์ดำ” หรือ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” แห่งสยามกรุงศรีอยุธยา กับ “พระมหาอุปราชา” หรือ “มังสามเกียด” แห่งพม่าหงสาวดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕ โดยการศึกในขณะนั้นเป็นศึกครั้งใหญ่มาก สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้รับการชี้แนะจากพระอาจารย์ของพระองค์ท่าน คือ “สมเด็จพระวันรัตน์วัดป่าแก้ว” ที่เป็นสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสี (พระป่า) ให้สร้างวัตถุมงคลขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับทหารของไทย จึงได้สร้างขึ้นมาในปีนั้น โดยได้รับการออกแบบและปลุกเสกอย่างดี แต่มีเหตุการณ์ข้าศึกยกมากระชั้นชิด จึงยังไม่ได้เคลือบน้ำยาที่วัตถุมงคล และได้มอบให้กับทหารของไทยทุกคนก่อนการออกศึก ผลปรากฏว่าในการทำศึกสงครามในครั้งนี้ กองทัพไทยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนะใน “ศึกยุทธหัตถี” ต่อพระมหาอุปราชามังสามเกียดอย่างงดงาม ทหารไทยล้มตายและบาดเจ็บมีจำนวนไม่มาก เมื่อเสร็จศึกแล้วก็ได้มีการนับศพทหาร และพระองค์ดำได้มีดำริว่า ศพทหารที่ตายก็ควรที่จะได้รับการทำบุญและอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ จึงได้นำวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมาในการสงครามครั้งนี้ ให้รวบรวมมาจากทหารที่เสียชีวิตและรวมกับทหารคนใดที่อยากร่วมทำบุญก็ให้เอาวัตถุมงคลของตนเองบรรจุในกรุของวัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นเส้นทางเดินทัพกลับกรุงศรีอยุธยา และเมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านมาหลายร้อยปี เมื่อกรุวัดบ้านกร่างแตกออกมา จึงได้พบพระรุ่นนี้ ได้มีผู้คนนำไปบูชาและอาราธนาพกติดตัว ซึ่งมีพุทธคุณวิเศษมากในด้านมีเสน่ห์ มีเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย และคงกระพันชาตรีอีกด้วย ผู้คนจึงนิยมยกย่องให้ตรงกับชื่อยอดขุนศึกหรือทหารเอกของไทยในยุคต้นกรุงศรีอยุธยาที่มีนามว่า “ขุนแผน” หรือ “พลายแก้ว” หรือ “เจ้าเมืองกาญจนบุรี” นับจากวันนั้นเป็นต้นมา วัตถุมงคลรุ่นนี้ จึงได้ถูกขนานนามว่า “พระขุนแผนวัดบ้านกร่าง” จนถึงปัจจุบันนี้
(๒) ในคราวที่ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” มีดำริที่จะสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการทำศึกชนะพม่าหงสาวดีใน “ศึกยุทธหัตถี” นั้นก็คือ “พระเจดีย์ใหญ่ชัยมงคล” แห่งวัดป่าแก้ว ที่เป็นวัดของ “สมเด็จพระวนรัตน์” พระอาจารย์ของพระองค์ดำ จึงได้จัดให้สร้างวัตถุมงคลรุ่นพิเศษขึ้นมา ในการครั้งนี้ ได้มีการออกแบบพระเครื่องที่เป็นวัตถุมงคลอย่างสวยงามและพิถีพิถันกว่าครั้งก่อน และยังได้เคลือบน้ำยาอย่างดีอีกด้วย โดยจัดสร้างและออกแบบมา ๓ พิมพ์ คือ "พิมพ์อกใหญ่ฐานสูง" หมายถึง "พระองค์ดำ" หรือ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ส่วน "พิมพ์อกใหญ่ฐานต่ำ" หมายถึง "พระองค์ขาว" หรือ "สมเด็จพระเอกาทศรถ" และ "พิมพ์แขนอ่อน" หมายถึง "พระองค์ทอง" หรือ "สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา" นั่นเอง เมื่อทำเสร็จก็ได้มอบและแจกจ่ายให้กับบุคคลสำคัญ ข้าราชการ ทหาร และประชาชนชาวกรุงศรีอยุธยาในการครั้งนี้อีกด้วย และหลังจากนั้นในการทำศึกสงครามกับทั้งพม่าและเขมร เหล่าทหารกล้าของไทยก็ได้อาราธนาและพกติดตัวออกศึกด้วยทุกครั้ง จึงรบชนะข้าศึกศัตรูอย่างงดงามและง่ายดาย ซึ่งวัตถุมงคลรุ่นนี้ ก็มีพุทธคุณเฉกเช่นเดียวกันกับขุนแผนวัดบ้านกร่างสุพรรณบุรี แต่สร้างบรรจุกรุวัดใหญ่ชัยมงคลแห่งเมืองหลวงกรุงศรีอยุธยา เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี กรุวัดใหญ่ชัยมงคลได้แตกออกมา จึงได้พบพระเครื่องรุ่นนี้ จึงขนานนามเรียกกันว่า “ขุนแผนเคลือบวัดใหญ่ชัยมงคล” หรือ “ขุนแผนเคลือบอยุธยา” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ค. บทสรุปพุทธคุณและปาฏิหาริย์
“พระขุนแผน” ที่เป็นวัตถุมงคลแบบพระผง ไม่ว่าจะเป็นรุ่น “พระขุนแผนบ้านกร่าง” หรือรุ่น “พระขุนแผนเคลือบอยุธยา” ล้วนมีพุทธคุณที่เกิดขึ้นกับผู้บูชาและอาราธนาพกติดตัว ในด้านมีเสน่ห์ มีเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย และคงกระพันชาตรีอีกด้วย และในยุคหลังถัดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังพบว่ามีการสร้างและปลุกเสกพระเครื่องแบบนี้ขึ้นมากันอยู่เป็นประจำ เพราะได้รับความนิยม เชื่อถือ และมั่นใจในพุทธคุณ ถึงแม้ว่าจะเสาะหามาอย่างยากลำบากและมีราคาแสนแพงเพียงใดก็ตาม
และสิ่งที่เป็นปาฏิหาริย์อีกสิ่งหนึ่งก็คือ หากพระขุนแผนองค์ที่ตนเองเคยเป็นเจ้าของหรือได้บูชาและครอบครองในอดีตชาติ หากยังไม่แตกสลายหรือถูกทำลายไปแล้ว ก็จะได้กลับมาครอบครองเป็นเจ้าของ หากว่าชาตินี้ได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาอีก
สุ จิ ปุ ลิ
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑