สุพรหมโมกขะหมาเก้าหาง
***************************
ก. มูลเหตุจูงใจ
ผู้เขียนเว็บไซต์ได้พยายามศึกษาค้นคว้าความรู้ในพระพุทธศาสนา และทำการเผยแพร่สัจธรรมและคุณงามความดีของพระพุทธองค์สู่สาธารณชน ให้ได้รับความรู้และนำไปใคร่ครวญพิจารณาอย่างแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อการจะได้มีชีวิตที่ดีทั้งในภพนี้และภพหน้า อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างและให้กำลังใจในการบำเพ็ญบุญบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้เป็นประมุขของชาติไทยอีกด้วย
เรื่อง “สุพรหมโมกขะหมาเก้าหาง”นี้ เป็นนิบาตนอกชาดก แต่ก็เป็นเรื่องในอดีตชาติขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน โดยเรื่องนี้ให้ข้อคิดและสัจธรรมมากมาย เช่น การบำเพ็ญบารมีต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคโดยเฉพาะกับศัตรูคือ “พญามาร”และ “เหล่าเสนามาร”ทั้งหลาย การเป็นผู้มีความกตัญญูต่อบุพการี การเป็นผู้มีศีล(เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ผิดลูกเมียคนอื่น เป็นต้น) การเป็นผู้มีขันติ(ความอดทน) เป็นต้น
ข. ที่มา
สุพรหมโมกขะหมาเก้าหางเป็นธัมม์หรือชาดกล้านนาเรื่องหนึ่ง ต้นฉบับที่ใช้ถอดความครั้งนี้ เป็นใบลานของวัดป่าสักน้อย ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง เชียงใหม่ มีความยาว ๗ ผูก รวม ๒๒๕ หน้า จารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นที่น่าสังเกตว่าชาดกเรื่องนี้ โดยเฉพาะในตอนต้นเรื่องละม้ายกับเรื่อง นางไข่พราง หรือ นางไข่ฟ้า เนื้อเรื่องโดยย่อของ สุพรหมโมกขะหมาเก้าหาง มีดังนี้
ค. เนื้อเรื่อง(โดยย่อๆ)
ในครั้งที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหารนอกเมืองสาวัตถีนั้นทรงปรารภถึงเหตุที่พระสงฆ์ประชุมกันในธรรมสภาสนทนากันถึงการที่เทวทัตพยายามทำร้ายพระพุทธองค์ ซึ่งพระ องค์ก็ได้นำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าเรื่องหนึ่ง ดังนี้
ในกาละที่พระพุทธเจ้าโกนาคมนะตรัสรู้ในตอนต้นของภัทรกัปป์นั้น พระโคตมพุทธเจ้ายังคงสร้างสมภาร(บารมี)อยู่ ครั้งนั้นพระองค์ได้ถือกำเนิดในตระกูลเข็ญใจ(ทุคคตะ)อยู่นอกเมืองมาตุลนคร ในเมืองนั้นพระราชาคือพระเจ้าพรหมทัตต์ มีพระมเหสีชื่อนางจันทเทวี เมื่อพระโพธิสัตว์คลอดมาแล้วก็ได้ชื่อว่าสุพรหมโมกขกุมาร และเมื่อคลอดแล้วเพียงเจ็ดวัน มารดาก็เสียชีวิต บิดาของพระโพธิสัตว์ต้องไปขอทานมาเลี้ยงดูบุตรจนมีอายุสิบห้าปี ทุคคตพราหมณ์ผู้บิดาได้นำแม่หมาตัวหนึ่งมาเลี้ยงซึ่งต่อมาได้คลอดลูกตัวหนึ่งมีสีดำปลอดและมีหางถึงเก้าหาง ต่อมาไม่นานบิดาก็เสียชีวิตอีก ก่อนที่จะเสียชีวิตนั้นได้สั่งความบุตรไว้ว่า ให้นำศพตนไปทิ้งในป่าช้าและปกคลุมด้วยกิ่งไม้ใบไม้ เมื่อศพเน่าสลายไปเหลือแต่โครงกระดูกแล้วก็ให้ใช้เชือกผูกกะโหลกศีรษะของตนลากไปเรื่อยๆ เพื่อแสวงหาที่จะทำไร่ หากกะโหลกศีรษะไปติดค้างที่ไหนก็ให้ทำไร่อยู่ในที่นั้น และให้หาก้อนหินก่อสถูปบรรจุกะโหลกศีรษะไว้ที่กลางไร่ แล้วจึงถางป่าเผาไร่และไปขอพันธุ์พืชจากชาวบ้านไปปลูกในไร่นั้น
ทุคคตะสุพรหมโมกขกุมารก็ได้ดำเนินการตามที่บิดาสั่งไว้ทุกประการ เมื่อนำศพของบิดาไปไว้ในป่าช้าและใช้กิ่งไม้ใบไม้ปกไว้แล้วก็ออกไปขอทานและรับจ้างรอเวลาจนศพเปื่อยเน่า จากนั้นก็พาหมาน้อยเก้าหางลากกะโหลกศีรษะของบิดา ไปจนค้างอยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่งทางทิศเหนือของเมืองมาตุลนคร จึงได้นำก้อนหินก่อสถูปบรรจุกะโหลกศีรษะของบิดาไว้แล้วจัดการปักเขตหมายแดน และว่าวันรุ่งขึ้นจะถางป่าทำไร่ต่อไป พอรุ่งขึ้นก็พบว่าบริเวณป่าที่ตนจับจองไว้นั้นมีผู้มาถางไว้แล้ว อีกหนึ่งเดือนต่อมาใกล้จะถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว สุพรหมโมกขกุมารคนยากก็ตั้งใจจะไปเผาป่าที่จับจองไว้ แต่ก็พบว่ามีผู้เผาให้แล้วอย่างเรียบร้อย ครั้นเดินทางเข้าไปขอพันธุ์พืชจากชาวเมืองได้แล้วว่าจะนำไปปลูก ก็พบว่ามีพืชปลูกอยู่แล้วอย่างเป็นระเบียบจนเต็มไร่ กุมารน้อยทุคคตะจึงปลูกกระท่อมไว้กลางไร่และพาหมาเก้าหางไปอยู่ในกระท่อมนั้นด้วย หลังจากนั้นพืชพรรณทั้งหลายก็เจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว กุมารโพธิสัตว์จึงนำเอาผลผลิตจากไร่ไปขายในเมือง และยังได้บอกกล่าวแก่พ่อค้าให้ไปเลือกซื้อพืชผลจากไร่ของตนอีกด้วย
ฝ่ายพระอินทร์เมื่อสำรวจดูความเป็นอยู่ของพระโพธิสัตว์แล้ว เห็นว่าอยู่อย่างยากลำบากและต่อจากนั้นจะลำบากมากยิ่งขึ้น จึงหาทางช่วยเหลือโดยไปเชิญนางเทพธิดาชื่อจันทิมพรหมา ลงไปช่วย โดยเนรมิตรไข่พราง (พบว่าเขียน “ไข่ฟ้า-ไข่ฟ้าง” อีกด้วย) ขนาดใหญ่ ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงหนังวิเศษ บรรจุข้าวของของเครื่องใช้อันเป็นทิพย์ต่าง ๆ ไว้ด้วย และให้นางอยู่ในไข่นั้น แล้วพระอินทร์ก็นำไปไว้ที่กลางไร่ใกล้กับสถูปกะโหลกศีรษะบิดาของพระโพธิสัตว์ เช้าวันรุ่งขึ้น หมาเก้าหางไปพบไข่พรางนั้นก่อนก็เห่าไม่หยุดจนพระโพธิสัตว์ไปดู เห็นว่าน่าจะเป็นของวิเศษ จึงอุ้มไปไว้ในกระท่อม โดยปกติสุพรหมโมกขกุมารจะนำพืชไร่ไปขายที่ตลาดในเมืองทุกเช้า เมื่อนางจันทิมพรหมาหรือไข่พรางมาอยู่ด้วยแล้ว พอพระโพธิสัตว์ออกจากกระท่อมไป นางก็ออกจากไข่มาทำความสะอาดกระท่อมและจัดหาน้ำใช้น้ำดื่มไว้ แล้วประกอบอาหารอันเป็นทิพย์รสโอชามีกลิ่นเย้ายวนใจตลบไปทั่วกระท่อมน้อยและไร่กว้าง พอสุพรหมโมกขกุมารเห็นสิ่งต่างๆดังกล่าวก็แปลกใจแต่ก็ไม่กล้ากินอาหารนั้น คงรออยู่จนถึงวันที่สามจึงตัดสินใจลองชิมอาหารนั้น เมื่อพบว่ามีรสโอชา ก็กินจนอิ่ม ส่วนที่เหลือก็ให้หมาเก้าหางกิน พอหมาดำกำพร้ากินอาหารนั้นแล้วก็พูดภาษาคนได้ ถึงวันที่สี่ สุพรหมโมกขกุมารโพธิสัตว์ก็ทำทีหาบพืชผลไปขายตามปกติ แต่พอพ้นเขตไร่แล้วก็ซ่อนหาบไว้แล้ววกกลับไปซุ่มดูเหตุการณ์ที่กระท่อมเถียงไร่ของตน ฝ่ายนางจันทิมพรหมาก็รู้ว่าผู้ใดแอบดูตนอยู่ แต่ก็แกล้งทำเป็นไม่รู้และปฏิบัติงานต่างๆ ตามที่เคยทำมา พอพระโพธิสัตว์ เห็นเช่นนั้นก็รีบไปคว้าเอาแขนไว้และถามความเป็นมา ซึ่งนางก็เล่าให้กุมารทราบทุกอย่างโดยไม่ปิดบัง กุมารโพธิสัตว์ก็ขอดูไข่ฟ้าลูกนั้น เมื่อเปิดเข้าไปดูก็พบว่าเป็นห้องใหญ่และมีสมบัติทิพย์เป็นอเนกประการ และเมื่อทั้งสองเข้าใจกันดีแล้วจึงได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาสืบแต่นั้นมา ฝ่ายคนที่ไปซื้อพืชผลในไร่ได้เห็นความงามพิลาสของนางจันทิมพรหมาเช่นนั้น ต่างก็ดื่มด่ำซึมซับเอาความงามนั้นไปกระจายตามตลาดตามหมู่บ้านและในเมือง จนคนแตกตื่นกันไปแสร้งซื้อพืชไร่ของปลูกถึงไร่เป็นจำนวนมาก
ทางด้านนายพรานที่ล่าเนื้อไปเพื่อประกอบพระกระยาหารถวายพระราชาซึ่งบังเอิญไปพบนางในไร่เข้าก็ตกตลึงจนลืมตัวครั้นได้สติคืนมาแล้วจึงนำความไปทูลพระราชาว่าหญิงงามเช่นนั้นน่าจะเป็นเจ้าแม่อยู่เมือง มากกว่าจะเป็นเมียทุคคตะอยู่ไร่ในกระท่อมเช่นนั้น พระราชาพรหมทัตที่ทราบกระแสข่าวมาก่อนครั้นถูกเร้าด้วยคำกราบทูลของนายพรานแล้ว เพลิงแห่งราคะก็กระตุ้นพระองค์ให้ครุ่นคิดหาแผนการที่จะชิงเอาหญิงนั้น
ต่อมากุมารโพธิสัตว์คิดอยากได้ยุ้งไว้เก็บพืชผลทั้งหลาย นางจันทิมพรหมารู้ความคิดของสามี จึงถือแก้วมณีซึ่งอยู่ในไข่วิเศษมาอธิษฐานทำให้เกิดมียุ้งฉางจำนวนมากเรียงรายกันอยู่ พระโพธิสัตว์ก็บอกกับภรรยาว่า จะเกี่ยวข้าวแล้วจะได้นำขึ้นเก็บในยุ้งและยังปรารภว่าคงเกินกำลังของตนที่จะเก็บเกี่ยวข้าวและพืชผลได้ทั้งหมด นางก็มอบเคียวให้และบอกให้สามีเกี่ยวข้าวไปเรื่อยๆก่อน พอตกกลางคืนนางก็นำแก้ววิเศษอธิษฐานขอให้ข้าวและพืชผลทั้งหลายเคลื่อนเข้าสู่ยุ้งฉาง เมื่อพระโพธิสัตว์แสดงความประหลาดใจ นางก็ว่าคงจะเพราะอานุภาพของบิดาเจ้าของหัวกะโหลกมาช่วย
ฝ่ายพระราชาเมื่อนึกแผนการออกแล้ว ก็ให้คนไปตามกุมารโพธิสัตว์เข้าเฝ้าและบอกว่าให้นำไก่ไปชนกับไก่ของพระองค์ โดยว่าหากกุมารชนะก็จะได้พระมเหสีไป แต่หากไก่ของพระองค์ชนะ ชายทุคคตะจะต้องถวายนางจันทิมพรหมาแก่พระองค์เมื่อกุมารโพธิสัตว์เล่าความกลัดกลุ้มดัง กล่าวแก่เมียของตนแล้วนางก็ว่ารุ่งเช้าให้นำข้าวตอกไปโปรยที่ประตูไร่ แล้วเรียกไก่ให้มากินข้าว ตอกแล้วอุ้มเอาไก่นั้นไปชนเมื่อสุพรหมโมกขกุมารทำตามนั้น ก็ได้ไก่แจ้ตัวเล็กไปชนกับไก่ชนตัวโตของพระราชาในท้องสนามหลวง แต่เมื่อไก่ชนกันนั้น ไก่แจ้กลับสามารถจิกจนตาไก่ของพระราชาบอดและยังถูกดีดจนคอขาดไปอีกด้วย พระราชาเห็นเช่นนั้นก็สั่งให้กุมารนำวัวไปชนอีกด้วยกติกาเดิมในวันรุ่งขึ้น
สุพรหมโมกขกุมารกลับสู่ไร่ของตนด้วยความท้อแท้ เมื่อไปถึงก็ปล่อยไก่นั้นไปและไก่เมื่อเข้าป่าไปแล้วก็กลับกลายเป็นอีเห็น ครั้นพบหน้าเมียรักก็เล่าความให้ฟังพร้อมกับวิตกว่าจะได้วัวชนมาแต่ไหน นางก็ว่ารุ่งขึ้นให้นำหญ้ากำหนึ่งไปโปรยที่ริมรั้วแล้วเรียกวัวมากินหญ้า จากนั้นก็ให้นำเชือกที่นางมอบให้จูงวัวนั้นไปชน เมื่อกุมารทำตามคำบอกนั้นก็มีวัวตัวหนึ่งมีเขาเรียวแหลมออกมาหา กุมารจึงผูกเชือกและขี่วัวดังกล่าวไปสู่สนามชนวัว เมื่อวัวชนของพระราชาเคลื่อนเข้าสู่สนามแล้ว คนทั้งหลายก็ได้แต่วิตกว่าวัวเล็กของชายทุคคตะจะทานกำลังของโคชนขนาดใหญ่ของพระ ราชาได้อย่างไร แต่การณ์กลับผิดไปจากที่คนคาด เพราะวัวของพระราชาถูกขวิดเข้าที่คอจนคอหักและล้มลงตาย พระราชาก็ยังไม่ยอมแพ้และให้ชายหนุ่มหาช้างไปชนกับพระองค์ในวันรุ่งขึ้น หากกุมารโพธิสัตว์ไม่มีช้างไปชนก็จะถูกตัดหัว สุพรหมโมกขกุมารได้ฟังแล้วก็นำวัวกลับสู่ไร่ด้วยความเงื่องหงอย พอไปถึงประตูไร่ก็ปล่อยวัวไปและวัวนั้นก็กลายเป็นเสือกระโจนเข้าป่าไป
สุพรหมโมกขกุมารนำความไปบอกภรรยาด้วยใบหน้าหม่นหมอง นางจันทิมพรหมาก็มอบอ้อยให้ท่อนหนึ่งและบอกว่า ในเช้าวันรุ่งขึ้นให้นำอ้อยนั้น แล้วตัดไม้ไผ่ทำเป็นตะขอและปฏักไปที่ ลำห้วยเพื่อเรียกเอาช้าง เมื่อกุมารทำตามก็ได้พลายสีดอตัวหนึ่งมาให้ขี่เข้าสนามชน ซึ่งประชาชนที่ รอดูอยู่ก็โห่ร้องแสดงความดีใจที่ชายหนุ่มสามารถหาช้างไปชนได้ พระราชามองเห็นทุคคตะหนุ่มบนคอช้างก็ประหลาดใจว่าการที่มีช้างไปชนได้นั้นคงจะเป็นเพราะภรรยาของชายหนุ่มคงเป็นผู้วิเศษ จึงทรงนึกหวาดหวั่นในพระทัย แต่ก็ให้เสนาคัดช้างฉกรรจ์ที่มีงาใหญ่และเก่งกล้าที่สุดในโรงช้างเข้าปะทะแต่ก็ถูกช้างของชายหนุ่มใช้งวงรวบงาไว้และสลัดไปมาโดยแรงจนงาหักไปข้างหนึ่ง ช้างของพระราชาจึงร้องลั่นรีบแล่นออกไปสั่นซุกตัวอยู่ที่ข้างกำแพงเมือง พระราชาเห็นเช่นนั้นก็ได้แต่ประทับนั่งงงอยู่ ชายหนุ่มจึงยืดกายขึ้นขี่ช้างกลับไป พอถึงชายป่าตีนเขาแล้วก็ปล่อยช้างไป ช้างตัวนั้นก็กลายเป็นราชสีห์คืนสู่ป่าตามเดิม
พระราชายังไม่ยอมเลิกล้มความคิดที่จะยึดครองเมียของสุพรหมโมกขกุมาร ครั้นคิดแผน การใหม่ได้แล้ว ก็ให้คนไปเรียกกุมารโพธิสัตว์เข้าเฝ้าแล้วตรัสสั่งให้ไปนำดอกบัวนิลุบลในสระใหญ่ด้านใต้ของเมืองไปถวายในเช้าวันรุ่งขึ้นให้จงได้ หากทำไม่สำเร็จ กุมารจะต้องถูกประหาร พระโพธิสัตว์ก็รู้อยู่เต็มอกว่าสระดังกล่าวไม่มีผู้ใดกล้าลงไปได้เลย เพราะเต็มไปด้วยเงือกงูมังกรและจระเข้ร้ายและยังอยู่ไกลจากเมืองเป็นอันมากอีกด้วย จึงนำความคับแค้นนั้นไปบอกแก่เมียรัก ซึ่งนางจันทิมพรหมาก็ว่าไม่ต้องกังวลและแนะเส้นทางลัดให้พร้อมทั้งบอกว่า เมื่อไปถึงก็จะเห็นสัตว์ร้ายทั้งปวงทอดตัวเรียงกันเป็นสะพานตั้งแต่ฝั่งน้ำไปถึงกอดอกนิลุบล สุพรหมโมกขกุมารได้ยินเช่นนั้นก็รีบออกเดินทางไปทันที ขณะเดียวกันนางจันทิมพรหมาก็นำแก้ววิเศษมาอธิษฐานให้พาตนไปสู่สระน้ำนั้น แล้วสั่งสัตว์ร้ายทั้งปวงให้คอยช่วยเหลือชายหนุ่มดังที่นางได้บอกกับพระโพธิสัตว์ไว้ พอชายหนุ่มไปถึงก็เห็นดอกนิลุบลงามสะพรั่งอยู่กลางสระและเหล่าสัตว์ร้าย ก็เรียงตัวจัดทำสะพานให้ สุพรหมโมกขกุมารโพธิสัตว์จึงเดินไปตามหลังสัตว์เหล่านั้น แล้วดึงดอกนิลุบลเพียงสามดอกคืนสู่ฝั่งแล้วกล่าวขอบคุณสัตว์ทั้งปวง จากนั้นจึงเร่งนำดอกไม้นั้นเข้าถวายและรีบคืนสู่ไร่ทันที
ฝ่ายเสนาอามาตย์ทั้งหลายเห็นดอกนิลุบลนั้นแล้วก็อัศจรรย์ใจว่า ชายผู้นั้นอาจเป็นผู้วิเศษหรือทรงศิลปวิทยาอาคม จึงเตือนกันไว้มิให้ประมาท แต่ฝ่ายพระราชาพรหมทัตต์ก็ยังครุ่นคิดหาวิธีการชิงเมียเขาอยู่ไม่วาย ครั้นปรึกษาเสนาผู้ใดก็ไม่มีใครกล้าให้ความเห็น จนต่อมาพระราชาก็คิดแผนการได้ จึงให้พระโพธิสัตว์ไปนำดอกบัวหอมอันมีในเมืองนาคไปถวายภายในกำหนดหกเดือน หากไม่กลับมาภายในกำหนด ก็จะถูกริบเมีย
ครั้นกุมารกำพร้าโพธิสัตว์นำความไปบอกเมียพร้อมกับพร่ำบ่นด้วยความหนักอก นางก็ปลอบว่าให้อดทนไปอีกสักหน่อยก็จะพ้นจากความทุกข์แล้ว พร้อมทั้งแนะนำวิธีการและอุปกรณ์ต่างๆ ให้โดยครบถ้วน จากนั้นสุพรหมโมกขกุมารก็เริ่มออกเดินทางไปที่สระนิลุบลนั้นแล้วลงไปตามรูก้านดอกนิลุบล ก็ได้พบงูใหญ่ตัวเท่าต้นตาลนอนสลบอยู่ กุมารจึงละลายยาที่เมียให้มากรอกปากงูนั้น เมื่องูฟื้นแล้วก็ให้กุมารขี่หลังแล้วพาไปสู่เมืองผุฏฐิริทาคือเมืองมดง่ามโดยใช้เวลาเดินทางถึงสิบห้าวัน แล้วงูตัวนั้นก็มอบยาวิเศษที่สามารถชุบชีวิตให้แก่กุมารโพธิสัตว์อีกด้วย กุมารสุพรหมโมกขะก็ไปพักอยู่ที่ศาลานอกเมืองมดง่ามและได้พบกับพ่อค้ากลุ่มหนึ่ง ซึ่งพวกพ่อค้าก็ยังมีน้ำใจมอบคนโทวิเศษที่สามารถรักษาบาดแผลต่าง ๆ ให้พระโพธิสัตว์อีกด้วย
ครั้งนั้น ธิดาของพญามดง่ามชื่อจันทิมกุฏฐีได้เสวยอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ป่าแล้วก็เกิดอาการอาหารเป็นพิษ เมื่อไม่มีหมอใดอาจรักษาได้ นางก็ถึงแก่สิ้นพระชนม์ เมืองทั้งเมืองจึงระงมด้วยเสียงร่ำไห้ของพญามดง่ามและญาติวงศ์พร้อมทั้งหมู่อามาตย์และชาวเมือง เมื่อสุพรหมโมกขกุมารได้ทราบความจากชาวเมืองแล้วก็อาสาจะรักษาพระธิดา จากนั้นจึงให้กั้นม่านเจ็ดชั้นแล้วกุมารโพธิสัตว์ก็ใส่น้ำและฝนยาที่งูใหญ่มอบให้ลงในคนโทแก้ว แล้วรินใส่ปากของพระธิดาพร้อมกับรินรดไปทั่วสรีรกายของนางหลังจากนั้นไม่นานนักพระธิดาก็ฟื้นขึ้นเป็นปกติ พญามดง่ามดีพระทัยนักจึงเสนอเมืองให้ชายหนุ่มครึ่งหนึ่ง แต่ชายหนุ่มก็ไม่รับทรัพย์สินใด ๆ พญามดง่ามจึงให้อภิเษกพระธิดากับชายหนุ่มทุคคตะพระโพธิสัตว์แทน
หลังจากที่ได้เสวยสุขอยู่กับพระธิดาจันทิมกุฏฐีเป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้ว สุพรหมโมกขโพธิสัตว์ ก็ขอลาเมืองมดง่ามไปเอาบัวหอมในเมืองนาคต่อไป พระธิดาและพญามดง่ามก็อนุญาตพร้อมกับให้ชายฉกรรจ์ผู้หนึ่งที่มีความสามารถร่วมทางไปด้วย ทั้งสองเดินทางไปใช้เวลาถึงสิบห้าวันก็ไปพักอยู่ที่ศาลาหลังหนึ่งใกล้ประตูเมืองยักษ์ วันนั้นมีงานนักขัตฤกษ์ประจำปี ยักษ์ทั้งหลาย ก็พากันไปเล่นที่แม่น้ำกันเป็นที่สนุกสนาน พระธิดาชื่อจันทิมสุภาคาซึ่งเล่นน้ำอยู่กับบริวารนั้นบังเอิญถูกหนามไผ่เกี่ยวตาจนบอดไปทั้งสองข้าง หมอทั้งปวงที่พระราชาพญายักษ์เรียกตัวมาก็ทูลว่าไม่อาจรักษาได้ พญายักษ์จึงให้ประกาศหาผู้มีความสามารถไปรักษาโดยว่าจะยกเมืองให้ครึ่งหนึ่ง เมื่อสุพรหมโมกขโพธิสัตว์ทราบเรื่องจึงขออาสารักษานางและเมื่อกั้นม่านล้อมพระธิดาไว้แล้ว ชายหนุ่มก็นำคนโทแก้วไปตักน้ำที่ท่าแล้วฝนยาจากนางจันทิมพรหมาใส่ลงไปแล้วหลั่งยานั้นใส่ตาและใส่ปากของพระธิดา เมื่อพระธิดาได้รับยาดังกล่าวแล้วก็หายจากความเจ็บปวดและกลับมองเห็นได้ดังเดิม พญายักษ์ก็กระทำพิธีวิวาหมงคลให้แก่สองหนุ่มสาว ส่วนผู้ติดตามจากเมืองมดง่ามเมื่อเห็นว่าพระโพธิสัตว์ได้รับความสุขแล้วก็ขอลากลับเมือง สุพรหมโมกขกุมารก็ได้อยู่กับนางจันทิมสุภาคาต่อมา
ครั้งนั้นมียักษ์ตนหนึ่งซึ่งวางข่ายจับปลาในแม่น้ำเป็นปกติ วันหนึ่งมีงูใหญ่ที่ลำตัวสีขาวคอแดงและมีหงอนแดงดังหงอนไก่พลัดจากบริวารมาติดตาข่าย ยักษ์ชาวประมงจึงใช้ไม้ทุบไปตลอดตัว ทำให้งูนั้นปวดร้าวและหมดแรงแล้วนำไปขายที่ตลาด ครั้นชาววังซึ่งไปจ่ายตลาดพบงูนั้นเข้าก็เล่าความแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็ให้ราชบุรุษไปซื้อและรักษาบาดแผลให้แล้วจึงวางไว้ในรางทองคำและเลี้ยงด้วยข้าวตอกคลุกน้ำผึ้ง ฝ่ายเมืองนาคนั้นก็เกิดโกลาหลขึ้นเพราะพระธิดาหายไป โดยนาคบริวารกราบทูลพญานาคราชว่าพระธิดาติดตาข่ายของยักษ์ชาวประมงแล้วถูกจับตัวไปพญานาค จึงให้บริวารแปลงกายเป็นยักษ์เข้าไปสืบความทุกหนทุกแห่งจนได้ความจากพ่อค้าในตลาดว่าราชบุรุษในวังหลวงซื้อไป พวกนาคแปลงจึงเข้าไปในวังเพื่อกราบทูลพญายักษ์แต่ก็ได้พบพระโพธิสัตว์และทราบว่านาคราชธิดาชื่อจันทิมกิตติกานั้นนอนป่วยอยู่ในรางทองจึงทูลขอซึ่งสุพรหมโมกขกุมารก็ยกให้ด้วยความยินดี เมื่อนำพระธิดาคืนสู่เมืองนาคแล้วก็พบว่าพระธิดาถูกทุบตีจนกระดูกหักและหมอว่าไม่อาจรักษานางให้กลับคืนเหมือนเดิมได้
ฝ่ายสุพรหมโมกขกุมารซึ่งอยู่ในเมืองยักษ์นานถึงหนึ่งเดือนแล้ว ก็ลานางจันทิมสุภาคาและพญายักษ์เพื่อไปเอาบัวหอมต่อไป พระโพธิสัตว์ซึ่งมีเสนายักษ์แวดล้อมก็เดินทางเป็นเวลาสิบห้าวันจึงบรรลุถึงเมืองนาค ในระหว่างการเดินทางนั้น พระโพธิสัตว์ก็ได้เรียนอาคมรักษาอาการบาดเจ็บของคนและสัตว์จากเสนายักษ์ตนหนึ่งอีกด้วย เมื่อไปถึงเมืองนาคก็พบว่ามีประกาศหาหมอไปรักษาพระธิดา จึงไปอาสาที่จะรักษาแล้วให้นำนาคธิดาซึ่งอยู่ในร่างสาวสวยไปไว้ในท้องพระโรงแล้วให้กั้นม่านไว้เจ็ดชั้น จากนั้นชายหนุ่มก็นำคนโทแก้วไปตักเอาน้ำจากแม่น้ำแล้วฝนยาซึ่งนางจันทิมพรหมามอบให้ใส่ลงไปพร้อมกับเสกคาถาตามที่เสนายักษ์สอนนั้น เมื่อให้นางกินน้ำยาและน้ำมนต์นั้นแล้วชโลมไปทั่วร่างพร้อมกับบีบนวดไปตามร่างกายแต่เบามือจนนางหลับไป ครั้นนางตื่นขึ้นก็พ้นจากความเจ็บป่วยทั้งปวง พญายักษ์ดีพระทัยนักจึงถามความประสงค์ในการเดินทางของกุมาร ซึ่งก็ได้รับคำทูลตอบว่าต้องการดอกบัวหอมไปถวายพระพุทธเจ้าและพระราชา ในเมืองมาตุลนคร พญายักษ์ ก็ให้อภิเษกพระธิดาดังกล่าวซึ่งชื่อจันทกิติให้แก่กุมารและให้เสนาไปนำบัวหอมจากสระประจำเมืองไปให้ หลังจากนั้นก็ให้เสนาไปส่งพระธิดาและราชบุตรเขยพร้อมทั้งบัวหอมถึงเมืองยักษ์
เมื่อพักอยู่ที่เมืองยักษ์ได้สามวันแล้ว ก็นำนางจันทิมสุภาคาไปลาพญายักษ์เพื่อเดินทาง กลับ ซึ่งพญายักษ์ก็ให้เสนาไปส่งถึงเมืองมดง่าม หลังจากที่ได้พักผ่อนในเมืองนั้นสามวัน ก็พานางจันทิมกุฏฐีไปทูลลาพญามดง่าม จากนั้น เสนาโยธาจากเมืองนาค เมืองยักษ์และเมืองมดง่ามก็ พากันไปส่งถึงช่องทางเข้าสู่เมืองมนุษย์คือก้านดอกนิลุบลนั้นแล้วจึงกลับสู่เมืองของตน สุพรหมโมกขกุมารก็พานางทั้งสามคืบคลานไปตามก้านดอกนิลุบล จนโผล่ออกที่กลางสระน้ำแล้วโดยสาร งูใหญ่เข้าสู่ฝั่งและพากันเดินทางไปสู่ไร่ ขณะเดียวกัน ดอกบัวที่พระโพธิสัตว์นำไปนั้นก็ส่งกลิ่นหอม อบอวลไปทั่วบ้านทั้งเมือง
ฝ่ายนางจันทิมพรหมาซึ่งอยู่ที่ไร่นานเกือบหกเดือนนั้น ก็ได้เนรมิตบ้านงามขึ้นอีกสามหลังเพื่อพระธิดาทั้งสาม แล้วพาหมาเก้าหางไปรอรับสามีอยู่ที่ประตูไร่ เมื่อบุคคลทั้งห้าได้สนทนาถูกใจกันแล้วก็ได้แยกย้ายกันอาศัยอยู่ในบ้านที่เนรมิตขึ้นนั้น รุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์จึงนำดอกบัวหอมห้าประการเข้าถวายพระราชาท่ามกลางความอัศจรรย์ใจของคนทั้งปวง เมื่อพระราชารับสั่งถาม สุพรหมโมกขกุมารก็ทูลเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนในช่วงห้าเดือนกับยี่สิบวันที่ผ่านไปให้ทรงทราบ แต่เมื่อพระราชาพระราชทานรางวัลให้ พระโพธิสัตว์ก็ขอถวายคืนทั้งหมด ต่อมาเมื่อคนทั้งหลายที่ไปซื้อพืชผลในไร่ ได้เห็นเมียงามของชายหนุ่มที่เพิ่มขึ้นอีกสามนางก็พากันเล่าลือกันไปอีก ข่าวนั้นทำให้พระราชาคิดหาอุบายที่จะกำจัดชายหนุ่มเพื่อจะชิงเอานางทั้งสี่ไปเป็นเทวีให้จงได้ ต่อมาพระองค์ก็ให้เสนาไปแจ้งแก่กุมารโพธิสัตว์ซึ่งมีนางทั้งสี่อยู่พร้อมหน้าว่า พระองค์จะจัดงานเลี้ยงเพื่อตอบแทนบุญคุณที่ได้นำบัวหอมห้าประการไปถวาย โดยให้แกงอ่อม ช้าง ควาย วัว และหมูอย่างละตัวให้ชายหนุ่มกินจนหมด หากกินอาหารดังกล่าวหมดก็จะให้พระมเหสีไปเป็นเมีย แต่หากกินไม่หมด ชายหนุ่มก็จะต้องเสียเมียทั้งสี่แก่พระองค์
เมื่อนางจันทิมสุภาคาธิดาพญายักษ์รับว่าจะให้ความช่วยเหลือแล้ว วันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์ ก็เข้าสู่โรงเลี้ยงซึ่งเต็มไปด้วยหม้อ มีแกงอ่อมเนื้อสัตว์ต่าง ๆ รออยู่ สุพรหมโมกขกุมารเริ่มด้วยการกินแกงอ่อมหมูไปช้าๆ เพื่อถ่วงให้ถึงเวลาอาทิตย์สิ้นแสง เมื่อความมืดมาถึงแล้ว นางจันทิมสุภาคาก็ชี้นิ้วไปที่เมืองยักษ์ทำให้พวกยักษ์ไม่ต่ำกว่าแสนตนกระวนกระวายจึงพากันไปหานาง พอถึงเวลาที่คนทั้งหลายหลับแล้วนางจึงสั่งให้ยักษ์ดังกล่าวไปกินแกงอ่อมในโรงเลี้ยงให้หมดทุกหม้อ และเมื่อ อาทิตย์ขึ้นสู่เวิ้งฟ้าแล้ว ราชบุรุษไปเห็นหม้อซ้อนหม้อเป็นกองพะเนินโดยที่สุพรหมโมกขกุมารยังนั่งอยู่เป็นปกติ จึงได้แต่อัศจรรย์ใจและที่ทำได้ก็คือนำความขึ้นกราบบังคมทูลเท่านั้น ส่วนกุมารโพธิสัตว์ก็กลับคืนสู่ไร่ของตน และพระราชาก็ไม่ได้มอบพระมเหสีให้ตามที่ทรงสัญญาไว้อีกเช่นเคย
ต่อมาพระราชาก็รับสั่งให้กุมารเข้าเฝ้าอีกแล้วว่าในวันรุ่งขึ้นให้ไปเก็บงาดำจำนวนสามหาบที่เทกระจายไปในสนามใส่คืนหาบให้ครบทุกเม็ดภายในหนึ่งวันและหนึ่งคืน หากไม่เสร็จ หรือได้งาไม่ครบก็จะถูกประหาร เมื่อกุมารโพธิสัตว์นำเรื่องไปบอกเมียทั้งสี่แล้วนางจันทิมกุฏฐีก็รับว่าจะช่วยเหลือ ดังนั้นในวันรุ่งขึ้น สุพรหมโมกขกุมารจึงไปเก็บเม็ดงาไปเรื่อย ๆ ท่ามกลางความคลางแคลงใจของคนทั้งหลาย พอค่ำลงก็ก่อกองไฟลุกโชติช่วงอยู่กลางสนาม และเมื่อคนในเมืองหลับกันหมดแล้วนางจันทิมกุฏฐีจึงชี้มือไปที่เมืองมดง่าม เหล่ามดง่ามไม่รู้กี่ล้านตัวจึงพากันไปหาพระธิดาของตน นางจึงให้มดง่ามเหล่านั้นไปช่วยเก็บเม็ดงาใส่หาบโดยมิให้เหลือ ซึ่งเมื่อถึงรุ่งเช้าเสนาที่พระราชาพรหมทัตใช้ให้ไปดูเหตุการณ์ก็เข้าไปทูลว่าเม็ดงาอยู่ในหาบครบถ้วนแล้ว หลังจากที่เสนากลับไปแล้ว ชายหนุ่มก็กลับคืนสู่ไร่และร่วมกับเมียทั้งสี่ขายพืชผลและทำงานอื่นตามปกติ
แต่นั้นมา พระราชาก็ยังคิดอยู่เสมอที่จะฆ่าชายหนุ่มเพื่อชิงเมีย ครั้นทบทวนดูก็เห็นว่าที่ความพยายามของพระองค์ซึ่งผ่านไปนั้นถูกแก้ไขได้ทุกเรื่อง ทำให้สงสัยว่าน่าจะมีเหตุลับลมคมในสักอย่างอยู่ในเรือนนั้น จึงคิดว่าน่าจะจัดคนไปแอบฟังเพื่อล้วงเอาความลับ ดังนั้นพระองค์จึงให้ทำกลองขนาดใหญ่หุ้มด้วยหนังอย่างดีและให้มีเสนาผู้ฉลาดซ่อนอยู่ภายใน แล้วให้คนหามไปฝากไว้ที่บ้านของชายหนุ่มโดยว่าวันนั้นค่ำแล้ว เกรงว่าประตูเมืองจะปิดเสียก่อนที่จะหามกลองไปถึง และว่ารุ่งเช้าจะพากันมาหามกลองไป ฝ่ายสุพรหมโมกขกุมารและเมียงามทั้งสี่ไม่เฉลียวใจว่าจะมีคนซ่อนตัวคอยฟังอยู่ เมื่อรับประทานอาหารแล้วก็นั่งคุยกันตามปกติ ตอนหนึ่งพระโพธิสัตว์ก็ปรารภว่าพระราชาอาจหาทางทำร้ายเพื่อชิงเมียอีก ซึ่งนางทั้งสี่ก็ว่าหากพวกตนยังอยู่แล้วก็ไม่ต้องกลัวอันตรายใดๆ เพียงแต่นางจันทิมพรหมาห้ามชายหนุ่มอย่าได้กินไข่ทุกชนิด นางจันทิมกิตติกาก็ขอว่าอย่าได้กินเนื้องู นางจันทิมสุภาคาก็ว่าห้ามกินเนื้อยักษ์ และนางจันทิมกุฏฐีก็ว่าอย่าได้กินไข่มด เพราะหากกินอาหารต้องห้ามแล้วจะทำให้นางแต่ละคนไม่อาจอยู่ต่อไปได้ เสนาที่ซ่อนอยู่ในกลองก็จดจำคำพูดเหล่านั้นไว้และนำไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบทุกประการต่อมาพระราชาก็คำนึงว่าการที่ได้เมียของชายผู้นั้นมา คงจะเป็นไปไม่ได้จึงเปลี่ยนไปคิดที่จะทำให้พลัดพรากจากกัน ดังนั้นพระราชาจึงให้พรานป่าไปแสวงหาเนื้อยักษ์จากป่าลึกมา จากนั้นก็ให้หาเนื้องูและไข่ต่างๆ มาบดเข้าด้วยกันและปรุงเป็นอาหารที่ประณีตจนไม่สามารถจำแนกได้ว่าทำจากสิ่งใด จากนั้นก็ให้เรียกกุมารโพธิสัตว์ให้เข้าไปทำงานในราชมนเทียร เมื่อถึงกลางวันก็ให้ แม่ครัวนำอาหารดังกล่าวมาเลี้ยง พออาหารตกถึงท้องเท่านั้น บรรดานางทั้งสี่ที่ในไร่ก็เกิดปั่นป่วนปวดศีรษะกระวนกระวายจนนางทั้งสามซึ่งมาจากเมืองบาดาลต้องขอลากลับคืนเมืองในทันที ส่วนนางจันทิมพรหมาก็เจ็บปวดไปทั่วตัวและอาเจียนจนไม่อาจอยู่ได้ต่อไป จึงเรียกหมาเก้าหางมาแล้วถอดแหวนให้ไว้และบอกรายละเอียดในการที่จะไปตามหานาง จากนั้นก็รีบเดินทางมุ่งไปสู่ทิศเหนือจนถึงเมืองอุทุมพันธุมตินครและได้พักอยู่ที่ศาลาใกล้กับประตูเมือง ในวันนั้นพระราชาได้ทรงช้างออกเลียบพระนครผ่านมาพบเข้าก็เรียกไปไต่ถาม ซึ่งนางก็ได้ทูลรายละเอียดให้ทรงทราบ พระราชาทรงก็รับนางไว้ในฐานะพระธิดา แล้วให้พักอยู่ที่ปราสาทอีกหลังหนึ่งพร้อมกับเครื่องใช้สอยอย่างครบถ้วนและมีหญิงบริวารอีกแปดคน
พอตกบ่ายเสร็จจากถวายการรับใช้แล้ว สุพรหมโมกขกุมารก็เดินทางกลับไร่โดยหวังว่าเมียรักทั้งสี่จะรออยู่อย่างเคย แต่เมื่อไปถึงก็พบแต่บ้านที่ว่างเปล่า ครั้นหมาเก้าหางเล่าความตามที่นางทั้งสี่สั่งไว้ จึงตระหนักว่าตนได้กินอาหารต้องห้ามไปแล้ว และสาเหตุก็คงเกิดจากกลองซึ่งคงจะมีคนซ่อนอยู่นั่นเอง ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าจะออกตามหานางไข่ฟ้าจันทิมพรหมา พร้อมนั้น หมาเก้าหางก็ได้มอบแหวนที่นางมอบไว้ให้ด้วย เมื่อสุพรหมโมกขกุมารไปบูชาสถูปกะโหลกศีรษะบิดาของตนแล้ว ก็จัดข้าวของออกเดิน ทาง โดยมีหมาดำเก้าหางดมกลิ่นตามรอยนางผ่านป่าเขาไปจนถึงห้วงน้ำใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งไม่อาจเดินอ้อมไปได้ พระโพธิสัตว์จึงจับหางหมาพยุงกายว่ายน้ำไป พอถึงฝั่งหางหมาก็ขาดไปหนึ่งหาง ครั้นเดินทางต่อไปอีกก็ไปพบห้วงน้ำใหญ่อีกแปดแห่ง ซึ่งกุมารโพธิสัตว์ก็อาศัยเกาะหางหมาว่ายน้ำข้ามไปด้วยวิธีเดียวกัน และหางหมาก็ขาดไปทีละหางตามลำดับ พอขึ้นจากแหล่งน้ำที่เก้าแล้ว หมาดำเก้าหางซึ่งได้รับความทุกขทรมานที่หางขาดก็สิ้นใจตาย สุพรหมโมกขกุมารก็ได้แต่นั่งเฝ้าซากหมาอยู่ด้วยความอาลัยรักจนซากนั้นเน่า ครั้งนั้นมีแมลงวันฝูงหนึ่งมาขอกินซากหมาแล้วก็ได้ตอบแทนด้วยการพาพระโพธิสัตว์ไปสู่อาศรมของพระฤาษีตนหนึ่ง พระฤาษีก็เล่าว่านางจันทิมพรหมาพึ่งจะผ่านที่นั้นไปเมื่อสามวันก่อน และเล่าว่าพระราชาแห่งเมืองอุทุมพันธุมติรับนางไว้เป็นพระธิดาและจะมีพิธีอาบองค์สรงเกศแก่นางในวันรุ่งขึ้น จากนั้นพระฤาษีก็ให้พรานป่าซึ่งเป็นศิษย์ไปส่งกุมารโพธิสัตว์จนถึงสระน้ำมงคลที่จะใช้ในการสรงน้ำแก่นางจันทิมพรหมา แล้วพรานป่าก็ลากลับสู่อาศรมของพระฤาษีตามเดิม
สุพรหมโมกขกุมารซึ่งพักอยู่ที่ศาลาได้เห็นหญิงหลายคนไปตักน้ำจึงเข้าไปสอบถาม เมื่อได้คำตอบชัดเจนว่านางเหล่านั้นเป็นบริวารของนางจันทิมพรหมา จึงเด็ดใบไม้ห่อธำมรงค์พร้อมกับดอกไม้อีกช่อหนึ่งฝากไปถึงนาง และขอให้บอกแก่นางว่ามีชายทุคคตะซึ่งพักอยู่ที่ศาลานั้นฝากไปให้ เมื่อนางไข่ฟ้าเปิดห่อดูเห็นแหวนที่ฝากหมาเก้าหางไว้ ก็ซักถามรายละเอียดจากหญิงบริวารแล้วก็เข้าไปทูลพระราชาว่าสามีของตนติดตามไปถึงแล้ว พระราชาก็ให้จัดราชรถออกไปรับสุพรหมโมกขกุมารและจัดการอภิเษกทั้งสองให้ขึ้นครองราชสมบัติในเมืองนั้นต่อไป
ต่อมาสุพรหมโมกขกุมารก็ทูลลาเพื่อกลับไปดูไร่และกะโหลกศีรษะบิดาของตน ตามจริงแล้วพระราชาประสงค์จะให้พระโพธิสัตว์อยู่ครองเมืองนั้นต่อไป เพราะไม่มีพระโอรสและเชื้อพระวงศ์ที่จะสืบครองแผ่นดินได้ แต่ทรงเห็นใจพระโพธิสัตว์ จึงอนุญาตและให้นำทรัพย์สมบัติและข้าราชบริพารไปด้วยให้มาก พระโพธิสัตว์ก็ขอให้ช่างไม้จัดหาไม้ที่แข็งแรงและน้ำหนักเบาเป็นจำนวนมากแล้วควบคุมให้สร้างรูปนกอินทรี หงส์และนกหัสดีลิงค์ที่กางปีกแล้วกว้างถึงสิบสองวา ลำตัวใหญ่เท่ายุ้งข้าว แต่ละตัวมีกระเช้าเป็นห้องโดยสารอยู่ด้านใต้ ทั้งนี้ได้จัดสร้างนกดังกล่าวจำนวนนับหมื่นตัวแล้วติดตั้งยนต์ไว้ภายในและเรียกชื่อว่า “ยนตหงส์” เมื่อทดลองชักสายเชือกยนต์ดูก็ปรากฏว่าสามารถบินได้เหมือนนก จากนั้นจึงขนสมบัติที่ได้รับพระราชทานไปบรรจุไว้ที่กระเช้าโดยสาร ซึ่งมีทั้งช้างม้าวัวควายข้าวเปลือกข้าวสารและข้าทาสบริวาร เมื่อได้เวลาแล้ว สุพรหมโมกขกุมารก็พานางจันทิมพรหมาไปกราบบังคมทูลลาและเข้าสู่ยนตหงส์แล้วชักเชือกสายยนต์พาบินขึ้นสู่ท้องฟ้า บรรดาบริวารที่ตามไปก็ชักสายยนต์กระพือปีกยนตหงส์พุ่งขึ้นสู่อากาศจนมืดฟ้ามัวดิน มุ่งสู่ไร่ทางทิศเหนือของเมืองมาตุลนครต่อไป กองบินยนตหงส์กระพือปีกเหินฟ้า ผ่านเมืองไปท่ามกลางเสียงแตกตื่นโกลาหลของชาว เมืองลงไปจอดที่เชิงเขาในไร่ จากนั้นจึงสร้างค่ายที่พักและโรงครัวขึ้นแล้วเลี้ยงดูกันอย่างอิ่มหนำสำราญ เมื่อคนจากในเมืองที่ติดตามไปสังเกตการณ์ดูในไร่กลับไปแจ้งข่าวแล้ว เสนาก็นำความขึ้นทูลพระราชาพรหมทัต พระองค์ก็สั่งให้จัดทหารเข้าประจำตำแหน่งศึกและปิดประตูเมืองไว้ พร้อมกับให้จัดกองทัพออกไปประจญกับกองกำลังที่ไร่ของทุคคตะสุพรหมโมกขกุมาร
ฝ่ายกองสอดแนมฝ่ายชาวไร่เมื่อเห็นกองทัพยกไปเช่นนั้น ก็ไปแจ้งข่าวแก่พระโพธิสัตว์ เมื่อนางจันทิมพรหมาพอทราบเหตุแล้วก็ออกไปยืนที่นอกค่ายแล้วชี้มือไปทางเมืองยักษ์ เมืองนาคและเมืองมดง่ามและเรียกให้นางทั้งสามไปช่วย ซึ่งนางทั้งสามเมื่อรู้สึกปั่นป่วนใจจนไม่อาจอยู่ในเมืองของตนได้ ต่างนางต่างไปสู่ไร่ด้วยกำลังฤทธิ์ แล้วบุคคลทั้งห้าก็ขึ้นสู่หลังช้างและประกาศแก่เสนาโยธาทุกนายให้เตรียมเข้าสู่สงคราม แต่ฝ่ายทัพชาวเมืองเมื่อเห็นความงามของนางทั้งสี่กระจ่างอยู่เต็มตาเท่านั้นก็ตกตะลึงได้แต่เหม่อลอยอยู่ เมื่อพระราชาพรหมทัตต์รอฟังอยู่แต่ไม่มีเสียงกึกก้องแห่งการรบขึ้นมาเลย ครั้นทรงเห็นว่านานผิดปกติก็รีบขึ้นช้างแล้วเร่งไปด้วยความกริ้วและแหวกไพร่พลฝ่ายตนออกไปอยู่ที่หน้าทัพ
เมื่อนางจันทิมพรหมาเห็นพระราชาแห่งมาตุลนครปรากฏพระองค์แล้วเช่นนั้น ก็บอกนางจันทิมกิตติกาธิดาพญานาคให้กำจัดศัตรูของสามี นางนาคราชธิดาก็ไสช้างไปอยู่หน้าทัพแล้วชี้มือลงสู่แผ่นดินแล้วเรียกนาคทั้งหลายให้ออกไปช่วย พอสิ้นคำก็ปรากฏมวลนาคราชแสดงฤทธิ์ให้เกิดความปั่นป่วนเกิดขึ้นในบริเวณที่ทัพจากในเมืองตั้งอยู่ ทำให้ไพร่พลช้างม้าล้มกลิ้งไปมากับพื้น โดยเฉพาะท้าวพรหมทัตต์เมื่อร่วงลงสู่พื้น ก็เกิดแผ่นดินแยกและปรากฏเปลวไฟม้วนขึ้นมากระชากพระองค์ดิ่งไปสู่นรกภูมิอย่างไร้ร่องรอย นางนาคธิดาเห็นเช่นนั้นแล้วก็ยกมือขึ้นเป็นการห้าม แผ่นดินก็หยุดปั่นป่วน และทหารจากในเมืองทุกนายก็แตกตื่นเตลิดหนีจากที่นั้นไปอย่างไม่คิดชีวิต
เมื่อสิ้นพระราชา และไม่มีผู้ใดหาญจะนำทัพไปสู้กับฝ่ายของของทุคคตะสุพรหมโมกขกุมารโพธิสัตว์แล้ว ประกอบกับที่สิ้นเชื้อพระวงศ์ที่จะมีสิทธิ์ขึ้นครองแผ่นดิน บรรดาอามาตย์ราชมนตรีก็ประชุมหารือกันแล้วตกลงให้เสี่ยงปุสสรถ เพื่อให้ราชรถไปเกยเอาผู้มีบุญไปเป็นกษัตริย์ต่อไป จากนั้นจึงได้จัดปะรำพิธีขึ้นที่ท้องสนามหลวง แล้วทำพิธีบวงสรวงแก่เทพยดาฟ้าดิน และกล่าวคำโองการ เสร็จแล้วก็นำพานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตั้งไว้บนราชรถแล้วปล่อยไป ปุสสรถเสี่ยงทายนั้นเมื่อกระทำทักษิณาวัตรปราสาทราชมนเทียรสามรอบแล้ว ก็ออกจากเมืองทางทิศเหนือมุ่งไปสู่ไร่ของพระโพธิสัตว์โดยมีเหล่าอามาตย์ราชบัณฑิตถือพานเครื่องสักการะตามไป เมื่อราชรถไปหยุดอยู่ที่เบื้องหน้าของพระโพธิสัตว์แล้ว เสนาอามาตย์ราชปุโรหิตก็เชิญเครื่องราชสักการะและราชเบญจกกุธภัณฑ์เข้าไปอัญเชิญพระโพธิสัตว์ไปครองเมืองมาตุลนคร ครั้นพระโพธิสัตว์รับคำอัญเชิญแล้ว เสนาผู้ใหญ่ดังกล่าวก็นำเครื่องราชสักการะไปทูลเชิญนางทั้งสี่ไปเป็นแม่เมืองอีกด้วย จากนั้นก็มีพิธีราชอุสสาภิเษกแก่พระโพธิสัตว์และนางทั้งสี่ พร้อมทั้งเฉลิมนามใหม่แก่ชายทุคคตะโพธิสัตว์ว่า “ท้าวสุพรหมโมกขเอกมหาราช” โดยมีนางจันทิมพรหมาเป็นเอกอัครมเหสี
พระโพธิสัตว์ได้ปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม นำความเจริญและร่มเย็นสู่บ้านเมืองเป็นที่ยิ่งเพียงแต่พระเทวีทั้งสี่ไม่มีราชบุตรหรือพระธิดาเลย จึงรับเอานางจันทเทวีมเหสีเทวีของท้าวพรหมทัตต์มาเป็นนางเทวีอีกนางหนึ่ง ต่อมาไม่นานมเหสีเทวีองค์ที่ห้านี้ก็มีราชโอรส ให้ชื่อว่า “พรหมวัตติกุมาร” โดยมีนางจันทิมพรหมาเป็นผู้เลี้ยงดู ครั้นกุมารนั้นอายุได้สิบห้าปีแล้วก็ประสงค์ จะให้ไปครองเมืองอุทุมพันธุนครซึ่งเคยอุปการะนางจันทิมพรหมาในกาลก่อน จึงจัดอามาตย์เก่าของเมืองนั้นหกนายขึ้นยนตหงส์ไปดูลู่ทางเสียก่อน เมื่ออามาตย์ทั้งหกกลับไปทูลว่าเมืองดังกล่าวสูญหายไปแล้ว ในบริเวณที่เคยเป็นเมืองไม่มีผู้คน ไม่มีบ้านเรือน คงมีแต่ต้นไม้ใหญ่แล้วยังเต็มไปด้วยนกและเนื้อนานาพรรณ สุพรหมโมกขเอกมหาราชคิดว่าบริเวณเมืองเก่านั้นเป็นทำเลดี และหากสร้างเมืองใหม่ในแหล่งนั้นก็จะเป็นมงคล จึงให้ประกาศหาผู้ที่จะไปตั้งเมืองใหม่แล้วจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และ ยนตหงส์ห้าพันตัวยกไปทางอากาศ เมื่อคนเหล่านั้นได้สร้างบ้านเรือนปราสาทราชวังพร้อมแล้วพระโพธิสัตว์และอัครมเหสีก็ไปตรวจดู เมื่อเห็นว่าเรียบร้อยดีแล้ว ก็ให้พระโอรสชื่อ สุพรหมกิตติกุมารไปเป็นกษัตริย์ ซึ่งเมืองดังกล่าวก็เจริญขึ้นเรื่อยมา หลังจากนั้นพระโพธิสัตว์ก็ให้สร้างถนนเชื่อมระหว่างเมืองทั้งสอง โดยมีนางจันทิมสุภาคาจัดกำลังจากเมืองยักษ์มาช่วยสร้างถนน ส่วนห้วงน้ำใหญ่ทั้งเก้าที่พระโพธิสัตว์เคยเกาะหางหมาพาว่ายข้ามนั้น พระอินทร์ก็ให้พระวิสสุกัมม์ไปเนรมิตสะพานให้ ตั้งแต่นั้นมา ชาวเมืองทั้งสองก็ไปมาค้าขายติดต่อกันมิได้ขาด ต่อนั้นมา นางจันทิมกุฏฐีธิดาพญามดง่ามได้เป็นชู้กับคนเกี่ยวหญ้าเลี้ยงม้าในวังหลวง แล้วก็เกิดการนินทาขึ้นทั่วไป ทำให้พระโพธิสัตว์เกิดเบื่อหน่ายจึงฝากเมืองไว้กับพระอัครมเหสีและอามาตย์แล้วเลือกอามาตย์สี่นายชื่อ “มหาพลัง” เพราะมีกำลังเท่าช้างเจ็ดเชือก ชื่อ “วัฑฒกี” ผู้เป็นช่างไม้ชื่อ “สุกธนา” ซึ่งเป็นช่างทองและแก้วมณี กับผู้เก่งด้านการคำนวณและรู้อรรถคดีซึ่งไม่ปรากฏชื่ออีกหนึ่งนาย มีสมบัติติดตัวไปเพียงย่ามที่บรรจุเสื้อผ้าสำหรับผลัดเปลี่ยนสองชุด ผ้าห่มหนึ่งผืน มีดคนละเล่มและกล้องยาเส้นคนละอัน เพื่อเดินทางเที่ยวไปในที่ต่างๆ ในระหว่างนั้นให้เรียกพระองค์ ว่า “พี่” โดยเหล่าอามาตย์นั้นเป็น “น้อง”
จุดแรกที่คณะเดินทางไปแวะก็คือเมื่อเห็นแม่เฒ่าผู้หนึ่งผ่าฟืน ก็ให้อามาตย์ “มหาพลัง” ไปช่วยผ่าฟืนไว้เป็นอันมากโดยแม่เฒ่าและลูกหลานก็ได้เลี้ยงอาหารอย่างอิ่มหนำ จากนั้นก็ไปถึงและ พักอยู่ที่ศาลานอกเมืองคันธรัฏฐนคร ซึ่งขณะนั้นได้มีประกาศหาช่างไม้ไปสร้างปราสาทให้แก่พระราชาแทนหลังเดิมซึ่งทรุดโทรมลง พระโพธิสัตว์จึงให้อามาตย์ชื่อวัฑฒกีไปช่วยควบคุมการสร้างจนได้ปราสาทเจ็ดชั้นอันงามวิจิตรสำเร็จลงภายในเวลาหนึ่งเดือน จากเมืองดังกล่าว ก็เดินทางไปอีกเจ็ดวันจึงไปพักอยู่ที่ศาลาใกล้ประตูเมืองทันตปุรนคร ซึ่งขณะนั้นพระราชามีประกาศว่าจะรับบุคคลที่สามารถชั่งช้างหนึ่งร้อยเชือกได้เป็นราชบุตรเขย บุคคลทั้งห้าก็ไปอาสาและว่าสามารถชั่งช้างแม้จำนวนพันตัวได้ทุกคน จากนั้นก็ให้หาถุงใส่ทรายถุงละหนึ่งร้อยชั่งไว้เป็นจำนวนมากแล้วหาเรือใหญ่ที่แข็งแรงไว้หนึ่งลำ และให้บรรทุกช้างครั้งละกลุ่มไปลงเรือใหญ่ในที่น้ำนิ่งและลึก แล้วใช้สีหมายระดับน้ำไว้ เมื่อเอาช้างออกจากเรือแล้วก็บรรจุถุงทรายลงแทนจนเรือลดระดับลงได้ระยะเท่ากับที่หมายไว้ ทำดังกล่าวไปเรื่อย ๆ จนเมื่อชั่งช้างหมดแล้วจึงรวมจำนวนถุงทรายดูก็ได้น้ำหนักช้างทั้งหมด เมื่อเสร็จการแล้วพระราชาก็ยกพระธิดาชื่อวรกิตติการาชกัญญาให้แก่ผู้เป็นหัวหน้าของกลุ่มคนทั้งห้าซึ่งก็คือพระโพธิสัตว์ และหลังจากที่ได้ครองเมืองนั้นได้เดือนหนึ่งแล้วก็ขออนุญาตลาไปเดินทางท่องเที่ยวต่อไป บุคคลกลุ่มนั้นเดินทางไปเป็นเวลาเจ็ดวันก็ไปพักอยู่ที่ศาลาใกล้ประตูเมืองด้านใต้ของเมืองคันธิยรัฏฐนคร ได้พบว่าช่างทองและแก้วมณีของเมืองนั้นไม่อาจจัดการกับดวงแก้วประจำเมืองที่แตกอยู่ได้ จึงให้อามาตย์ผู้ฉลาดในเชิงช่างของพระองค์บดแก้วนั้นแล้วหล่อขึ้นใหม่และหุ้มทองใหม่งามเจิดจรัสเป็นที่ถูกพระทัย จากนั้นจึงเดินทางต่อไปถึงเมืองเกตุมดี ในเมืองเกตุมดีนั้น มีครอบครัวหนึ่งซึ่งมีบุตรชายเจ็ดคนซึ่งแต่งงานมีลูกมีเมียไปหมดแล้ว เหลือแต่บิดาซึ่งตอนหลังเกิดเบื่อหน่ายที่จะอยู่ร่วมกับคนหมู่มากจึงไปบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าลึก ต่อมาได้ชักชวนลูกชายคนสุดท้องให้พาลูกเมียไปปลูกกระท่อมอยู่ใกล้อาศรมและปรนนิบัติฤาษีผู้เป็นบิดา เมื่อฤาษีบิดาจะตายเพราะโรคชรานั้นก็สั่งลูกว่า หากจะทำสิ่งใดแล้ว ก็ให้อดทนให้ได้ครบเก้าครั้งเสียก่อนจึงจะมีความรุ่งเรืองในชีวิต เมื่อเผาศพพ่อที่ระหว่างต้นรังที่หัวดอยตามคำสั่งแล้ว ผู้บุตรก็ปลูกพืชผลอยู่ในที่เดิมสืบมา ฝ่ายพ่อเมื่อไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์แล้วเห็นว่าลูกยังลำบากอยู่ จึงแปลงกายเป็นชายแก่เข้าไปหาในเวลาค่ำเพื่อขอพักค้างคืน ซึ่งชายผู้บุตรกับลูกเมียก็ต้อนรับแล้วให้ไปพักอยู่ที่อาศรมเดิม เมื่อหลังอาหารแล้วชายแปลงก็แสร้งทำเป็นปวดเนื้อเมื่อยตัว ขอให้ภรรยาของชายนั้นไปนวดให้ และแสร้งทำให้อาศรมสั่นเหมือนมีการร่วมเพศ ชายผู้สามีได้ยิน ก็โมโหจึงคว้าดาบจะไปฟันให้ตายทั้งคู่ แต่ก็อดใจไว้ถึงเก้าครั้งตามคำสอนแล้วหลับไป เมื่อผู้ผัวไปปลุกในตอนเช้าเพื่อให้ไปร่วมกินอาหารก็พบว่าภายใต้ผ้าห่มนั้นมีแท่งทองเท่าตัวคนอยู่แทนที่ จึงเรียกเมียไปช่วยกันตัดแล้วหามไปเก็บไว้ ครั้งนั้นบังเอิญมีคนจากหมู่บ้านเดิมแวะไปเยี่ยมและเห็นทั้งคู่กำลังตัดทองอยู่ ทั้งสองจึงต้องเล่าความจริงและข่าวนั้นก็ไปถึงพระราชาในที่สุด ซึ่งพระราชาก็ให้เรียกชายทุคคตะไปพบและให้ส่งทองเข้าท้องพระคลังครึ่งหนึ่งชายทุคคตะผู้บุตรนึกเสียดายทองจึงร้องไห้ผ่านไปทางศาลาที่คณะของพระโพธิสัตว์พักอยู่ เมื่อพระโพธิสัตว์เรียกเข้าไปสอบถาม ได้ความ แล้วก็พาตัวชายนั้นกลับไปเฝ้าและได้สนทนาแล้วเทศนาโปรดพระราชาด้วยหัวข้อธรรมชื่อทศพิธราช ธรรม เป็นต้น ด้วยอำนาจบุญบารมีของพระโพธิสัตว์ทำให้พระราชาโน้มน้อมเข้าสู่กุศล และยังได้ขอให้สอนอรรถธรรมแก่บรรดาท้าวพญาในเมืองนั้นอีกด้วย
ฝ่ายเมืองมาตุลนคร ซึ่งพระราชาสุพรหมโมกขะและอามาตย์ทั้งสี่จากไปนับเป็นเวลาเกือบปีแล้วก็ได้แต่เกิดความกังวลในคณะพระเทวีและอามาตย์ราชปุโรหิต ในที่สุดก็ประชุมกันและให้พราหมณ์หนุ่มผู้ฉลาดในไตรเพทสามนายและอามาตย์อีกเจ็ดคนออกติดตามไป บุคคลทั้งสิบสอง ปลอมตัวเป็นพ่อค้าเดินทางแกะรอยไปเรื่อย ๆ จนถึงเมืองเกตุมดีนคร และได้พบพระราชาของตนกับอามาตย์ทั้งสี่ในบ้านที่พระราชาจัดไว้รับรอง พระโพธิสัตว์ก็ได้สอบถามความเป็นไปของเมืองซึ่งกลุ่มผู้ตามมา ก็ทูลตอบโดยละเอียดและในที่สุดสุพรหมโมกขราชาก็ว่าจะกลับเมืองมาตุลนครในเวลาไม่นานนัก ฝ่ายชาวเมืองสังเกตเห็นว่ามีพ่อค้าสิบสองคนขึ้นสู่ลงหากับบุคคลพิเศษของพระ ราชาอยู่ก็นำความเข้าไปทูล พระราชาจึงให้เรียกพ่อค้าปลอมทั้งสิบสองคนเข้าเฝ้าแล้วซักถาม ซึ่งกลุ่มพ่อค้าปลอมก็ทูลว่าบุคคลทั้งห้านั้นคือพระราชากับผู้ติดตามของพวกตน ดังนั้นพระราชาเมืองเกตุมดีนครจึงให้จัดเครื่องราชสักการะไปทูลเชิญพระราชาสุพรหมโมกขะไปสู่ปราสาท แล้วถวายพระธิดาและเชิญให้ครองเมือง แต่พระโพธิสัตว์ก็เสวยสุขอยู่ในเมืองใหม่นั้นเพียงสิบห้าวัน แล้วจึงพาพระเทวีเข้าทูลลาเพื่อคืนสู่มาตุลนคร ขบวนเดินทางของพระโพธิสัตว์จากเกตุมดีนครก็มุ่งไปสู่ทันตปุระ เมื่อพญาทันตปุระทราบว่าราชบุตรเขยของพระองค์เสด็จมาก็นำขบวนไปต้อนรับ และให้พักอยู่ที่ปราสาทกับราชธิดาคือ วรกิตติการาชกัญญา เมื่อพักอยู่ในทันตปุระได้เจ็ดวัน สุพรหมโมกขราชาก็ชวนนางวรกิตติกา ราชกัญญาไปทูลลาพญาทันตปุระเพื่อคืนเมืองเดิมของตน และให้ทัพจากเกตุมดีนครกลับเมืองเสีย เพียงแต่ให้พระเทวีองค์ที่เจ็ดคัดเอานางกำนัลตามไปด้วยเพียงสองคนเท่านั้น จากนั้นขบวนเดินทางก็ดำเนินไปสู่เมืองคันธรัฏฐนคร ซึ่งอามาตย์ของพระโพธิสัตว์เคยได้ช่วยสร้างปราสาทถวายในครั้งก่อน เมื่อพระราชาทราบว่าหัวหน้าขบวนนั้นเป็นกษัตริย์แห่งมาตุลนครแล้ว พระองค์จึงให้จัดขบวนเครื่องราชอิสริยยศกกุธภัณฑ์ไปเชิญเสด็จเข้าสู่เมืองและให้พักอยู่ในปราสาท ส่วนผู้ติดตามก็จัดให้พักอยู่ที่ค่ายนอกเมือง เมื่อพักอยู่ในเมืองดังกล่าวได้สิบห้าวันแล้ว สุพรหมโมกขราชาก็ชวนพระเทวีทั้งสองไปลาพญาสุคันธรัฏฐะเพื่อกลับเมือง แม้พญาคันธรัฏฐะจะถวายช้างม้าวัวควายทาสหญิงทาสชายอย่างละร้อยก็ตาม แต่พระโพธิสัตว์ก็ถวายคืนโดยขอเพียงช้างห้าเชือกไปเป็นพาหนะในการเดินทางเท่านั้น แล้วพระองค์พร้อมกับพระเทวีก็ประทับบนหลังช้างเชือกหนึ่ง และอีกสี่เชือกมอบให้เป็นพาหนะแก่อามาตย์ราชบริพาร
เมื่อเดินทางถึงสิบห้าวันแล้วขบวนของพระโพธิสัตว์ก็ไปตั้งอยู่ที่นอกเมืองมาตุลนคร
ฝ่ายนางจันทิมพรหมาและพระเทวีองค์อื่น ๆ พร้อมทั้งเสนาอามาตย์ราชมนตรีไพร่ฟ้าประชาชนก็ชวนกันจัดขบวนออกไปรับพระโพธิสัตว์เข้าเมือง เมื่อเข้าสู่เมืองแล้ว สุพรหมโมกขราชาก็สั่งสอนเสนาประชาราษฎร์ให้ดำรงอยู่ในธรรมและจัดบ้านเมืองให้สงบสุข จากนั้นเมื่อพระโพธิสัตว์ก็ปรารภกับนางจันทิมพรหมาเพื่อจะให้รางวัลแก่ทหารจากคันธรัฏฐนครที่ไปส่งเสด็จถึงเมือง นางก็ว่าแก้วมณีโชติซึ่งอยู่ในไข่พรางหรือไข่ฟ้าของนางนั้น พระอินทร์ก็ได้นำคืนไปแล้ว ดังนั้น พอตกกลางคืนพระโพธิสัตว์และพระเทวีก็อธิษฐานขอให้ “ฝนห่าแก้ว” หรือฝนโบกขรพรรษหรือตกลงมา พระอินทร์จึงบันดาลให้แก้วเจ็ดประการตกจากฟ้า ให้ทุกคนโดยเฉพาะไพร่พลที่มาส่งเสด็จเก็บเอาตามประสงค์พร้อมนั้นก็ให้มีต้นกัลปพฤกษ์เกิดขึ้นทั้งสี่มุมเมืองมาตุลนครอีกด้วย
เมื่อเสนาจากเมืองต่าง ๆ ที่มาส่งเสด็จกลับคืนเมืองของตนแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ได้ประชุมเสนาบดีและปรึกษาความที่พระธิดาพญามดง่ามคบชู้ ในที่สุดก็ปลดให้นางเป็นสามัญชน แล้วสร้างบ้านให้นางอยู่กับคนเลี้ยงม้าที่นอกเมืองพร้อมกับมีบริวารและค่าใช้จ่ายให้จำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้งสองก็อยู่ด้วยกันจนสิ้นอายุ ส่วนพระองค์และพระเทวีอื่นก็ได้ช่วยกันปกบ้านครองเมืองต่อไป ครั้นมีพระชนม์มากแล้ว ก็โปรดให้พระโอรสคือพรหมวัตติกุมารครองเมืองมาตุลนครแทน ควบคู่ไปกับเมือง อุทุมพันธุมตินคร ส่วนพระองค์และพระเทวีก็สมาทานศีลเจริญภาวนาไปจนตราบอายุขัยสุดสิ้น
ง. สรุป
ในท้ายเรื่องก็มีประชุมชาดก หรือสโมธานว่า พราหมณ์ผู้บิดาของสุพรหมโมกขะโพธิสัตว์คือพระเจ้าสุทโธทนะ, นางพราหมณีมารดาของของพระโพธิสัตว์คือพระนางสิริมหามายา, พญาแห่งมาตุลนครซึ่งตกจากคอช้างดิ่งลงสู่นรกคือเทวทัต, นางจันทิมกุฏฐิกาธิดาพญามดง่ามคือนางกิญจมานวิกา, พญาแมงวันที่ไปขอกินซากหมาเก้าหางคือฉันนอามาตย์, พระฤาษีที่ให้พรานป่าไปส่งพระโพธิสัตว์ถึงเมืองอุทุมพันธุมตินครคือพระสารีบุตร, พรานป่าที่ไปส่งเสด็จดังกล่าวคือสังคัตติเถร พญาอุทุมพันธุมตินครคือพระอนุรุทธเถร, อำมาตย์ทั้งสี่ที่ตามเสด็จคือมหาโมคคัลลาน, มหากัสสปะ, มหากัจจายนะ, พระกาฬุทายีเถร, พญาเกตุมตินครคือมหาสิวลีเถร, พญาทันตปุระคือพระอุบาลีเถร, พญาคันธรัฏฐะคือพระกัปปินเถระ, พญานาคคือพระปิณโฑภารเถร, พญายักษ์คืออุปปนเถร, พญามดง่ามคือพระจันทกิรเถร, วรกิตติกาเทวีคือนางสุธัมมา, จันทิมกิตติกาธิดาพญานาค คือนางจันทสุจิตตา, นางจันทิมสุภาคาเทวีคือนางอุรุทา, นางจันทเทวีมารดาของพรหมวัตติกุมารคืออุปลวัณณาเถรี, พรหมวัตติกุมารคือพระราหุล, จันทิมพรหมาอัครมเหสีคือนางยโสธราพิมพา และสุพรหมโมกขราชาครั้งนั้นคือพระตถาคต ส่วนคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องคือบริษัททั้งสี่ในชาติปัจจุบัน
(...มารไม่มี บารมีไม่เกิด ประเสริฐไม่ได้...)
…………………………………………………
ขอขอบคุณ :
คุณอุดม รุ่งเรืองศร ผู้เรียบเรียง “การรับรู้แบบล้านนาต่อวรรณกรรมชาดกนอกนิบาต”
ศิษย์ตถาคต
๑๔ มีนาคม ๒๕๕๕